เหมืองฮ่อ

เหมืองฮ่อที่ไหลผ่านตัวเมืองแม่จัน ตั้งอยู่ขนานกับถนนไชยบุรี ตั้งอยู่บริเวณหลังโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์แม่จัน ไปจรดกับถนนพหลโยธินบริเวณแยกเหมืองฮ่อ เป็นหนึ่งในระบบเหมืองฝายที่สำคัญของเมืองแม่จัน เป็นลำเหมืองที่ไม่ทราบประวัติการขุดที่แน่ชัด จากการบอกเล่าในท้องถิ่นเล่าสืบต่อกันมี 2 สำนวน ดังนี้ สำนวนที่1 เล่าสืบมาว่า ชาวจีนยูนานหรือฮ่อ เป็นผู้ขุดระบบชลประทานดังกล่าว และสำนวนที่2 เล่าว่า ชาวจีนยูนานหรือฮ่อ เคยตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ๆกับลำเหมืองจึงเรียกชื่อลำเหมืองว่า เหมืองฮ่อสืบมา(ฉิง บุญธรรม,สัมภาษณ์) เหมืองฮ่อ เป็นลำเหมืองที่ผันน้ำจากแม่น้ำจัน บริเวณบ้านผาตั้ง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน โดยจะผันน้ำจากแม่น้ำจันเข้าสู่เหมือง ไหลเลียบมาตามภูเขา ผ่านเข้าสู่เขตเทศบาลแม่จัน ในเขตบ้านร้องผักหนาม มาบรรจบกับลำเหมืองห้วยปู ซึ่งมีต้นน้ำไหลลงมาจากดอยจรเข้ โดยมีฝายห้วยปู ที่ตั้งอยู่บ้านแม่เฟือง ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน เป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดเล็กเพื่อผันน้ำลงสู่ลำเหมืองห้วยปู ไหลมาบรรจบกับ เหมืองฮ่อ ที่บ้านร้องผักหนาม เรียกลำเหมืองสองสายที่รวมกันว่า “เหมืองฮ่อ” หลังจากนั้นจึงไหลเข้าสู่ตัวเมืองแม่จัน ทอดยาวตลอดแนวถนนไชยบุรี ในตัวเมืองแม่จัน ความยาว 1.54 กิโลเมตร หลังจากนั้นมีการขุด ลำเหมืองให้ไหลรอดใต้ถนน ถนนพหลโยธิน บริเวณหมู่ที่ 7 บ้านเหมืองฮ่อ เพื่อน้ำเข้าสู่ พื้นที่เกษตร โดยมี “แต ” แตที่1 ซึ่งเป็นผายน้ำล้นแรกที่ตั้งอยู่ในเขตภาคการเกษตร เหมืองฮ่อจะมีการสร้าง “แต” ไว้เพื่อช่วยชะลอให้น้ำไหลสู่ภาคเกษตรช้าลงง่ายต่อการบริหารจัดการการใช้น้ำ จำนวน 11 แต เหมืองไหลผ่าน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเด่นป่าสัก บ้านศาลา บ้านดง และ บ้านแหลว ในเขตรอยต่อระหว่าง ชุมชนบ้านศาลา หมู่8 กับชุมชนบ้านแหลว จะมีอีกลำเหมืองหนึ่ง คือ “เหมืองดุก” ซึ่งมีต้นน้ำบริเวณ ดอยป่าสัก ในเขตกิ่วทัพยั้ง ไหลมาบรรจบกับเหมืองฮ่อ เรียก ลำเหมือง 2 สายที่รวมกันว่า “เหมืองแหลว” ตามชื่อของพื้นที่ ที่2 ลำเหมืองไหลมาบรรจบกัน หลังจากนั้น ลำเหมืองแหลว จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำจัน ในบริเวณใกล้ๆกับวัดพระธาตุจอมจันทร์ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เรียกบริเวณที่เหมืองแหลวง มาบรรจบกับน้ำจันว่า “สบแหลว” เหมืองฮ่อ และลำเหมืองสาขา มีเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากเหมือง ประมาณ 60 ราย การชักลอกน้ำจากเหมือง สู่ที่นา ชาวบ้านจะสร้าง “ต๊าง” หรือประตูน้ำขนาดเล็กในการชักลอกน้ำเข้าสู่ที่นาของตนเอง มีการสร้างเหมืองสำหรับระบายน้ำที่เหลือจากการใช้งาน น้ำเสียจากการทำนา เรียก “น้ำหางนา” เพื่อระบายน้ำไปเก็บรวมกันในพื้นที่ลุ่มกลายเป็นแอ่งขนาดเล็กเรียก “โทก” ไว้เป็นน้ำสำรองในกรณีที่เหมืองแห้งชาวบ้านก็จะเปิดฝายที่กั้นน้ำจากโทก ลงสู่เหมืองเพื่อใช้ในการทำนา

ที่ตั้ง

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย