ย่านกองเงี้ยว

ย่านกองเงี้ยวเป็นชื่อสามัญที่ชาวบ้านเรียก ตั้งอยู่บริเวณถนนหิรัญนคร จุดเริ่มต้นของย่านกองเงี้ยวเริ่มจากบริเวณ 4 แยกชุมชนตลาดแม่จัน (ร้านกรีนวิง) ไปจรดสะพานข้าวแม่น้ำจันที่เชื่อมระหว่างถนนหิรัญนครกับบ้านท่าต้นแฟน ตำบลป่าตึง มีความยาวประมาณ 500 เมตร คำว่า เงี้ยว เป็นคำพูดที่ชาวบ้านหมายถึง กลุ่มคนชาวไทใหญ่ ไทเขินและไทลื้อ จุดเริ่มของการกำเนิดชุมชนเริ่มมาจากปี พ.ศ.2488 หลังสงครามมหาเอเชียบรูพายุติลง รัฐบาลไทยปกครองสหรัฐไทยเดิมได้เพียง 3 ปี รัฐบาลไทยจึงส่งมอบเมืองเชียงตุงคืนให้กับอังกฤษ หลังจากนั้นเพียง 13 ปี ได้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศพม่า ด้วยเหตุที่รัฐบาลทหารพม่า ปฎิเสธสัญญาปางโหลง (นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว,2549,น.19-20 อ้างในศิริพร ณ ถลาง 2559 ,น.24) ด้วยเหตุสถานการณ์ความวุ่นวายช่วงนี้ ส่งผลให้กลุ่มชาวไทใหญ่ ไทเขิน ไทยใหญ่ บางส่วนได้อพยพมาอาศัยใน ย่านตัวเมืองแม่จัน ชาวบ้านเรียกย่านที่ชาวไทใหญ่อาศัยเป็นชุมชนว่า “กองเงี้ยว” ย่านกองเงี้ยวตั้งอยู่ริมฝั่งขวาติดกับวัดกาสา ประชากรในย่านกองเงี้ยว ประกอบไปด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่1 กลุ่มชาวไทใหญ่ที่อพยพมาจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บางส่วนมาจากเมืองเชียงตุง ประเทศสหภาพเมียนมาร์ ครอบครัวที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เช่น ครอบครัวนายส่างต๊ะ คำเฮือน อพยพมาจากบ้านยางละ หนองกล๋ม เมืองเชียงตุง เป็นชาวไทใหญ่ (เงี้ยว) ต่อมานายส่างต๊ะ ประกอบอาชีพทำอาชีพ “แคปปอง” จากหนังควายจำหน่ายซึ่งมีชื่อเสียงในอำเภอแม่จัน ชาวแม่จันรู้จักกันในนาม “นายส่างต๊ะแคปปอง” (ส่วยอิ่ง คำเฮือง,สัมภาษณ์ ) ครอบครัวของนางคำ อ่องคำ ชาวไทใหญ่จากเมืองเชียงตุง แต่งงานกับ นายลือ อ่องคำ ชาวไทใหญ่อพยพมาจากจังหวัดเชียงใหม่ (ศรีนวล โนราช,สัมภาษณ์) เป็นต้น กลุ่มที่2 กลุ่มไตเขิน ถือว่าเป็นประชากรหลักอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตเมืองแม่จัน โดยประชากรกลุ่มหนึ่งที่อพยพเข้ามาอาศัยในเขตแม่จัน มีกลุ่มเจ้าฟ้าจากเมืองเชียงตุงอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง คือ เจ้าจุฬามณี เม็งราย หรือนายเสรี ทวีรัฐ ซึ่งเป็นราชนัดดาของ เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้านครเชียงตุง ภายหลังแต่งงานกับ นางจันทร์หอม เขมะวงศ์ ต่อมาย้ายมาอาศัยในเขตเมืองแม่จัน จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านเรียก ชื่อท่านว่า “เจ้าหนุ่ม” (เสรี ทวีรัฐ , สัมภาษณ์) กลุ่มที่3 กลุ่มชาวไทลื้อ อพยพมาจากเมืองเชียงรุ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีครอบครัวของนางคำ นางจอม และนางแดง สามพี่น้องอพยพมาพร้อมกับบิดามารดาด้วยการเดินเท้ามาทางด่านชายแดน เข้ามาอาศัยร่วมกับกลุ่มชาวไทยใหญ่ ในตัวเมืองแม่จัน ประกอบอาชีพ การทำน้ำเงี้ยวขาย โดยน้ำเงี้ยวเฉพาะในย่านกองเงี้ยว ใส่เนื้อสัตว์สามชนิด ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ และเนื้อปลา ลงไปผัดกับน้ำพริกน้ำเงี้ยว และจะเคี่ยวมะเขือเทศแห้งจนเป็นแย้ม เพื่อช่วยให้น้ำข้มข้น มีรสชาดกลมกล่อมสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ถั่วเน่าแข็บที่นำไปปิ้งไฟจนหอมคลุกให้ละเอียด (มนัส ทันดร,สัมภาษณ์) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนินของนามสกุลไทยใหม่ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน ในปัจจุบันลักษณะทางกายภาพของย่านกองเงี้ยวในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสังคมเมือง ลูกหลานของกลุ่มประชากรในย่านกองเงี้ยวได้ค่อย ๆ เลิกกิจการการทำถั่วเน่าแคบ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชุมชนในอดีต จึงทำให้แทบจะไม่หลงเหลือสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นไทใหญ่ ไทเขินและไทลื้อในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ยังปรากฏให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือการเรียกชื่อบ้านนามเมืองว่า กองเงี้ยว

ที่ตั้ง

ตำบลแม่จัน อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย