เส้นทางท่องเที่ยว ::หันหน้าแลหลัง ย่านเมืองเก่าแม่จัน


1. เหมืองฮ่อ

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

เหมืองฮ่อที่ไหลผ่านตัวเมืองแม่จัน ตั้งอยู่ขนานกับถนนไชยบุรี ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน ไปจรดกับถนนพหลโยธินบริเวณแยกเหมืองฮ่อ เป็นหนึ่งในระบบเหมืองฝายที่สำคัญของเมืองแม่จัน เป็นลำเหมืองที่ไม่ทราบประวัติการขุดที่แน่ชัด จากการบอกเล่าในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมี 2 สำนวน ดังนี้ สำนวนที่1 เล่าสืบมาว่า ชาวจีนยูนานหรือฮ่อ เป็นผู้ขุดระบบชลประทานดังกล่าว และสำนวนที่2 เล่าว่า ชาวจีนยูนานหรือฮ่อ เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ๆกับลำเหมืองจึงเรียกชื่อลำเหมืองว่า เหมืองฮ่อสืบมา(ฉิง บุญธรรม,สัมภาษณ์) เหมืองฮ่อ เป็นลำเหมืองที่ผันน้ำจากแม่น้ำจัน บริเวณบ้านผาตั้ง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำจันเข้าสู่เหมือง ไหลเลียบมาตามภูเขา ผ่านเข้าสู่เขตเทศบาลแม่จัน ในเขตบ้านร้องผักหนาม มาบรรจบกับลำเหมืองห้วยปู ซึ่งมีต้นน้ำไหลลงมาจากดอยจรเข้ โดยมีฝายห้วยปู ที่ตั้งอยู่บ้านแม่เฟือง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน เป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดเล็กเพื่อผันน้ำลงสู่ลำเหมืองห้วยปู ไหลมาบรรจบกับ เหมืองฮ่อ ที่บ้านร้องผักหนาม เรียกลำเหมืองสองสายที่รวมกันว่า “เหมืองฮ่อ” หลังจากนั้นจึงไหลเข้าสู่ตัวเมืองแม่จัน ทอดยาวตลอดแนวถนนไชยบุรี ในตัวเมืองแม่จัน ความยาว 1.54 กิโลเมตร หลังจากนั้นมีการขุด ลำเหมืองให้ไหลรอดใต้ถนน ถนนพหลโยธิน บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านเหมืองฮ่อ เพื่อน้ำเข้าสู่ พื้นที่เกษตร โดยมี “แต ” แตที่1 ซึ่งเป็นผายน้ำล้นแรกที่ตั้งอยู่ในเขตภาคการเกษตร เหมืองฮ่อจะมีการสร้าง “แต” ไว้เพื่อช่วยชะลอให้น้ำไหลสู่ภาคเกษตรช้าลงง่ายต่อการบริหารจัดการการใช้น้ำ จำนวน 11 แต เหมืองไหลผ่าน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเด่นป่าสัก บ้านศาลา บ้านดง และ บ้านแหลว ในเขตรอยต่อระหว่าง ชุมชนบ้านศาลา หมู่8 กับชุมชนบ้านแหลว จะมีอีกลำเหมืองหนึ่ง คือ “เหมืองดุก” ซึ่งมีต้นน้ำบริเวณ ดอยป่าสัก ในเขตกิ่วทัพยั้ง ไหลมาบรรจบกับเหมืองฮ่อ เรียก ลำเหมือง 2 สายที่รวมกันว่า “เหมืองแหลว” ตามชื่อของพื้นที่ ที่2 ลำเหมืองไหลมาบรรจบกัน หลังจากนั้น ลำเหมืองแหลว จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำจัน ในบริเวณใกล้ๆกับวัดพระธาตุจอมจันทร์ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เรียกบริเวณที่เหมืองแหลวง มาบรรจบกับน้ำจันว่า “สบแหลว” เหมืองฮ่อ และลำเหมืองสาขา มีเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากเหมือง ประมาณ 60 ราย การชักลอกน้ำจากเหมือง สู่ที่นา ชาวบ้านจะสร้าง “ต๊าง” หรือประตูน้ำขนาดเล็กในการชักลอกน้ำเข้าสู่ที่นาของตนเอง มีการสร้างเหมืองสำหรับระบายน้ำที่เหลือจากการใช้งาน น้ำเสียจากการทำนา เรียก “น้ำหางนา” เพื่อระบายน้ำไปเก็บรวมกันในพื้นที่ลุ่มกลายเป็นแอ่งขนาดเล็กเรียก “โทก” ไว้เป็นน้ำสำรองในกรณีที่เหมืองแห้งชาวบ้านก็จะเปิดฝายที่กั้นน้ำจากโทก ลงสู่เหมืองเพื่อใช้ในการทำนา

2. ตลาดเทศบาลแม่จัน

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ตลาดเทศบาลแม่จัน ตั้งอยู่บนถนนสิงหนวัติ เปิดในช่วงเช้า เวลาประมาณ 03.00 - 10.00 น. ลักษณะทางกายภาพของตลาดธิดาพรจะมีลักษณะเป็นตลาดเป็นโถงโล่ง มีพื้นที่ที่เป็นแผงในอาคารและเป็นที่ลานกลางแจ้ง สินค้าที่จำหน่ายในตลาดจะประกอบไปด้วย ผัก ผลไม้และเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร นอกจากนั้นยังจำหน่ายอาหารที่ปรุงสุกสำเร็จพร้อมรับประทาน

3. ร้านกาแฟลุงพัฒน์ (กาแฟแม่จัน)

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ร้านกาแฟแม่จันหรือร้านกาแฟลุงพัฒน์ เป็นร้านกาแฟที่ก่อตั้งโดยนายพัฒน์ เยาว์ธานี ซึ่งเป็นบุตรชายของนายปั๋น เยาว์ธานี พ่อค้ารถคอกหมูค้า (รถโดยสารมีตัวถังบริเวณห้องโดยสารสร้างด้วยไม้ ชาวบ้านเรียก รถคอกหมู ) ขนส่งสินค้าค้าขายกับชายแดนประเทศพม่า ภายหลังนายพัฒน์ เยาว์ธานี สมรสกับนางชื่นชุบ เอี่ยมเกษม มีภูมิลำเนาเป็นชาว อุตรดิตถ์ ภายหลังได้ย้ายมาอาศัยกับคุณตา ชื่อนายสุขเกษม เอี่ยมเกษม ซึ่งเป็นหัวหน้าแขวงการทางเชียงรายในยุคนั้น และเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งแรกของแม่จันชื่อว่า “โรงแรมสุขเกษม” ภายหลังการสมรสนายพัฒน์ เยาว์ธานี และนางชุบ เยาว์เริ่มทำร้านกาแฟในปี พ.ศ. 2518 โดยได้รับทอดกิจการต่อจากนายสุใจ ชุ่มไชยา ซึ่งเปิดร้านกาแฟแห่งแรกของอำเภอแม่จันในยุคนั้นบริเวณตลาดสดเทศบาลแม่จัน โดยนางชื่นชุบผู้เป็นภรรยา ได้เปิดขายข้าวแกงควบคู่กับร้านกาแฟของสามี โดยร้านกาแฟของนายพัฒน์ถือเป็นศูนย์รวมของข้าราชการ คหบดีชาวแม่จันในยุคนั้นในการมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและนำไปสู่การเกิด “ชมรมรวมน้ำใจ”ซึ่งประกอบกิจกรรมสาธารณะต่างๆของแม่จัน ภายหลังในปี พ.ศ. 2536 นายพัฒน์มีอายุที่มากขึ้น จึงได้เลิกกิจการทำร้านกาแฟ แต่นางชื่นชุบยังคงเปิดร้านข้าวแกงและขนมอยู่ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2555 นายสามารถ เยาน์ธานี บุตรชายเห็นถึงความสำคัญของอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าและมุ่งที่จะอนุรักษ์อาคารให้อยู่คู่ท้องถิ่นจึง ได้เริ่มทำกิจการกาแฟใหม่ โดยเริ่มแรกได้ใช้กาแฟในโครงการตามพระราชดำริ บ้านเล็กในป่าใหญ่ จากชุมชนบ้านหนองห้า จังหวัดพะเยา มาใช้ในการชง ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้กาแฟเชียงราย ร้านกาแฟแม่จัน จึงถือเป็นแหล่งทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของย่านเมืองเก่าแม่จัน และยังคงอนุกรักษ์อาคารไม้โบราณที่ทรงคุณค่าในเขตเมืองงเก่าแม่จันให้เห็นเป็นร่องร่อยของความทรงจำของผู้คนในฐานะร้านกาแฟแห่งแรกของอำเภอแม่จัน

4. ตลาดธิดาพร

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ตลาดธิดาพรตั้งอยู่บนถนนไชยบุรี เป็นตลาดในช่วงเย็นที่คึกคักมากที่สุดในเขตย่านเมืองเก่าแม่จัน ในอดีตบริเวณที่ตั้งของตลาดธิดาพรเป็นห้องแถว โดยบริเวณด้านหลังเป็นสวนมะพร้าว ต่อมาห้องแถวเริ่มทรุดโทรม นางสงวน เยาน์ธานี จึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาที่ดินให้เป็นตลาด ปัจจุบันสืบทอดกิจกรรมเป็นรุ่นที่2 โยมีนางศิริพร เยาน์ธานี เป็นผู้สืบทอด ที่มาของชื่อตลาดธิดาพรมาจาก การสมาสคำสองคำ คือคำว่า ธิดา หมายถึง ลูกสาว และ พร ซึ่งมีที่มาจากชื่อเจ้าของตลาดในปัจจุบัน ตลาดธิดาพรจะเริ่มเปิดในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. ลักษณะทางกายภาพของตลาดธิดาพรจะมีลักษณะเป็นตลาดเป็นโถงโล่ง มีพื้นที่ที่เป็นแผงในอาคารและเป็นที่ลานกลางแจ้ง สินค้าที่จำหน่ายในตลาดจะประกอบไปด้วย ผัก ผลไม้และเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร นอกจากนั้นยังจำหน่ายอาหารที่ปรุงสุกสำเร็จพร้อมรับประทาน โดยร้านค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่นิยมของชาวบ้านมีอยู่หลายร้าน เช่น ร้านขนมหวานป้าส่วยอิ่ง ร้านป้าแอร์หมี่ผัด เป็นต้น ในช่วงเทศกาลสำคัญตลาดธิดาพรยังเป็นจุดจำหน่ายของที่นิยมนำไปประกอบในเทศกาลด้วย เช่น ในช่วงเทศกาลออกพรรษานิยมจำหน่ายกรวยดอกไม้ (สวยดอก) สำหรับไปวัด ในเทศกาลยี่เป็งนิยมจำหน่ายผางประทีป เป็นต้น

5. ย่านกองเย้า

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ย่านกองเย้า ตั้งอยู่บริเวณถนนลานนา จุดกำเนิดของชื่อย่านเริ่มจากในปี พ.ศ. 2480 มีการยกฐานะให้กิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง เป็นกิ่งอำเภอเชียงแสน ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเชียงแสนเป็น อำเภอแม่จัน เพื่อให้สอดคลองกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำจัน หลังจากนั้น1ปีถัดมาในปี พ.ศ.2481 มีการแยกตำบลแม่สายและตำบลโป่งผาจากอำเภอ แม่จัน เพื่อตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่สาย และยกฐานะเป็น อำเภอแม่สายในปีพ.ศ. 2493 (อภิชิต ศิริชัย 2559, น.211) ในระหว่างช่วงนี้มีการอพยพของกลุ่มชาวเมี่ยน เดิมมีถิ่นกำเนิดในประเทศจันภายหลัง อพยพหนีการถูกรบกวนเข้ามาอยู่บริเวณที่สูงในเขตชายแดนประเทศพม่า ภายหลังบางส่วนอพยพเข้ามาอาศัยบริเวณที่สูงในเขตอำเภอแม่จัน(บุญช่วย ศรีสวัสดิ์,2552,น.297) บางส่วนอพยพลงมาอาศัยในตัวเมือง แม่จัน บริเวณถนนลานนา ใกล้กับตลาดเช้าอำเภอแม่จัน ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “กองเย้า” (สมจิตร บุญธรรม, สัมภาษณ์) นามสกุลที่สำคัญของกลุ่มชาวเมี่ยน ได้แก่ ศรีโลฟุ้ง ศรีโลเจียว โดยมีบุคคลที่เกิดในย่านนี้และมีชื่อเสียงในระยะต่อมาคือ วาสิฐฐี ศรีโลฟุ้ง (อนันต์ ปันปิน, สัมภาษณ์) ภายหลังในปี พ.ศ.2519 กลุ่มชาวเมี่ยนได้รับที่เดินจัดสรรทำกินจากจากรัฐบาลในยุคนั้น ให้ไปอยู่บริเวณอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ส่งผลให้ชาวเมียนที่เคยอาศัยในตัวเมืองแม่จันค่อยๆอพยพไปหาที่ทำกินใหม่ ในปัจจุบันไม่หลงเหลือหลักฐานของการเป็นย่านชุมชนของชาวเมี่ยนในตัวเมืองแม่จันหลงเหลืออยู่ จะปรากฏเพียงชื่อย่านที่ ชาวแม่จันเรีกยกันสืบมาว่า ย่านกองเย้า จนถึงปัจจุบัน

6. โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์)

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

โรงเรียนบ้านแม่จัน (เชียงแสนประชานุสาสน์) ก่อตั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่6 ภายหลังการขึ้นบรมราชาภิเษก เพียงหนึ่งปีในปีพ.ศ.2454 มีการจัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น โดยการนำของพระแสนสิทธิเขตต์(พ.ศ.2454- พ.ศ.2466) เป็นนายแขวงเชียงแสนหลวง ร่วมกับชาวบ้าน โดยอาคารหลังแรกเป็นอาคารชั่วคราว ในพื้นที่ใกล้ๆกับที่ว่าการแขวงเชียงแสนหลวง ตั้งชื่อโรงเรียน เชียงแสนประชานุสาสน์ ในปัจจุบันโรงเรียนยังคงอนุรักษ์อาคารเรียนหลังเดิมของโรงเรียนไว้ ซึ่งเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ทรงปั้นหยา บริเวณเชิงชายของอาคารประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ (Ginger bread) อาคารหลังดังกล่าวจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราวของชาวแม่จันโดยมีอาคารเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

7. ที่ว่าการอำเภอแม่จัน

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ภายหลังการปฎิรูป รูปแบบการบริหารจัดการ ในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เพียงหนึ่งปี ในปี พ.ศ.2443 มีการย้ายที่ทำการแขวงเชียงแสน จากบริเวณบ้านแม่คี ลงมาทางใต้ทางฝั่งขวาของแม่น้ำจัน ตำบลเวียงกาสา ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน (ที่ว่าการอำเภอแม่จัน,มปป,น.18) ต่อมาในปีพ.ศ.2449 มีการรวมแขวงเชียงแสนหลวง(เชียงแสนเดิม) และ เชียงแสนน้อย(เชียงแสนใหม่) เพื่อเป็นแขวงเดียวกัน โดยใช้ชื่อว่า แขวงเชียงแสน(ราชกิจจานุเบกษา,2449:467) จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เมืองเชียงแสนหลวง(แม่จัน) กลายเป็นจุดศูนย์กลางในด้านการปกครองและมีฐานะเป็นศูนย์ราชการในยุคนั้น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสวยราชสมบัติ พ.ศ. 2468 กระทรวงมหาดไทย มีการตั้งกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ให้ขึ้นตรงต่อ อำเภอเชียงแสน(แม่จัน) (ประกาศราชกิจจานุเบกษา,หน้า 2159 เล่ม 42, ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2469) หลังจากนั้นหนึ่งปีถัดมา ในปี พ.ศ.2469 ทรงมีพระราชประสงค์เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อทอดพระเนตรบ้านเมือง และเสด็จเยี่ยมพวกนิกรในมณฑลพายัพ โดยการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2469 ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์พระที่นั่งจากเมืองเชียงราย ไปยังเมืองเชียงแสนใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงราย13 กิโลเมตร ตำบลนี้เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเชียงแสน(แม่จัน) จนกระทั้งในปี พ.ศ. 2475 ภายหลังคณะราษฏรได้จัดบริหารบ้านเมืองในการปกครองใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งในระดับราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาคที่มีการยกเลิกหน่วยการปกครองระดับมณฑลเทศาภิบาล มาเป็นการปกครองภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการจัดการภายในจังหวัดมีการยกฐานะให้กิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง เป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนในปี พ.ศ. 2480 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอเชียงแสนเป็น อำเภอแม่จัน (อภิชิต ศิริชัย 2559, น. 211) ดังนั้นที่ว่าการอำเภอแม่จันจึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีพัฒนามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ภายหลังจึงมีการย้ายศูนย์ราชการจากบริเวณบ้านแม่คี มายังตัวเมืองแม่จันในปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าที่ว่าการอำเภอแม่จันในอดีตเป็นศูนย์กลางที่สำคัญในการปกครองของพื้นที่เขตอำเภอเชียงแสน แม่สาย และดอบหลวงในปัจจุบัน นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่สำคัญในการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และนอกจากนั้นยังเคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2501 ในปัจจุบันภายในที่ว่าการอำเภอแม่จันยังมีการอนุรักษ์อาคารเก่าของที่ว่าการอำเภอแม่จัน ซึ่งเป็นอาคารไม้ 2 ชั้นทรงปั้นหยา บริเวณเชิงชายของอาคารประดับลวดลายไม้ฉลุ (Ginger bread) มีป้ายของที่ว่าการอำเภอเป็นหนึ่งในสิ่งที่ห้ามพลาดในการชมเนื่องจากเป็นป้ายที่เป็นผลงานของศิลปินทำป้ายที่มีชื่อเสียงในอำเภอแม่จัน และจังหวัดเชียงราย นั่นก็คือผลงานของ นายเดชา มารายง เจ้าของร้านเดชาศิลป์

8. วัดป่าบง

ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

การฟื้นเมืองเชียงแสนร้าง พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ส่งให้ เจ้าน้อยอินต๊ะ โอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าบุญมา(เจ้าผู้ครองเมืองลำพูนองค์ที่ 2 ) ขึ้นมาฟื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งในขณะนั้นมีกำลังคนไม่มาหนักในระยะแรกของการฟื้นเมืองเชียงแสน เกิดการต่อสู้กับการคุกครามจากเมืองเชียงตุง โดยกองกำลัง เชียงตุงนำกำลังมาขับไล่ขัดขวางการฟื้นเมืองของเจ้าอินต๊ะ ส่งผลให้เจ้าอินต๊ะต้องถอยผู้คนไปตั้งมั่นที่เมืองพาน (สรัสวดี อ๋องสกุล,2553,น.334)ต่อมา ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหลวงสุริยะ เจ้าเมืองเชียงราย(องค์ที่3) ส่งเจ้าอุปราชคำฝั้น เจ้าบุรีรัตนอินทยศ เจ้าไชยลังกา ไปช่วยขับไล่กองทัพเชียงตุงได้สำเร็จ และเกิดการฟื้นเมืองเชียงแสนขึ้นในระยะต่อมา (อภิชิต ศิริชัย,2560,น.2) ในปี พ.ศ. 2425 พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯได้รับพระราชทานนามเป็น พระยาราชเดชดำรงค์(เจ้าน้อยอินต๊ะ) (เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษสมุหนายกอัครมหาเสนาธิบดี,2425,น.90-92) ซึ่งมีเนื้อความในเอกสารมหาดไทย จ.ศ.1244 เรื่อง เมืองนครเชียงใหม่ตั้ง เจ้าเมือง นายน้อยอินตะเป็นพระยาราชเดชดำรงค์ พระยาไชยสงครามเป็นพระยาอุปราชเมืองเชียงแสน วัดป่าบงมีประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์ต่อการฟื้นฟูเมืองเชียงแสน ปรากฏหลักฐานว่า เจ้าน้อยอินต๊ะเป็นเจ้านายผู้สร้างวัดป่าบง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำในชุมชนป่าบงในปัจจุบัน ปรากฎหลักฐานการสร้างวัดป่าบง ในปี พ.ศ.2428 โดยมีเจ้าหลวงอินต๊ะเป็นผู้อุปถัมภ์ โดยมีพระครูบาเทพ ชาวเมืองน่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด (กรมการศาสนา ,2532,น.325)

9. ตลาดนวลจันทร์

ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ตลาดนวลจันทร์ หรือชาวบ้านเรียก กาดแลง เป็นตลาดขนาดใหญ่ของอำเภอแม่จันในปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของโรงแรมนวลจันทร์ ก่อตั้งโดยนายเดช ธรรมเดช (พ่อเลี้ยงนวล) ชาวไทลื้อ (ยอง) อพยพมาจากอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มาตั้งรกรากในเมืองแม่จัน โดยท่านได้ซื้อที่ดินต่อจากนายชัย เชื้อเจ็ดตน (กำนันตื่น) โดยเริ่มต้นสร้างฐานะของตนเองด้วยการทำอาชีพเป็นพ่อค้าขายเนื้อวัว ภายหลังเปลี่ยนมาทำสวนกะหล่ำปลี จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นจากอำเภอแม่จัน ด้วยอุปนิสัยทันสมัย มีหัวที่ก้าวหน้า นายเดช จึงใช้บ้านของตนเองที่เป็นอาคารไม้สองชั้น หันหน้าสู่ถนนหิรัญนคร แบ่งเป็นห้อง ๆ ให้เช่า ราคาวันละ 6 บาท (จำนง เล้าตระกูล, สัมภาษณ์) ต่อมาได้เห็นลู่ทางในการขยับขยายกิจการของครอบครัว จึงได้ถมแปลงปลูกกะหล่ำปลี ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของโรงแรมติดกับแม่น้ำจัน เปิดเป็นตลาดให้แม่ค้ามาขายของโดยใช้ไม้เก่าจากยุ้งฉางข้าวมาสร้างตลาด พื้นที่ด้านหน้าของตลาดเป็นลานกว้างไว้สำหรับจอดรถโดยสาร(รถน้อย) ส่งผลให้เกิดการย้ายจุดจอดรถจากจุดเดิมบริเวณหน้าวัดกาสา มาอยู่หน้าตลาด โดยมีรถโดยสาร สายแม่จัน-เชียงราย ,สายแม่จัน- เชียงแสน, สายแม่จัน-แม่อาย รอบๆท่ารถให้เช่าเป็นแผงลอยราคาเดือนละ 250 บาท จนกระทั่งในราวในปี 2513 มีการรื้อแผงลอยเพื่อพัฒนาเป็นอาคารพาณิชย์ ชาวบ้านเรียกตลาดนี้ว่า “กาดแลง” หรือ “กาดนวลจัน” ต่อมานายเดช ธรรมเดช (พ่อเลี้ยงนวล) เกิดแนวคิดสร้างสะพานเพื่อเชื่อมระหว่างชุมชนป่าตึง ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำจัน กับตลาดซึ่งอยู่ฝั่งเหนือของแม่น้ำจัน นายเดช ธรรมเดช สร้างสะพานด้วยไม้ตะเคียน ภายหลังจึงได้รื้อสะพานไม้และก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีต ซึ่งยังปราฏในปัจจุบัน (ฉิ่ง บุณธรรม, สัมภาษณ์) ในปัจจุบันลักษณะทางกายภาพในตลาดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแต่ยังคงเป็นที่ยังมีการจำหน่าวสินค้าพื้นเมือง สินค้าอุปโภค บริโภคที่สำคัญของชาวแม่จัน โดยจะคึกคักในช่วงสายของวันอาทิตย์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าโบสถ์คริสต์หลังจากประกอบศาสนพิธีจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอย (สิ่งที่ห้ามพลาดในการมาตลาดนวลจันทร์ คือ ร้านขายน้ำเวี้ยวภายในตลาด มี 4-5 เจ้าในราคาย่อมเยาจะได้สัมผัสกับบรรยากาศการเป็นท้องถิ่น

10. ย่านกองเงี้ยว

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ย่านกองเงี้ยวเป็นชื่อสามัญที่ชาวบ้านเรียก ตั้งอยู่บริเวณถนนหิรัญนคร จุดเริ่มต้นของย่านกองเงี้ยวเริ่มจากบริเวณ 4 แยกชุมชนตลาดแม่จัน (ร้านกรีนวิง) ไปจรดสะพานข้าวแม่น้ำจันที่เชื่อมระหว่างถนนหิรัญนครกับบ้านท่าต้นแฟน ตำบลป่าตึง มีความยาวประมาณ 500 เมตร คำว่า เงี้ยว เป็นคำพูดที่ชาวบ้านหมายถึง กลุ่มคนชาวไทใหญ่ ไทเขินและไทลื้อ จุดเริ่มของการกำเนิดชุมชนเริ่มมาจากปี พ.ศ.2488 หลังสงครามมหาเอเชียบรูพายุติลง รัฐบาลไทยปกครองสหรัฐไทยเดิมได้เพียง 3 ปี รัฐบาลไทยจึงส่งมอบเมืองเชียงตุงคืนให้กับอังกฤษ หลังจากนั้นเพียง 13 ปี ได้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศพม่า ด้วยเหตุที่รัฐบาลทหารพม่า ปฎิเสธสัญญาปางโหลง (นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,2549,น.19-20 อ้างในศิริพร ณ ถลาง 2559 ,น.24) ด้วยเหตุสถานการณ์ความวุ่นวายช่วงนี้ ส่งผลให้กลุ่มชาวไทใหญ่ ไทเขิน ไทยใหญ่ บางส่วนได้อพยพมาอาศัยใน ย่านตัวเมืองแม่จัน ชาวบ้านเรียกย่านที่ชาวไทใหญ่อาศัยเป็นชุมชนว่า “กองเงี้ยว” ย่านกองเงี้ยวตั้งอยู่ริมฝั่งขวาติดกับวัดกาสา ประชากรในย่านกองเงี้ยว ประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 กลุ่มชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บางส่วนมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ครอบครัวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น ครอบครัวนายส่างต๊ะ คำเฮือน อพยพมาจากบ้านยางละ หนองกล๋ม เมืองเชียงตุง เป็นชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) ต่อมานายส่างต๊ะ ประกอบอาชีพทำอาชีพ “แคปปอง” จากหนังควายจำหน่ายซึ่งมีชื่อเสียงในอำเภอแม่จัน ชาวแม่จันรู้จักกันในนาม “นายส่างต๊ะแคปปอง” (ส่วยอิ่ง คำเฮือง,สัมภาษณ์ ) ครอบครัวของนางคำ อ่องคำ ชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงตุง แต่งงานกับ นายลือ อ่องคำ ชาวไทใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเชียงใหม่ (ศรีนวล โนราช,สัมภาษณ์) เป็นต้น กลุ่มที่2 กลุ่มไตเขิน ถือว่าเป็นประชากรหลักอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตเมืองแม่จัน โดยประชากรกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตแม่จัน มีกลุ่มเจ้าฟ้าจากเมืองเชียงตุงอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง คือ เจ้าจุฬามณี เม็งราย หรือนายเสรี ทวีรัฐ ซึ่งเป็นราชนัดดาของ เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้านครเชียงตุง ภายหลังแต่งงานกับ นางจันทร์หอม เขมะวงศ์ ต่อมาย้ายมาอาศัยในเขตเมืองแม่จัน จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านเรียก ชื่อท่านว่า “เจ้าหนุ่ม” (เสรี ทวีรัฐ , สัมภาษณ์) กลุ่มที่3 กลุ่มชาวไทลื้อ อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีครอบครัวของนางคำ นางจอม และนางแดง สามพี่น้องอพยพมาพร้อมกับบิดามารดาด้วยการเดินเท้ามาทางด่านชายแดน เข้ามาอาศัยร่วมกับกลุ่มชาวไทยใหญ่ ในตัวเมืองแม่จัน ประกอบอาชีพ การทำน้ำเงี้ยวขาย โดยน้ำเงี้ยวเฉพาะในย่านกองเงี้ยว ใส่เนื้อสัตว์สามชนิด ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา ลงไปผัดกับน้ำพริกน้ำเงี้ยว และจะเคี่ยวมะเขือเทศแห้งจนเป็นแย้ม เพื่อช่วยให้น้ำข้มข้น มีรสชาดกลมกล่อมสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ถั่วเน่าแข็บที่นำไปปิ้งไฟจนหอมคลุกให้ละเอียด (มนัส ทันดร,สัมภาษณ์) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนินของนามสกุลไทยใหม่ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ในปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของย่านกองเงี้ยวในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสังคมเมือง ลูกหลานของกลุ่มประชากรในย่านกองเงี้ยวได้ค่อย ๆ เลิกกิจการการทำถั่วเน่าแคบ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนในอดีต จึงทำให้แทบจะไม่หลงเหลือสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นไทใหญ่ ไทเขินและไทลื้อในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ยังปรากฏให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือการเรียกชื่อบ้านนามเมืองว่า กองเงี้ยว

11. วัดกาสา

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

กลุ่มประชากรที่ขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูเมืองเชียงแสน ในยุคของเจ้าน้อยอินต๊ะ คือ กลุ่มชาวไทลื้อ(ยอง) จากเมืองลำพูนและชาวเชียงใหม่ ประมาณ 1,500 ครอบครัว ขึ้นมาฟื้นเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นเมืองร้าง กลุ่มที่อพยพมารุ่นแรกตั้งถิ่นฐาน ทำกินอยู่เรียงรายตามแม่น้ำจัน สันนิษฐานว่าพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของตัวเมือง แม่จันในปัจจุบัน น่าจะมีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งปรากฏเรื่องเล่าในท้องถิ่นสืบว่า ในคราวอพยพผู้คนเพื่อฟื้นเมืองเชียงแสน มีกลุ่มชาวเชียงใหม่อพยพมาด้วยในคราวนั้นได้นิมนต์ครูบาอินแก้ว อภิชโย ซึ่งมีภูมิลำเนาเป็นชาวบ้านแม่สา เมืองเชียงใหม่ ลงมาด้วย ในระยะแรกมีการสร้างเป็นอาวาสขนาดเล็ก ในบริเวณใกล้ๆริมแม่น้ำจัน ภายหลังในปีพ.ศ.2435 มีการย้ายสถานที่มาสร้างวัด ณ ที่แห่งใหม่ห่างจากจุดเดิม ประมาณ 2 กิโลเมตร ทางด้านทิศเหนือ ยกฐานะมาสร้างวัดกาสาขึ้นบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน (กรมการศาสนา,2532,น.350-351) ภายหลังการปฎิรูป รูปแบบการบริหารจัดการ ในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล เพียงหนึ่งปี ในปี พ.ศ.2443 มีการย้ายที่ทำการแขวงเชียงแสน จากบริเวณบ้านแม่คี ลงมาทางใต้ทางฝั่งขวาของแม่น้ำจัน ตำบลเวียงกาสา ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน (ที่ว่าการอำเภอแม่จัน,มปป,น.18) ภายหลังการปฎิรูปมณเทศาภิบาล รัฐบาลสยามรัฐบาลสยามเกิดการปฎิรูปรูปแบบการเก็บภาษีอากร เกิดการยกเลิกสิทธิพิเศษที่เจ้านายบุตรหลานเคยได้รับ เจ้านายค่อยๆหมดอำนาจในการคลังของท้องถิ่น เช่นการขาดรายได้จาก ส่งผลให้รัฐบาลสยามมีรายได้เข้าคลังเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นรัฐบาลสยามยังเก็บภาษา “เงินค่าราชการ” เป็นภาษีที่เสียแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ในอัตราปีละ 4 บาท จึงเกิดกระแสต่อต้านอำนาจรัฐมากขึ้นและนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ก่อจราจลโดยกลุ่มชาวไทใหญ่ในหัวเมืองสำคัญของภาคเหนือ ได้แก่ เมืองแพร่ พะเยา และเชียงราย ในปีพ.ศ.2446 (ร.ศ.112 ) เหตุจราจลในแขวงเชียงแสน และ แขวงเมืองเชียงราย เกิดเหตุจราจล ในระหว่างวันที่ 9-15 มีนาคม พ.ศ.2446 เหตุการณ์จราจลเงี้ยวบุกแขวงเชียงแสนหลวง ส่งผลให้เกิดการสกัดโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมือง มีการทำลายสถานที่ราชกาช ได้แก่ โรงพักตำรวจในแขวงเชียงแสน โดยการจลาจรในครั้งนั้นกลุ่มเงี้ยว (ไทใหญ่)ได้หนีไปหลบซ้อนจากการสกัดกั้นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในวิหารของวัดกาสา วัดกาสาจึงเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญทั้งในช่วงของการฟื้นฟูเมืองเชียงแสนและยังเป็นสถานที่ในการหลบภับของกลุ่มกลุ่มเงี้ยว (ไทใหญ่) ในเหตุการณ์ก่อจราจลโดยกลุ่มชาวไทใหญ่ในหัวเมืองสำคัญของภาคเหนือ ในช่วงหลังสงครามโลกคร้งที่ 2 บริเวณด้านหน้าวัดกาสายังเป็นจุดจอดรถสองแถวที่เดินทางระหว่างเชียงราย - แม่จัน แม่จัน - แม่สาย และเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำสาธารณะในตัวเมืองแม่จัน (ปัจจุบันบ่อน้ำตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศูนย์ปฎิบัติการสายตรวจแม่จัน ยังคงปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น) ในปัจจุบันวัดกาสา ถือได้ว่าเป็นแหล่งศูนย์กลางของชุมชนชาวแม่จัน ภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ภาพเก่าของอำเภอแม่จัน ที่จัดตั้งโดย นายประยูร สุวรรณรัตน์ ปราชญ์ชุมชนและอดีตสภาวัฒนธรรมอำเภอแม่จัน ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพในอดีตของอำเภอแม่จัน ภาพบุคคลสำคัญในอดีตและปัจจุบันของอำเถอแม่จัน ภาพเหตุหารณ์และสถานที่ต่าง ๆ ในอำเภอแม่จัน รวมไปถึงจัดรวบรวมโบราณวัตถุที่สำคัญที่ค้นพบในอำเภอแม่จัน นอกจากนั้นในทุกวันเสาร์พื้นที่บริเวณภายในวัดกาสายังเปิดเป็นตลาดนัดมงคลวัตถุขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นจุกศูนย์ระหว่างอำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน เทศบาลนครเชียงราย โดยสินค้าจะประกอบไปด้วย สินค้าประเภทแร่ธาตุ ก้อนหิน ลูกปัด พระบูชา พระเครื่อง วัตถุมงคล และประเภทของโบราณวัตถุ โดยตลาดนัดวัดกาสาจะเริ่มเปิดเวลา 09.00 - 12-00 น.

12. ร้านเดชาศิลป์

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ร้านป้ายเดชาศิลป์ตั้งอยู่ในซอยสิทธิศาลอยู่ฝั่งตรงข้ามกับมูลนิธิสารณะกุศลสงเคราะห์แม่จัน - ศาลเจ้า ก่อตั้งโดยนายเดชา มารายง เดิมร้านป้ายเดชาศิลป์ตั้งอยู่บริเวณเรือนแถวไม้ฝั่งตรงข้ามกับวัดกาสาซึ่งถือได้ว่าเป็นร้านป้ายที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเชียงราย จุดเริ่มต้นของร้านเดชาศิลป์ เริ่มจากความสนใจของนายเดชา มารายง ซึ่งได้ฝึกหัดทักษะในการวาดรูปตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสามเณร ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยฝึกทักษะในการวาดรูปและเขียนตัวอักษร ถายหลังเมื่อลาสิกขา แล้วย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดอุตรดิตถ์มายังจังหวัดเชียงรายและเริ่มฝึกหัดการตัดผมโดยเป็นช่างตัดผมร้านบรรจงศิลป์ ที่ตั้งอยู่บริเวณ 4 แยกหอนาฬิกาในตัวเมืองเชียงราย พร้อมทั้งฝึกทักษะการทำป้ายควบคู่ไปด้วย ภายหลังเมื่อมีความเชี่ยวชาญจังรับจ้างทำป้ายนอกสถานที่ทั้งในอำเภอแม่จันและอำเภอโดยรอบ จุดเด่นของร้านเดชาศิลป์ คือรูปแบบของตัวอักษรซึ่งได้รับแรงบรรดาลมาจากศิลปินสร้างสรรค์ป้ายที่สำคัญในจังหวัดลำปาง คือ นาย ปวน สุวรรณสิงห์ หรือที่รู้จักกันในนาม ป.สุวรรณสิงห์ ภายหลังในปี 2525 นายเดชา มารายง ได้เห็นลู่ทางในพื้นที่ของอำเภอแม่จันจึงได้ย้ายมาตั้งรกรากที่อำเภอแม่จัน โดยได้เช่าอาคารไม้ชั้นเดียวที่ตั้งอยู่หน้าวัดกาสา บริเวณถนนไชยบุรี เปิดกิจการรับทำป้ายและตัดผมควบคู่กันไป ซึ่งในยุคนั้นร้านค้าต่าง ๆ และสถานที่ราชกาลต่าง ๆ ทั่วทั้งจังหวัดเชียงรายนิยมมาสั่งทำป้ายจากร้านเดชาศิลป์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นร้านที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ป้ายของร้านเดชาศิลป์ในปัจจุบันยังปรากฏในเห็นจำนวนมากจากร้านค้าต่าง ๆ ในตัวเมืองแม่จัน วัดสำคัญในจังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่จัน เช่น วัดพระแก้ว วัดแม่คี วัดกาสา เป็นต้น นอกจากนั้น ยังปรากฏป้ายที่เป็นผลงานจากร้านเดชาศิลป์จากหน่วยงานราชการที่สำคัญ เช่น ที่ว่าการอำเภอแม่จัน ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงราย สถานนีตำรวจภูธรแม่จัน ที่ทำการนิคมทหารผ่านศึก เป็นต้น

13. มูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์แม่จัน (ศาลเจ้า)

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ภายหลังการปฎิรูป รูปแบบการบริหารจัดการ ในรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล มีการสร้างขยายทางรถไฟสายเหนือต่อจากเมืองปากน้ำโพ นครสวรรค์ มายังชุมทางนครลำปาง จึงส่งผลนครลำปางกลายเป็นชุมทางสำคัญในด้านการคมนาคม และการค้า มีการขยายและตัดถนนดจากเมืองเชียงแสน ผ่านเชียงราย สู่นครลำปางเพื่อต้อนรับการขนส่งทางรถไฟและช่วยในเรื่องการขนส่งสินค้าเกษตร จากเมืองเชียงแสน เชียงรายสู่สถานนีขนส่งรถไฟนครลำปาง ในช่วงนี้มีการอพยพเข้ามาหาช่องทางด้านธุรกิจของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล มาระลอกใหญ่และกระจายไปตั้งถิ่นฐาน ในเมืองพะเยา เชียงราย เชียงแสน ละกลายเป็นประชากรที่มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงต่อมา กลุ่มชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองเชียงแสน มี 3 กลุ่มไก้แก่ กลุ่มจีนแต้จิ๋ว เป็นกลุ่มที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับหนึ่ง มีแซ่ที่สำคัญ ได้ แซ่โล้ว แซ่เจี่ยว แซ่แต้ แซ่เตีย ฯลฯ ภายหลังใช้นามสกุล บุญธรรม โล้พิรุณ เตชะธีราวัฒน์ ไชยกุล จงสุทธนามณี เป็นต้น ,กลุ่มที่2 กลุ่มชาวจีนแคะ เป็น กลุ่มมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 แซ่ที่สำคัญ ได้ แซ่เหล่า ฯลฯ ภายหลังใช้นามสกุล เหล่าธรรมทัศน์, กลุ่มที่3 กลุ่มจีนไฮหลำ ภายหลังใช้นามสกุล จันทร์ถิระติกุล เป็นต้น (ฉิง บุญธรรม,สัมภาษณ์) กลุ่มชาวจีนเจ้าของโรงสี ถือเป็นผู้นำของชาวจีนในเมืองแม่จัน เกิดแนวคิดที่จะมีการร่วมกลุ่มของชาวจีนในเมืองแม่จันในรูปแบบของสมาคมจีน และนำไปสู่การเกิดแนวคิดที่ร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้นในเมืองแม่จัน ในปี พ.ศ.2508 โดยมีนายมา ไชยกุล(เจ้าของโรงสีมุ่ยฮวดเส็ง) พร้อมด้วยชาวจีนในอำเภอแม่จัน ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อร่วมกันสร้างศาลเจ้าขึ้น โดยได้จ้างช่างจากกรุงเทพฯมาเป็นผู้สร้าง แล้วเสร็จ ในปีพ.ศ. 2509 ซึ่งเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในอำเภอเชียงแสน ในปี พ.ศ. 2509 กลุ่มสมาคมจีน จึงได้นำส่วนหนึ่งที่ได้จากการบริจาคเพื่อสร้างศาลเจ้าเพื่อไปช่วยเหลือ ชาวเชียงแสนในเหตุการณ์อุทกภัยในอำเภอเชียงแสนด้วย นอกจากนั้นยังเข้ามามีบทบาททางการเมืองในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ เช่น นามสกุล เหล่าธรรมทัศน์ ติยะไพรัช ไชยกุล จันทร์ถิระติกุล เป็นต้น ภายในศาลเจ้าประดิษฐานเทพเจ้าสำคัญซึ่งเป็นเทพเจ้าท้องถิ่นหรือเรียกว่า ปุน เถ่า กง คือ เจ้าพ่อและเจ้าแม่กิ่วทัพยั้ง