ชุมชนบ้านหนองอ้อ สุโขทัย

ชุมชนหนองอ้อ ถิ่นฐานชาวไทยโบราณกว่า 700 ปี กับวิถีชีวิตอันเรียบง่ายนอกเขตกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยดินแดนแห่งตำนานพระร่วง แหล่งอารยธรรมโบราณริมฝั่งแม่น้ำยมที่มี "แก่งหลวง" ขวางกั้น โบราณสถานที่ก่อด้วยศิลาแลง แหล่งอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสังคโลกด้วยเตาเผาแบบโบราณมีนามว่า "เตาทุเรียง" ชุมชนแห่งนี้มีการสืบทอดภูมิปัญญาการปั้นเครื่องสังคโลกตามแบบฉบับนครศรีสัชนาลัยจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังปะปนด้วยชาวชาติพันธุ์จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งตัวในชุมชนคือชาว "ลาวครั่ง" ที่อพยพมาจากหลวงพระบาง ปัจจุบันเรียกว่า "ไทครั่ง" ชาวไทครั่งมีวัฒนธรรมประเพณีที่เฉพาะ เช่น รำเกี้ยวแคน แห่ผีนางด้ง แกงหยวกใส่ถั่วเขียวเกี่ยวมือเมนูรสเด็ด และยังเป็นต้นกำเนิด "ผ้าไทครั่ง" ที่ย้อมด้วยสีจากครั่ง (Laccifera chinensis) แมลงตัวเล็ก ๆ เป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับเพลี้ย ที่ให้สีแดงจากธรรมชาติจนก่อเกิดลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน จึงเกิดการผสานวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไทย-ลาว อย่างลงตัวตามแบบฉบับของชุมชนหนองอ้อ