วัดบ้านขาว


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดบ้านขาว ตำบลบ้านขาว วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบล บ้านขาว อำเภอ ระโนด สงขลา พิกัด ละติจูด 7.8442291 ลองจิจูด 100.2286598 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดบ้านขาว ตั้งอยู่ในชนบทกันดาร มีเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ 3 งาน และมีที่ธรณีสงฆ์ อีกประมาณ 50 ไร่ 2 งาน 15 ตารางวา ตั้งอยู่ในเขตปกครองส่วนภูมิภาคหมู่ที่ 7 ตำบลตะเครียะ อำเภอ ระโนด จังหวัดสงขลา (ในสมัยนั้น) อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลา (ศาลากลาง) ไปทางทิศเหนือประมาณ91กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชไปทางทิศใต้ประมาณ87กิโลเมตร และอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองพัทลุงไปทางทิศตะวันออกเฉียบงเหนือประมาณ54กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในท้องถิ่นที่ห่างไกลจากความเจริญมาก เขตรอยต่อถึง3จังหวัด เพราะฉะนั้นการพัฒนาทุกอย่างยังเข้าไปไม่ถึง ยังล้าหลังและเนิ่นนานเหมือนการถูกลืมเลือน สถานะปัจจุบัน วัดบ้านขาวเป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่งในพุทธจักร ถูกสร้างขึ้นในยุค สมัยใด และใครเป็นผู้สร้าง ไม่ปรากฏในตำนาน แต่ถ้าจะให้สันนิษฐานตามหลักฐานโบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณวัดและใกล้เคียง เช่นพระพุทธรูปที่ทำจากหินโบราณหน้าตักกว้างประมาณ 15 นิ้ว 2 องค์ ใบสีมา หินบดยา ตุ่มตีนช้าง วัดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ปาก กว้างประมาณ 36 นิ้ว จำนวน 1 ใบ ภายในตุ่มมีปั้นชาถ้วยชามีตัวหนังสือจีนสมัยศรีวิชัย เหมือนกับโบราณวัตถุที่วัดมหาธาตุไชยา จ.สุราษฎร์ธานี น่าจะถูกสร้างขึ้นในสมัยนั้นอย่างแน่นอน ประมาณ พ.ศ. 1300 การบันทึกร่องรอยประวัติความเป็นมาของวัดบ้านขาวเท่าที่ได้ประสบพบเห็นด้วยตัวเองและได้ยินได้ฟังมานี้ เพียงส่วนน้อยหรือโดยสังเขปเท่านั้นส่วนความวิจิตรพิสดาร สมบรูณ์กว่ายังต้องสืบหาค้นคว้ากันอีกนาน จึงขอฝากความหวังไว้กับท่านผู้รู้ดีเห็นดีมีหลักฐานทั้งหลาย ช่วยกันเพิ่มเติมเสริม ต่อให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะได้ กลายเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านในที่สุด การพัฒนาวัดบ้านขาว เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 โดยมี คุณสุรใจ ศิรินุพงศ์ เป็นผู้ริเริ่มวางศิลาฤกษ์อุโบสถ และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2548 และฝังลูกนิมิตผูกพัธสีมา ในปีเดียวกัน และเมื่อปี พ.ศ.2531 พระราชศีลสังวร (ปธ.4 ผ่อง จิรธมฺโม ปานขาว) ได้เริ่มพัฒนาสร้างกุฏิ 1 หลัง และต่อมา ท่านได้สร้างศาลาคู่เมรุวัดบ้านขาว และสำเร็จในปี 2536 จากนั้นได้ สร้างศาลาการเปรียญ ศาลาเอนกประสงค์ หอระฆัง กำแพงรอบบริเวณวัด ถนนบริเวณวัดเทคอนกรีตเสริมเหล็ก กุฏิอีก 5 หลัง และหาพันธ์ไม้มาปลูก จนมีความร่มรื่น จนถึงทุกวันนี้


วัดบางหลอด (บางหรอด)


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดบางหลอด(บางหรอด) ตำบลคลองแดน วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ระโนด อำเภอ ระโนด สงขลา 90140 พิกัด ละติจูด 7.8798648 ลองจิจูด 100.31788 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดบางหรอด ตั้งอยู่บ้านบางหรอด หมู่ที่ 6 ตำบลคลองแดน (ปัจจุบัน หมู่ที่ 3 ตำบลแดนสงวน) อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 33 ไร่ 3งาน 46ตารางวา น.ส.3กเลขที่ 12406 อาณาเขต ทิศเหนือยาว 6 เส้น 3 วา ติดต่อกับที่นาของนายแมว ทิศใต้ยาว 4เส้น 7วา ติดต่อกับที่ดินบ้านนางยกและลำคลองทิศตะวันออกยาว 4เส้น 2วา ติดต่อกับลำคลอง ทิศตะวันตกยาว 5 เส้น ติดต่อกับที่ดินนายรุ่ง พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่ม อาคารเสนาสนะต่างๆมี อุโบสถกว้าง 9 เมตร ยาว 14 เมตร สร้าง พ.ศ.2486 โครงสร้างคอนกรีต มีสภาพทรุดโทรม ศาลาการเปรียญกว้าง 11 เมตร ยาว 19 เมตร สร้าง พ.ศ.2487 โครงสร้างไม้ กุฏิสงฆ์จำนวน 6 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้บางหลังสภาพทรุดโทรม สำหรับปูชนีย์วัตถุมี พระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง1.90 เมตร สูง 2.80 เมตร วัดบางหรอดสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ประชาชน ในหมู่บ้านบางหรอดร่วมใจกันสร้างขึ้น ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2481 ได้ผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ.2486


วัดดอนรัก


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดดอนรัก ตำบลบ่อยาง วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง เลขที่ 17 หมู่ที่ 4 บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.1817545 ลองจิจูด 100.6041896 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดดอนรัก ตั้งอยู่เลขที่ 17 หมู่ที่ 4 บ้านบ่อยาง ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่เนินสูง เดิมเป็นป่าต้นรักมากมาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 7 ไร่ วัดดอนรัก สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2391 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใต้” โดยมีเจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ ให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้ๆ จวนสักวัดหนึ่ง ตามคำปรารภของนางศรีเนี่ยว เพื่อสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศล เจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ จึงได้แบ่งที่ดินหลังจวนซึ่งเป็นป่าต้นรักและเป็นเนินสูง ให้ตั้งวัดขึ้นชื่อว่า “วัดดอนรัก” ได้จัดสร้างกุฏิ วิหาร และอุโบสถ เมื่อสร้างอุโบสถแล้วก็จัดการผูกพัทธสีมา ปรากฏว่าในวันผูกพัทธสีมานั้น นางศรีเนี่ยวได้ถึงแก่กรรมลง พร้อมๆ กับสัญญาณระฆัง สัญญาณฆ้อง กลอง และคุณหญิงพักตร์ ณ สงขลา ภรรยาของพระยาสุนทรานุรักษ์ ได้คลอดบุตรชาย คือ พระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ซึ่งได้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา คนสุดท้ายในกาลต่อมา และพระยาวิเชียนคีรี (ชม ณ สงขลา) ก็ได้อุปสมบท ณ วัดนี้ ได้สร้างพระไตรปิฎก ฉบับราชการที่ 7 ไว้ 1 ฉบับ สมัยนั้นวัดดอนรักมีเจ้าอาวาสมาแล้ว 3 รูป เมื่อ พ.ศ. 2484 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่สงขลา วัดดอนรักถูกภัยทางอากาศเป็นครั้งแรก ทำให้สามเณร 1 รูป ศิษย์วัด 1 คน เสียชีวิต และอาคารเสนาสนะเสียหายมาก เมื่อสงครามสงบได้บูรณะพัฒนาเริ่ม ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา จนปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างในจังหวัดสงขลาด้วย


วัดเกาะถ้ำ


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดเกาะถ้ำ ตำบลเขารูปช้าง วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง 408 เขารูปช้าง ซอย สงขลา 3245 ตำบล เขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1554029 ลองจิจูด 100.6212496 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดถ้ำเกาะ อยู่ห่างจากสามแยกสำโรงตามเส้นทางสายสงขลา-นาทวี ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีรอยพระพุทธบาทจำลองอยู่บนยอดเขา ประชาชนนิยมไปกราบไหว้บูชาติดกับวัดเกาะถ้ำวัดเกาะถ้ำ ตั้งอยู่เลขที่ 118 หมู่ที่ 4 บ้านเกาะถ้ำ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000 สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 50 ไร่ วัดเกาะถ้ำ สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2357 สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมตั้งอยู่บนที่ราบมีนามว่า วัดสะพานยาว เมื่อคราวเมืองสงขลาถูกข้าศึกยกทัพมาโจมตีบริเวณเกาะถ้ำนี้ได้เป็นสถานที่ยกทัพมาต่อสู้ และใช้กลอุบายทำให้ข้าศึกถอยทัพไป ทำให้ทัพชนะข้าศึก พระยาวิเชียรคีรีบุญ เจ้าเมืองคนที่ 6 ได้สร้าง รอยพระพุทธบาทจำลองลงบนหินประดิษฐานไว้บนเขาแล้วให้ย้ายวัดสะพานยาวที่ตั้งอยู่บนที่ราบ ไปสร้างขึ้นบนภูเขาและได้มีนามว่า “วัดเกาะถ้ำ” วัดเกาะถ้ำ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2451 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 12.50 เมตร ยาว 14.50 เมตร เกี่ยวกับการศึกษาได้จัดให้มีโรงเรียนวัดเกาะถ้ำขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2465 โดยการอุปการะจาก เจ้าอธิการพรหมทอง พระมหาล้วน ฐานยุตโต ได้จัดสร้างอาคารเรียนถาวรขึ้น 1 หลัง พระครูโฆษิตธรรมวาที ได้ร่วมกันจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราว และได้ให้การสนับสนุนตามสมควรตลอดมา


วัดเขาเก้าแสน


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดเขาเก้าแสน ตำบลเขารูปช้าง วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง อําเภอ หมู่ 3, ตําบล ตำบล เขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา สงขลา 90000 พิกัด ละติจูด 7.1817548 ลองจิจูด 100.6195106 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดเขาเก้าแสน วัดเก่าแก่ของจังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองไม่ไกลจากหาดสมิหลา เป็นสถานที่ติดกับริมทะเลได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างทางเดินให้กับนักท่องเที่ยว สามารถเดินได้อย่างสะดวกไปยังบริเวณ หินศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ริมผา ชื่อว่า “หัวนายแรง” เนื่องจากที่นี่ตั้งอยู่บนยอดเขาทำให้สามารถมองเห็นวิวของมองเห็นวิวทิวทัศน์ของชายหาดแหลมสมิหลา และเกาะหนูเกาะแมวสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลาได้อย่างสวยงาม สามารถเดินลงไปชายหาดเพื่อสัมผัสหาดทรายสีขาวสะอาดได้อย่างเพลิดเพลิน รวมทั้งเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยแห่งหนึ่ง บรรยาย ตำนานหัวนายแรง เรื่องเล่าว่า กาลครั้งหนึ่งที่เมืองพัทลุง มีสามี ภรรยาคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันเป็นเวลาช้านาน แต่ยังไม่มีลูก จึงพากันไปหาสมภารที่วัด สมภารจึงแนะนำให้ไปหยิบก้อนกรวดที่ริมบ่อน้ำ นำไปห่อผ้าขาววางไว้ใต้หมอนแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอลูก ไม่ช้าภรรยาก็ตั้งครรภ์ และคลอดออกมาเป็นลูกชาย ชาวบ้านก็แตกตื่นกันมาดูเพราะทารกโตเกือบเท่าเด็ก 1 ขวบ ชื่อนายแรง และกินอาหารจุกว่าทารกปกติ ด้วยความผิดปกติของลูก ในที่สุดพ่อแม่ก็ยากจนลง จึงคิดที่จะฆ่าลูกชายเพราะไม่สามารถเลี้ยงดูต่อไปได้ ความพยายามฆ่าลูกชายเกิดขึ้นหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ นายแรงสามารถกลับมาที่บ้านได้ทุกครั้ง พ่อแม่ก็สำนึกผิดเลยเต็มใจเลี้ยงต่อไป นายแรงสงสารพ่อแม่ที่ตนเองเป็นต้นเหตุให้ยากจน จึงรับอาสาทำงานทุกอย่างเพื่อแลกกับอาหารมาเลี้ยงดูพ่อแม่ ครั้งหนึ่งเมืองในแถบมลายูซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทยเกิดแข็งเมือง นายแรงอาสาไปรบศึกด้วย โดยเป็นกองหน้า และสามารถบุกตะลุยข้าศึกจนได้รับชัยชนะ นายทัพฝ่ายไทยจึงแต่งตั้งเป็นเจ้าเมือง ครั้นทางเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในเจดีย์ และจัดงานเฉลิมฉลองใหญ่โต บรรดา 12 หัวเมือง ทางปักษ์ใต้ต่างก็นำเงินทองไปร่วมบรรจุด้วย เมืองที่นายแรงเป็นเจ้าเมืองก็เป็นเมืองขึ้นของนครศรีธรรมราชด้วย ประกอบกับนายแรงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงขนเงินทองเป็นจำนวนมากถึงเก้าแสนบรรทุกเรือสำเภา พร้อมด้วยไพร่พลออกเดินทางไปเมืองนครศรีธรรมราช ขณะเดินทาง เรือสำเภาถูกคลื่นลมพัดกระหน่ำจนชำรุด จึงต้องแวะเข้าจอดยังชายหาดแห่งหนึ่งเพื่อซ่อมแซม หลังซ่อมแซมเสร็จ ทราบข่าวว่าทางเมืองนครศรีธรรมราชได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้ว นายแรงเสียใจมาก จึงให้ไพร่พลขนเงินทองบรรจุไว้บนเขาลูกหนึ่ง แล้วสั่งให้ลูกเรือตัดหัวของตนไปวางไว้บนยอดเขา เขาลูกนี้ภายหลังจึงเรียกว่า “เขาเก้าแสน” และเพี้ยนมาเป็น “เก้าเส้ง” ในเวลาต่อมา และก้อนหินที่ปิดทับอยู่บนยอดเขา เรียกว่า “หัวนายแรง” ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของนายแรงยังเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์จวบจนทุกวันนี้


วัดท้ายยอ


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดท้ายยอ ตำบลเกาะยอ วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง หมู่ 8, ตําบลเกาะยอ อําเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา, 90100 พิกัด ละติจูด 7.1493837 ลองจิจูด 100.5306908 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดท้ายยอ เป็นวัดเก่าแก่ของตำบลเกาะยอ ได้รับการประกาศให้เป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2311 เป็นวัดโบราณที่มี สถาปัตยกรรมล้ำค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา" อายุกว่า 200 ปี หลังคา ใช้กระเบื้องดินเผาเกาะยอและกระเบื้องลอนแบบเก่า มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เสาเรือนกุฏิจะไม่ฝังลงในดินแต่จะ ตั้งอยู่บนตีนเสา ซึ่งเป็นที่รองรับเสาอันเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้น วัดท้ายยอ อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางศาสนา และยังเป็นวัดเก่าแก่ของตำบลเกาะยอ เป็นวัดที่ก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้ำค่า ควรค่าแก่การอนุรักษ์และหวงแหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "กุฏิแบบเรือนไทยปั้นหยา" อายุกว่า ๒๐๐ ปี หลังคา ใช้กระเบื้องดินเผาเกาะยอและกระเบื้องลอนแบบเก่า มีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เสาเรือนกุฏิจะไม่ฝังลงในดินแต่จะตั้งอยู่บนเสาปูน ซึ่งเป็นที่รองรับเสาอันเป็นลักษณะเฉพาะของบ้านชาวไทยในภาคใต้เท่านั้น บรรยากาศของวัดโดยรอบร่มรื่นเย็น เงียบสบมีลมทะเลพัดเข้ามาตลอด เพราะตั้งอยู่ชิดติดกับทะเลสาบสงขลา บรรยาย กุฎิเรือนไทย เป็นกุฎิหมู่ 3หลัง สำหรับเจ้าอาวาส 1หลัง สำหรับพระภิกษุ2หลัง ลักษณะของกุฎิเป็นเรือนไทย ปักษ์ใต้ที่ถึงพร้อม ” มงคลสูตร ” และ ” มาตราสูตร ” ด้านหน้าหันออกสู่ทะเลสาบสงขลา มีลานกว้าง ส่วนด้านหลังเป็นเขาเรียกว่า เขาเพหาร อันหมายถึง ” วิหาร ” นั่นเอง ลักษณะเด่นของกุฏิเป็นเรือนหมู่ ๓ หลัง เรียกตามลักษณะมงคลสูตรว่า ” แบบพ่อแม่พาลูก สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากนั้นวัดท้ายยอ ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุควรค่าแก่การศึกษาและเรียนรู้ อาทิ พระอุโบสถแบบโบราณ บ่อน้ำโบราณ หอระฆัง โรงเรือพระ สถูป และมีร่องรอยของท่าเรือโบราณ ซึ่งเคยเป็น ศูนย์กลางการคมนาคม ของชาวเกาะยอ ด้านหลังของวัดท้ายยอเป็นที่ตั้งของ เขาเพหารหรือเขาวิหาร ซึ่งประดิษฐานเจดีย์ทรงลังกากหนึ่งโบราณสถานที่สำคัญของวัดแห่งนี้ ติดกับเจดีย์ มีพระศักดิ์สิทธิ์ คือ หลงพ่อดำ ให้ได้กราบไหว้ขอพร สำหรับการขึ้นไปยังเจดีย์ มีบันไดสำหรับขึ้นลงจำนวน150ขั้นสำหรับขึ้นไปยังเจดีย์ หรือจะนำรถส่นตัวขึ้นไปก็ได้ แต่ทางจะค่อนข้างขันเล็กน้อย ข้างบนเจดีย์มีศาลาชมวิวที่สามารถชมทัศนียภาพของเกาะยอในมุมสูง ด้านหน้าวัด มีศาลาริมน้ำสามารถชมวิวมีสะพานทอดยาว สามารถชมวิวทะเลสาบสงขลา และบ้านเรือนของชาวเกาะยอ


วัดโคกเปี้ยว


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดโคกเปี้ยว ตำบลเกาะยอ วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบล เกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1493838 ลองจิจูด 100.5372569 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดโคกเปี้ยว สร้างขึ้นตั้งแต่ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2425 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมทะเล มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยมี นายรอด ทีปรักษาพันธุ์ เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ เดิมเรียกว่า “ วัดโคกขี้เปี้ยว ” ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหลวงวชิรญาวโรส ทรงรับสั่งให้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “ วัดโคกเปี้ยว ” วัดแห่งนี้ติดทะเลสาบสงขลาทำให้สงบร่มรื่นตั้งบนเกาะยอ มีพระพุทธรูปประทับยืนเนื้อสัมฤทธิ์ ชาวบ้านเรียกนามว่า “ พ่อแก่ ” สำหรับวัดโคกเปี้ยวมีความสัมพันธ์กับพระราชมุนีเขากุด หรือสมเด็จเจ้าเกาะยอ ถือกำเนิดสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ได้ไปออกธุดงค์ ไปที่เมืองสทิงพระ ที่นี่ท่านได้พบกับสมเด็จเจ้าพะโคะ หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะได้ออกเดินทางธุดงค์ไปด้วยกันจนไปพบสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ โดยสมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าพระโคะ และสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ ได้สร้างสมบารมีมาด้วยกันในชาติปาง ต่อมาถึงคราวต้องแยกย้ายจากกัน สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ขึ้นฝั่งที่บ้านแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ปักกลดจำพรรษาอยู่ที่บนภูเขาลูกหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่นั้น เกิดนิมิตเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา ตรัสว่าต่อไปบนยอดเขาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ และให้สร้างรูปเหมือนจำลองตถาคตประดิษฐานไว้บนยอดเขาลูกนี้ด้วย และให้ทำพิธีสักการะบูชาในวันวิสาขบูชา วันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี ให้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “ เขากุด ” หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอได้สร้างพระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนยอดเขา ท่านได้จำพรรษาอยู่บนยอดเขาเป็นเวลานาน ได้ช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชนบริเวณเกาะยอให้ความเคารพบูชามาก สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชมุนีเขากุด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ สมเด็จเจ้าเกาะยอ ” หรือ “ สมเด็จเจ้าเขากุด ” เมื่อมรณภาพแล้วชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนเก็บอัฐิธาตุของท่านไว้บนยอดเขากุด ในบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง ปรากฏหลักฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้


วัดสามกอง


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดสามกอง ตำบลเกาะแต้ว วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง 74 ถนน รามวิถี ตำบล เกาะแต้ว อำเภอเมืองสงขลา สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1216424 ลองจิจูด 100.6388882 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะแต้ว สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2449 เดิมที่ตั้งวัดเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพ 3 ทัพ คือ ทัพพระยาหนะ ทัพพระยาสงขลา และทัพพระยานคร เมื่อคราวเกิดสงครามกับเมืองปัตตานีครั้งแรก เสร็จศึกทัพแล้วท่านพุ่ม ธนารักษ์ ซึ่งอพยพมาจากบ้านทะนาวปัตตานี จึงได้ขอตั้งเป็นวัดและให้มีนามว่า “วัดสามกอง” เพื่อเป็นอนุสรณ์ พร้อมกับได้สร้างเจดีย์ขึ้น 1 องค์ และถูกทำลายเมื่อเกิดสงครามกับเมืองปัตตานีครั้งต่อมา การบูรณะพัฒนาวัดได้เริ่มดำเนินในสมัยของหลวงพ่ออินทร์ อินฺทวํโส เป็นเจ้าอาวาส โดยมีพระยาวิเชียร พระอินทร์ และนางหมาดำ สาครินทร์พานิชย์ เป็นกำลังสำคัญ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2453


วัดบูรณาราม


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดบูรณาราม ตำบลน้ำขาว วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ม.11 ต.น้ำขาว อ อำเภอจะนะ สงขลา พิกัด ละติจูด 6.8061824 ลองจิจูด 100.620756 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดบูรณารามเดิมชาวบ้านเรียกว่า “วัดคลองแงะ” ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2525 กว้าง 30 เมตร ยาว 60 เมตร แต่เดิมสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นสาขาหนึ่งของวัดเสะ ต.บ้านนา (จากบันทึกคำบอกเล่าของชาวบ้าน) สาเหตุที่ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดบูรณาราม” เนื่องจากวัดและชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาบูรณะวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จากแต่เดิมเป็นเพียงที่พักสงฆ์เท่านั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า ประมาณช่วงปี พ.ศ.2450 บ้านคลองแงะได้พยายามสร้างวัดขึ้นถึง 2 แห่ง แต่ก็ไม่สำเร็จคงเหลือแต่เพียงวัดคลองแงะเพียงวัดเดียว นับแต่เริ่มก่อตั้งถึงปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสที่สืบค้นได้จากคำบอกเล่า จำนวน 8 รูป คือ 1.พ่อท่านเสน 2.พ่อท่านสีนา 3.พ่อท่านอ้วน 4.พ่อท่านแสง (พระครูโชติธรรมวัตร) 5.พ่อท่านเนียม 6.พ่อท่านแสง(พระครูโชติธรรมวัตร) 7.พ่อท่านวร 8.พ่อท่านจ้วน (พระครูพิพัฒน์สังฆกิจ)


วัดน้ำขาวใน


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดน้ำขาวใน ตำบลน้ำขาว วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบล น้ำขาว อำเภอจะนะ สงขลา 90130 พิกัด ละติจูด 6.7973531 ลองจิจูด 100.6681702 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) ตั้งอยู่เลขที่ 13 หมู่ที่ 3 (บ้านออกวัด) ต.น้ำขาว อ.จะนะ จ.สงขลา มีเนื้อที่ 12 ไร่ เริ่มสร้างเป็นวัดเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2430 ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดที่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2439 ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2540 ขนาดกว้าง 23.60 ม. ยาว 45.50 ม. ผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2545 โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จากวัดมกุฎกษัตริยารามเป็นประธานในการผูกพัทธสีมา สังกัดคณะสงฆ์นิกายธรรมยุต วัดในอดีตเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชน และเป็นแหล่งพบปะของผู้คนในชุมชน เป็นแหล่งรวมประเพณีวัฒนธรรมและคตินิยมความเชื่อ วัดกับชุมชน จึงกลายเป็นส่วนเดียวกันแยกกันไม่ออก มองภาพของชุมชนน้ำขาวในอดีตจึงเห็นภาพของบ้านกับวัดได้อย่างชัดเจน อดีตกำนันเจิน จันทร์เพชร บ้านเกาะแค หมู่ที่ 1 ต.น้ำขาว เล่าว่า...ชุมชนน้ำขาวยุคก่อนที่จะมีโรงสีข้าว เคยมีประเพณีสำคัญประเพณีหนึ่ง คือ “ประเพณีพานมข้าว” สมัยนั้นคนน้ำขาวมีอาชีพหลัก คือ ทำนา ทุกปีหลังจากทำนาเสร็จแล้ว ก็จะนำข้าวเปลือกที่ยังเป็น “เลียงข้าว” มากน้อยตามศรัทธาและผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี รวบรวมกันทั้งหมู่บ้าน แล้วช่วยกันนำไปเก็บไว้ในยุ้งข้าวที่วัด ก่อนนำไปเก็บก็จะทำพิธีทางศาสนาทำบุญ ถวายทาน เหมือนกับการนำข้าวตอก และต้ม ไปทำบุญเดือนสิบ .... วัดน้ำขาวนอก(วัดออก) ยุ้งข้าวตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับบริเวณทางด้านทิศใต้ที่เป็นเมรุในปัจจุบัน การพาข้าวไปถวายวัด เรียกว่า “การพานมข้าว” สอบถามได้ความว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเสบียงเก็บไว้ใช้ในยามที่วัดมีงานสำคัญ ๆ เช่น งานประเพณีทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรืองานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสำคัญของทั้งชุมชนและวัด ก่อนจะถึงงาน ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะช่วยกันนวดข้าว สีข้าว ทิ่มข้าว เตรียมเป็นข้าวสารไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญวัดก็ยังเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคจากภายนอกอีกด้วย เช่น มีชาวบ้านจากตำบลสะกอม ตำบลนาทับ นำเกลือ ปลาแห้ง กะปิ ปลาร้า มาทำการแลกเปลี่ยนกับข้าวเปลือกในยุ้งข้าวของวัด โดยมานวดเป็นข้าวเปลือกใส่กระสอบกลับไป นับเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาเป็นเวลาช้านาน..


วัดควนมิตร


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดควนมิตร ตำบลคลองเปียะ วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบล คลองเปียะ อำเภอจะนะ สงขลา พิกัด ละติจูด 6.9734879 ลองจิจูด 100.6680646 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดควนเมิตร เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง โดยมีการสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2365 หรือประมาณ 155 ปี ที่ผ่านมา และในระยะแรกได้มีพระในคณะสงฆ์มหานิกายเข้ามาอยู่ จ่าพรรษา และต่อมาในปี พ.ศ.2435 ได้มีพระสงฆ์ในปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุตมาอยู่ประจํา พรรษา และปกครองวัดมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีเจ้าอาวาสทั้งหมดรวม 5 รูป ซึ่งเจ้าอาวาสรูป ปัจจุบัน คือ พระครูโสภณศีลวัตร ที่ได้รับค่าเหน่งรักษาการ และเป็นเจ้าอาวาสมานับตั้งแต่ พ.ศ.2522 โดยที่วัดควนมิตร นอกจากจะมีอาคารเสนาสนะต่างๆ ทั้ง พระอุโบสถ ศาลาการ เปรียญ กุฏิ และ เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุแล้ว ที่วัดแห่งนี้ยังเคยเปิดสอนพระปริยัติธรรม และมีนักธรรมที่ผ่านมากว่า 200 รูป และยังมีพระบรมธาตุ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในเจดีย์บน ยอดเขาวัดควนมิตร ความสูง 30 เมตร และรายรอบด้วยเจดีย์บริวารทั้ง 4 มุม สําหรับการเดินทาง ไปยังวัดควนมิตร จากหาดใหญ่ ใช้ถนนสายเอเชีย 43 ขาล่อง ปัตตานี เลี้ยวขวาที่ไฟแดงควนมีด ไฟแดงแรกเขตอ่าเภอจะนะ เข้าไปประมาณ 800 เมตร


วัดศรีสว่างวงศ์


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดศรีสว่างวงศ์ ตำบลหาดใหญ่ วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง 46/290 ถนน นิพัทธ์สงเคราะห์ 2 ตำบล หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ สงขลา พิกัด ละติจูด 7.0270749 ลองจิจูด 100.4707157 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดศรีสว่างวงศ์ หรือที่รู้จักกันว่า วัดเกาะเสือ ตั้งอยู่เลขที่ 312 ถนนนิพัทสงเคราะห์ 2 ตำบลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีอายุกว่า 57 ปี เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2500 โดยมีพระครูโอภาสสิริวรรณ ( อ่ำ สิริสุวณฺโณ ) อดีตเจ้าอาวาสรูปแรก ได้เริ่มมาพัฒนาสร้างวัดแห่งนี้ เดิมเป็นทุ่งนายังไม่มีความเจริญ วัดศรีสว่างวงศ์ ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2512 โดยมีนายกลับ พัฒโน เป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการขออนุญาต ที่ดินสร้างวัดเป็นของนายกลับ พัฒโน, นายสีช่วย โพธิพงษา,นายเม่า อุไรรัตน์ ร่วมกันบริจาค กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2513 ที่ได้มีนามวัดอย่างนั้นเพื่อให้มีความหมายว่า “ วัดที่ประชาชนผู้เป็นเชื้อสายนับถือพุทธศาสนาร่วมกันสร้างขึ้นตั้งอยู่ในที่แจ้ง เพื่อเป็นมิ่งขวัญสืบไป” ซึ่งภายในวัดประกอบด้วยอาคารเสนาสนะต่างๆมี อุโบสถกว้าง 18 เมตร ยาว 32 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2520 พระเจดีย์และวิหารพระนอน กุฏิสงฆ์จำนวน 9 หลัง ศาลาโรงฉัน 1 หลัง อาคารที่พักสงฆ์ 3 ชั้น 2 หลัง ศาลาเอนกประสงค์ 1 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 6 หลัง เมรุเผาศพแบบกำจัดมลพิษ 1 หลัง สาเหตุที่ชาวบ้านเรียกว่าวัดเกาะเสือ “ในอดีตพื้นที่เป็นเกาะกลางนา คนเฒ่าคนแกเล่าให้ฟังว่า มีเสือลงมาจากเขาคอหงส์เพื่อลงมาพัก ณ จุดนี้ บางครั้งก็มีชาวบ้านต้อนวัวมาเลี้ยงไว้แล้ววัวหาย แต่ปรากฏว่าเจออีกทีเหลือแต่ซากวัวแล้ว อีกกรณีเชื่อว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นทางเสือผ่าน หมายถึง ในสมัยก่อนเป็นพื้นที่เปลี่ยว มักจะมีการนำศพของผู้ที่ถูกฆ่าเสียชีวิตมาทิ้งไว้บริเวณนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดเกาะเสือ” จนถึงปัจจุบัน จุดเด่นของวัดนี้ คือ พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธชินราช จำลองมาจากจังหวัดพิษณุโลก ได้สร้างและนำมาประดิษฐานเมื่อปี 2518 ขนาดเท่าองค์จริง ยังมีอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดที่ชาวบ้านให้ความศรัทธาเลื่อมใสมาตั้งแต่อดีต คือศาลาทวด ได้แก่ โคตรเสือ ทวดเติม ทวดทอง ที่คอยปกปักรักษาวัดแห่งนี้มานาน ซึ่งเมื่อชาวบ้านไม่สบายใจหรือปรารถนาสิ่งใดก็มักจะมาบนบานสานกล่าว ส่วนใหญ่มักจะประสบความสำเร็จและมาแก้บน


วัดท่านางหอม


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดท่านางหอม ตำบลน้ำน้อย วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1197054 ลองจิจูด 100.5219685 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดท่านางหอม ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.น้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 20 ไร่ 93 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือยาว 171 เมตร ติดต่อกับที่นาและบ้านอยู่อาศัยของประชาชนทิศใต้ยาว 152 เมตร ติดต่อกับถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว 210 เมตร ติดต่อกับถนนสาธารณะและคลอง ทิศตะวันตกยาว 205 เมตร ติดต่อกับที่นาและบ้านอยู่อาศัย ที่มีธรณีสงฆ์ 3 แปลง เนื้อที่ 20 ไร่ 80 ตารางวา วัดท่านางหอม สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2210 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2323 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร ได้ผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ. 2325 บรรยาย พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ ล้อมด้วยหมู่บ้านและทุ่งนา อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถ กว้าง 20 เมตร ยาว 60 เมตร สร้าง พ.ศ. 2492 โครงหลังคาทำด้วยไม้ มุงกระเบื้องดินเผา หน้าบันเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ มีพญาครุฑและช้างเอราวัณล้อมรอบด้วยลายไทย พื้นปูหินอ่อนมีลวดลาย ล้อมรอบด้วยกำแพงทำด้วยดินเผาเคลือบสีเขียว มีรูปยักษ์ยืนหน้าอุโบสถ ศาลาการเปรียญกว้าง 14 เมตร ยาว 23 เมตร สร้าง พ.ศ. 2504 โครงสร้างหลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันเป็นลายเทพนม กุฎีสงฆ์ จำนวน 9 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ และอาคารไม้ สำหรับปูชนียวัตถุมี พระประธานในอุโบสถ พระเพลากว้าง 2 เมตร สูง 3 เมตร ปางมารวิชัย มีพระสารีบุตร และพระโมคคัลลาน์ ขนาดสูง 1 เมตร พระพุทธรูปในศาลากระเปรียญพระเพลากว้าง 1 เมตร ปางสมาธิ สร้าง พ.ศ. 2505 โดยคณะนางสมบูรณ์ ประธานราษฎร์นิกร นางสงวน รัตนประการ นางพูนสุข ปรีชาพานิช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์ เจดีย์สูง 4 เมตร ก่ออิฐถือปูน บรรจุอัฐอดีตเจ้าอาวาส


วัดโคกสูง


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดโคกสูง ตำบลท่าข้าม วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0840952 ลองจิจูด 100.554141 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดโคกสูง ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ ติดริมถนนกาญจนวนิช ระหว่างทางขึ้นไปหาดใหญ่ครับ สังเกตง่ายๆ ประตูวัดจะดูแปลก แตกต่างจากที่อื่นๆ สีส้มแดงอิฐ สวยงาม ภายในวัดมีการจำลองนรกเอาไว้เตือนสติ และมีพระอุโบสถที่เพิ่งสร้างใหม่สวยงาม แต่ยังไม่เสร็จดี นอกจากนั้นนักท่องเที่ยวที่มาส่วนใหญ่จะเข้าไปนมัสการหลวงพ่อพลัด (พระครูภัทรธรรมรัตน์) ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโคกสูง ซึ่งพ่อท่านพลัด ได้เริ่มสร้างวัดโคกสูง ตั้งแต่ไม่มีอะไรอยู่กลางป่า บุกเบิกจนมีความเจริญ รุ่งเรืองตามลำดับ นับว่าเป็นเพราะบารมีของท่านที่สามารถสร้างวัดให้มีความเจริญได้รวดเร็ว ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย ได้จัดสังขารท่านเอาไว้ในใส่โลงแก้วเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา บรรยาย ประชาชนที่เข้าไปในวัดโคกสูงมักจะเข้าไปนมัสการหลวงพ่อพลัด (พระครูภัทรธรรมรัตน์) ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดโคกสูง ซึ่งพ่อท่านพลัด ได้เริ่มสร้างวัดโคกสูง ตั้งแต่ไม่มีอะไรอยู่กลางป่า บุกเบิกจนมีความเจริญ รุ่งเรืองตามลำดับ นับว่าเป็นเพราะบารมีของท่านที่สามารถสร้างวัดให้มีความเจริญได้รวดเร็ว ท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2541 แต่สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย ได้จัดสังขารท่านเอาไว้ในใส่โลงแก้วเพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชาต่อไป แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากจะมาบอกเล่าเรื่องราวกัน นั่นก็คือ การจำลองนรกไว้ในวัดโคกสูง เมื่อเราได้เข้าไปเห็นการจำลองนรก บอกได้เลยว่า เป็นการเตือนสติเราได้เป็นอย่างดี ถึงการทำกรรมดีกรรมชั่ว


วัดคลองเรียน


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดคลองเรียน ตำบลคอหงส์ วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 6.9999977 ลองจิจูด 100.4844604 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดคลองเรียนตั้งอยู่บ้านเลขที่1 บ้านคลองเรียน ถนนศรีภูวนารถ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วัดคลองเรียนสร้างขึ้นราวปี พ.ศ 2210 ตามคำบอกเล่าเจ้าอาวาสวัดคลองเรียนในแต่ก่อน เดิมวัดนี้เรียกว่า วัดคลองเวียน เนื่องด้วยในอดีตเคยมีลำคลองเวียนรอบวัด ชาวบ้านจึงสร้างชื่อตามลักษณะพื้นที่และต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคลองเรียน และที่สำคัญเอง วัดคองเรียนเป็นวัดแรกในอำเภอหาดใหญ่ และเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนด้วยบรรยาย ในอดีตยังปรากฎพบประติมากรรมเคารพบูชาภายในวิหารรายข้างอุโบสถ ติดถนนศรีภูวนารถ พระสังกัจจาย ถือเป็น 1 ใน ไตรภาคี แห่งพระผู้ดลบันดาลโชคลาภและความมั่งมีศรีสุขให้แก่ผู้นับถือและเคารพบูชา อันประกอบไปด้วย พระสีวลี พระบัวเข็ม หรือพระอุปคต และพระสังกัจจาย โดยรูปลักษณ์ของพระสังจัจจายตามที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันนั้นกล่าวกันว่าท่านเป็นพระเจ้าเนื้อ อ้วนท้วนสมบูรณ์ ใบหูยาว พระพักตร์ค่อนข้างกลมใหญ่ และที่สำคัญคือท่านนั้นพุงพลุ้ย ส่วนสาเหตุที่ท่านต้องพุงพลุ้ยนี่ก็มีความเชื่อสืบเนื่องมาแต่อดีตว่า ในสมัยก่อนมนุษย์บางคนมีความชั่วภายในจิตใจอยู่มากและความชั่วดังกล่าวนี้เองก่อให้เกิดความทุกข์และความเดือดร้อนต่างๆนาๆตามมามากมาย ท่านจึงดึงหรือดูดความไม่ดีดังกล่าวมากักขังไว้ในพุงอันพลุ้ยของท่าน พระสังจัจจายที่ปรากฏอยู่ในวิหารรายข้างอุโบสถวัดคลองเรียนนี้จัดเป็นพระสังกัจจายของทางฝ่ายนิกายหินยานเนื่องด้วยสังเกตดูแล้วท่านมีไรพระเกศาเป็นเม็ดกลม และท่านมีพระพักตร์ที่สงบนิ่ง


วัดคลองเปล


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดคลองเปล ตำบลคอหงส์ วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0407633 ลองจิจูด 100.4978889 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดคลองเปล เดิมเป็นที่พักสงฆ์ เรียกว่า ทุ่งน้ำผุด โดยมีเจ้าคุณพระโสภณพิทยาคุณ (หลวงปู่อุ้ย) ได้ปักกรดถือธุดงค์ อดีตผู้ใหญ่บ้านคงแก้วจังหวัด และชาวบ้านได้ถวายที่ดินจำนวน 25 ไร่ เพื่อสร้างวัด โรงเรียน และป่าช้า หลังจากนั้นพัฒนาเรื่อย ๆ ในอดีตบ้านคลองเปล (น้ำผุด) เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ สมัยก่อนเป็นสถานที่เลี้ยงช้าง วัว และควายอยู่บริเวณเชิงเขา เมื่อผู้คนพบว่าบริเวณนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้เข้ามาตั้งบ้านเรือน และทำมาหากิน สามารถทำการเพาะปลูก ได้ดี เพราะมีลำคลองขนาดเล็ก ๆ ไหลผ่าน เมื่อมีประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่ ชาวบ้านแถบนั้นจึงสังเกตว่า จะมีหญิงสาวคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นลูกหลานบ้านใด รู้แต่ชื่อ "นางเลือดขาว" บางคนก็เรียก "นางผมหอม" เธออาศัยอยู่ถ้ำเชิงเขาบันไดนาง (ห่างจากวัดประมาณ 1 กิโลเมตร) ทุกเช้านางจะออกมาใส่บาตร ทางที่นางลงจากถ้ำมาใส่บาตร เรียกกันว่า "เขาบันไดนาง" ใส่บาตรเสร็จนางก็จะกลับขึ้นไปบนถ้ำ พอเที่ยงวันนางก็จะอาบน้ำ พออาบน้ำเสร็จ นางจะกลับมานั่งเล่นที่เปล บริเวณคลองใกล้หมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะ) จึงเรียกคลองตรงนั้นว่า "คลองเปล" ครั้นอยู่มาภายหลังนางได้หายสาญสูญไปโดยไม่มีใครทราบ นางได้ทิ้งสมบัติมหาศาล ไว้ในที่แห่งนี้ จนบัดนี้ไม่มีใครที่พบเห็นและนำทรัพย์สมบัตินี้ไปได้ ส่วนคำว่า น้ำผุด มาจากบริเวณที่ตั้งวัด มีน้ำผุดขึ้นมาจากดินตลอดทั้งปี


วัดมหัตตมังคลาราม


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดมหัตตมังคลาราม ตำบลควนลัง วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0032359 ลองจิจูด 100.4513775 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) เดิมชื่อ วัดหาดใหญ่ใน เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ. 2479 โดยนายทอง นางฉิ้น ใจเย็น ได้บริจาคที่ดินของตน 1 ไร่ และได้ประชุมตกลงร่วมกับประชาชนชาวบ้านหาดใหญ่ อาราธนาพระมหาคลิ้ง อตฺถจาโร ปัจจุบัน คือ พระครูวิจิตรพรหมวิหาร จากวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ต่อมานายจินต์ รักการดี นายอำเภอหาดใหญ่ (สมัยนั้น) พร้อมประชาชนได้มีจิตศรัทธาบริจาคซื้อที่ดินเพิ่มเติม และสร้างวัดขึ้น ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ต่อมากระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งเป็นวัด วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2490 ให้มีนามว่า “วัดหาดใหญ่ใน” และได้เปลี่ยนนามใหม่เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2523 โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดมหัตตมังคลาราม” เพื่อให้สอดคล้องกับนามพระพุทธไสยาสน์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทาน พร้อมกับพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ประดิษฐานไว้ที่ซุ้มประตูวัด และได้ทรงรับวัดนี้ไว้ในพระราชานุเคราะห์ด้วย ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่รวม 26 ไร่ 2 งาน 26 ตารางวา


วัดม่วงค่อม


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดม่วงค่อม ตำบลควนลัง วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พิกัด ละติจูด 6.9724757 ลองจิจูด 100.3758595 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดม่วงค่อมนั้นสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ 2300 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบถสร้างบูรณะภายหลังในครั้งที่3ต่อมาได้รับพระราชานวิสุงคามธสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ 2360 ในด้านการศึกษา ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัตฎิธรรมแด่พระภิกษุสุสามเณรอีกทั้งได้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลตำบลควนลังจากคำบอกเล่าของพระผู้ใหญ่หลายๆท่านและชาวบ้านได้บอกเล่าสืบต่อกันมาพระอุโบสถของวัดม่วงค่อมนั้นครั้งตอนที่สร้างเป็นหลังแรกตอนสร้างวัดเป็นเพียงเนินดินพูนขึ้นมาใช้ไม้ปักหลักสี่เสาหลังคามุงจากใช้เป็นสัญลักษณะว่าเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์จนในที่สุดได้ทรุโทรมไปตามกาลเวลาจึงเกิดการบูรณะครั้งใหม่ครั้งที่สอง มีความสวยงามและคงทนมากกว่าเดิมอาคารสร้างด้วยไม้ ลักษณะเป็นการพูนดินขึ้นมาหลังคามุงด้วยสังกะสีสันนิฐานว่าการบูรณะครั้งที่สองนี้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากนั้นเมื่อประมาณ พ.ศ 2467 ในสมัยของเจ้าอาวาสท่านอธิการาม ธมมปาโล ได้มีการบูรณะพระอุโบสถขึ้นอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม ด้วยการก่ออิฐถือปูนตามสมัยนิยมถึงปัจจุบัน การสร้างวัดม่วงค่อมเป็นการสร้างวัดขึ้นพร้อมๆกับก่อตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่วัดม่วงค่อมตามประวัติความเป็นมาจากเรื่องของคนโบราณบอกเล่าต่อๆกันมา จากการสอบถามจากผู้ครอบครองหนังสือบุดดำโบราณซึ่งสันนิฐานจากอายุของหนังสือบุดดำเป็นหลักฐานซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีหนังสือบุดำที่ได้มาจากการแจกหนังสือเพื่อเผยแพรให้กับวัดต่างๆเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนา


วัดชัยชนะสงคราม


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดชัยชนะสงคราม วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง 538 ม.3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พิกัด ละติจูด 6.9508832 ลองจิจูด 100.3606866 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดชัยชนะสงคราม ( สำนักปฎิบัติธรรมประจำจังหวัดสงขลา แห่งที่ 10 ) ได้เริ่มก่อตั้ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 2528 โดย พระครูมงคลสุตาภรณ์ ( พระมหาอำนวย ฐานวโร ) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดชัยชนะสงคราม โดยเริ่มก่อสร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ ห้องน้ำห้องส้วม หอฉัน ( โรงครัว ) วิหารกุสินารา อุโบสถ และศาสนสถานอื่น ๆ อีกมากมาย รวมผลงานค่าก่อสร้างถึง พ.ศ. 2547 เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 22 ล้านบาท บรรยากาศโดยรวมภายในวัดค่อนข้างสงบ ร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่มากมาย ปัจจุบันวัดชัยชนะสงคราม เป็นสำนักปฎิบัติธรรมแห่งที่ 10 จังหวัดสงขลา ที่มุ่งสอนให้สาธุชนทุกท่านที่สนใจได้มาฝึกปฏิบัติธรรม เจริญสมถวิปัสนากรรมถาน ฝึกสมาธิ สอนสมาธิ ในแนววิชชาธรรมกาย และมโนมยิทธิ


วัดท่าแซ


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดท่าแซ ตำบลคลองอู่ตะเภา วันที่เก็บข้อมูล 9/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง 46 บ้านท่านแซ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0415643 ลองจิจูด 100.4482766 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดท่าแซ ตั้งอยู่เลขที่ 46 บ้านท่านแซ หมู่ที่ 3 ตำบลคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ตั้งวัดราว 12 ไร่ 10 ตารางวา ในสมัยก่อนภายในตำบลคลองอู่ตะเภายังเป็นตำบล ใหญ่ ประกอบไปด้วย 4 หมู่บ้านซึ่งเป็นมิตรที่ดีต่อกันเนินนานมา ทั้งการติดต่อสื่อสารสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือแม้แต่การค้าขายก็ล้วนเจริญดี โดยในเรื่องของการค้าขายนี่เองที่ปรากฏเป็นจุดก่อกำเนิดชื่อหมู่บ้านว่า “ท่าแซ” คนเฒ่าคนแก่ภายในหมู่ บ้านเล่าสืบกันมาว่า ณ ตำบลคลองอู่ตะเภา ยังมีสถานที่แห่งหนึ่งเป็นชายหาดขนาดใหญ่ที่ซึ่งมีการค้าขายแลกเปลี่ยน สินค้าของคนในพื้นที่ และคนต่างถิ่นกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไม่สอย อาหารการกิน ล้วนมีการซื้อขาย และแลกเปลี่ยนกันอย่างมากมาย ผู้คนมาหน้าหลายตาอาศัยเรือซึ่งบรรทุกพืชผัก และอาหารทะเลมาขายกัน เมื่อมีผู้คนมากเข้าๆเสียงที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันก็ดังเซ็งแซ่ ชาวบ้านในอดีตจึงเรียกชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “บ้านท่าแซ่” เพราะเสียงที่ดังเซ็งแซ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้านที่นี่นั่ง เอง ต่อมานานๆเข้าจึงเรียกเพี้ยนจาก “บ้านท่าแซ่” กลายเป็น “บ้านท่าแซ” ดังปัจจุบัน โดยหมู่ที่ 1 เรียกบ้านท่าแซนอก หมู่ที่ 2 เรียกบ้านท่าแซ หรือบ้านกลาง หมู่ที่ 3 เรียกบ้านท่าแซ หรือบ้านชายคลอง เนื่องด้วยมีอาณาบริเวณส่วนใหญ่ติดกับลำคลองอู่ตะเภานั่นเอง ส่วนหมู่ที่ 4 เรียกบ้านท่าไทร โดยหมู่ที่ 4 นี้ชาวบ้านต้องการตั้งชื่อของหมู่บ้านให้แปลกกว่าบ้านหมู่อื่น(เพื่อจำได้ ง่าย และไม่เป็นการสับสนกับหมู่อื่น) อนึ่ง การที่ตั้งชื่อหมู่ที่ 4 ว่าบ้านท่าไทรนั้น อาจจะเป็นการระลึกถึงต้นไทรใหญ่ที่เคยยืนต้นอยู่ ณ หาดทรายแห่งนี้ก็เป็นได้


วัดอัมพวัน


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดอัมพวัน วันที่เก็บข้อมูล 8/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง อัมพวัน หมู่ 2 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0463246 ลองจิจูด 100.4631366 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) "วัดอัมพวัน" หนึ่งในวัดเก่าแก่ของเมืองหาดใหญ่ ตั้งอยู่แถวๆ คลองแห วัดที่มีหนูนุ้ยกับลุงเท่งยืนเฝ้าซุ้มประตูวัด คอยต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่เข้ามายังวัด หรือ ผู้ที่ที่ขับรถผ่านไปผ่านมาแถวนั้น วัดแห่งนี้เป็นที่เคารพนับถือของคนในพื้นที่ ไม่แพ้วัดคลองแห ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่น อีกทั้งวัดยังอยู่ในเขตชานเมือง ทำให้ดูสงบไม่วุ่นวาย "วัดอัมพวัน" มีอีกชื่อที่ผู้คนเรียกขานกันว่า "วัดม่วงสาวตีอก" เนื่องจากเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ บริเวณที่ตั้งของวัดในปัจจุบัน เคยมีต้นมะม่วงต้นใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ชาวบ้านและลูกเด็กเล็กแดง ชอบพากันมาเก็บลูกมะม่วง วันหนึ่งมีสาวๆ วัยแรกแย้ม พากันมาเก็บลูกมะม่วง ด้วยความที่อยากกินมะม่วงมาก สาวคนหนึ่งรีบเก็บลูกมะม่วง แล้วรับประทานทันที ผลปรากฏว่าลูกมะม่วงไปติดคอนางเข้า ตัวนางเองจึงรีบเอามือทุบหน้าอกของตนเอง เพื่อให้ลูกมะม่วงหลุดออกมา เพื่อนๆ ต่างพากันช่วยทุบ บางตำนานบอกว่านางรอดตาย บางตำนานบอกว่านางตายเพราะลูกมะม่วงติดคอ จริงเท็จแค่ไหนเราก็ไม่สามารถทราบได้ บางทีอาจจะเป็นเพียงเรื่องเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ หรือ บางทีอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ท้ายที่สุดแล้วตำนานดังกล่าว ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวัดอัมพวันไปเป็นที่เรียบร้อย เผลอ "วัดม่วงสาวตีอก" จะกลายเป็นชื่อที่ฟังคุ้นหูกว่าชื่อวัดจริงๆ เสียอีก


วัดคลองแห


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดคลองแห วันที่เก็บข้อมูล 8/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง บ้านคลองเตย หมู่ 4 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พิกัด ละติจูด 7.0447463 ลองจิจูด 100.4722737 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดคลองแห สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2260 พระอธิการ กลิ่น ได้บริจาคที่ดินมรดกจากบรรพบุรุษให้เป็นที่สร้างวัด และได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดคลองแหได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2450 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 25 เมตร ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 31 ไร่ 1 งาน 11 ตารางวา ที่ดินตั้งวัดเป็นของพระอธิการยกกลิ่น เจ้าอาวาสรูปแรกได้รับมรดกจากบรรพบุรุษบริจาคให้เป็นที่สร้างวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ. 2450 บรรยาย เจดีย์ชเวดากอง ชาวพม่าที่เข้ามาทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ร่วมกันสร้างเจดีย์ ไทย – พม่า ถวายวัดคลองแห โดยใช้เงินบริจาคจำนวนเกือบ 10 ล้านบาท ซึ่งเงินบริจาคจากชาวเมียนมาร์ในจังหวัดสงขลา และใกล้เคียง รวมถึงชาวเมียนมาร์จากประเทศสิงคโปร์ก็มาร่วมบริจาคด้วย เจดีย์ชเวดากองเป็นเจดีย์องค์แรกที่ชาวพม่าสร้างขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมใจของชาวพม่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ชาวพม่าได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารทำมาหากินอยู่ในประเทศไทย และซึ้งในความมีน้ำใจของคนไทยที่ชาวพม่าเข้ามาอยู่ และทำงานอย่างมีความสุข นายชิงโค ชาวพม่า ผู้คุมงานก่อสร้าง ซึ่งนายชิงโคได้กล่าวไว้ว่า “ผมไม่ได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เพียงแค่รับอาสาเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้าง และร่วมก่อสร้าง โดยไม่รับค่าจ้างใดๆ ทั้งสิ้น ยอมทิ้งงานรับจ้างทั้งหมด และอุทิศตนในการสร้างเจดีย์ชเวดากอง เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย ยังมีนายช่างคนอื่นๆ และแรงงานทั้งหมดมากกว่า 20 คน ก็เสียสละเวลาโดยไม่รับค่าตอบแทนเช่นกัน” ส่วนที่นายชิงโคอาสาเข้ามาควบคุมการก่อสร้าง และร่วมก่อสร้างเจดีย์ชเวดากองในครั้งนี้ เนื่องจากตัวเองมีความรู้ทางด้านการก่อสร้างเจดีย์ ที่สืบทอดจากคุณปู่ ที่เป็นช่างก่อสร้างเจดีย์ในเมียนมาร์ ที่มีผลงานก่อสร้างเจดีย์ในเมียนมาร์หลายแห่ง โดยติดตามคุณปู่ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ นี่คือพลัง และศรัทธา ของชาวเมียนมาร์ ที่มีต่อเจดีย์ชเวดากอง ขนาดและลักษณะ เจดีย์ชเวดากอง ขนาดตัวองค์เจดีย์มีขนาดกว้าง 20 เมตร สูง 17 เมตร ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุมหาธาตุเจดีย์ชเวดากอง ที่ตั้งอยู่เนินเขาเชียงกุตระ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า


วัดสุวรรณคีรี


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดสุวรรณคีรี ตำบลหัวเขา วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1949462 ลองจิจูด 100.5762707 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดสุวรรณคีรีมีความต่อเนื่องกันในด้านการวางผังและภูมิสถาปัตยกรรม มีการทำกำแพงกันดินด้วยหินภูเขา ใน 3 ระดับ มีทางเดินและบันไดเชื่อมต่อกันระหว่างวัดปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวโบราณ ซึ่งมีลวดลายในเนื้อกระเบื้องอันเป็นเอกลักษณ์กระเบื้องดินเผาเกาะยอนับเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญทั้งในด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและทรงคุณค่า พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม มีเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นศิลปะอิทธิพลตะวันตก เจดีย์จีนทำด้วยหินแกรนิต หอระฆัง ซุ้มเสมาประดับด้วยปูนปั้นละเอียดงดงาม อีกทั้งองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง วัดสุวรรณคีรีหรือวัดออกเป็นวัดที่ใช้ทำพิธีถือน้ำสาบานหรือน้ำพิพัฒน์สัตยาอธิษฐานของบรรดาเหล่าข้าราชการเมืองสงขลาในช่วงปี พ.ศ. 2379 หรือในช่วงที่เมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ท่าแหลมสนการที่ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดออก" มาจากตัววัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ่อทรัพย์ วัดภูผาเบิก และวัดสิริวรรณาวาส วัดสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) พระยาวิเชียรคีรีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 6 เคยอธิบายถึงผู้สร้างวัดแห่งนี้ผ่านโคลงกลอนบทหนึ่งซึ่งทำให้ทราบว่าวัดสุวรรณคีรี สร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลาคนใดคนหนึ่งระหว่างหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ(เหยียง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 1 (พ.ศ. 2319-2322) หรือหลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 2 (พ.ศ. 2322-2355) เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพเขียนสีที่เขียนที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง (ปัจจุบันภาพส่วนมากลบเลือนไปตามกาล) อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีหอระฆัง และเจดีย์หินสถาปัตยกรรมแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณรอบพระอุโบสถ สำหรับหอระฆังของวัดสุวรรณคีรีทางกรมศิลปากรได้ให้ข้อมูล ไว้ว่าหอระฆังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นตัวอาคารที่ก่อด้วยปูน มีทั้งหมดสองชั้นชั้นล่างก่อทึบ ชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง อาคารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะที่รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น การทำซุ้มประตูอาร์ตโค้งที่ชั้นล่างซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน ซึ่งเป็นอิทธิพลของตะวันตกในช่วงปลายของรัชกาลที่ 3 ส่วนเจดีย์หินหรือถะศิลาด้านหน้าอุโบสถ มีลักษณะสำคัญคือด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคาร 6 ชั้น และอยู่ในผัง 8 เหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ถะคือสถูปทรงอาคารซึ่งเป็นศิลปะแบบเฉพาะของชาวจีน ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ในชั้นที่ 2 ปรากฏจารึกภาษาจีนอ่านว่า "เจียงชิ่งซื่อเหนียน" แปลว่าปีที่ 4 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง อยู่ในปี พ.ศ. 2342 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ของไทย โบราณสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเจดีย์หน้าวัดสุวรรณคีรี เจดีย์แห่งนี้ชาวบ้านล่ำลือกันว่าหินที่ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้งอกขึ้นมาเอง ต่อมาพระและชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะใหม่มีการทาสีให้ดูสวยงาม รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ มีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำประนมมืออยู่ภายในวงกลม บรรยาย พระอุโบสถวัดวุวรรณคีรีตั้งอยู่บนลานที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีช่องประตูหน้า 2 ช่อง ตรงกลางมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพร มีหน้าต่าง 7 ช่อง มีบันไดทางขึ้น 4 ด้านแต่ละบันไดมีรูปสิงโตจำหลักหิน 2 ตัว รวมเป็น 8 ตัว อยู่ตรงด้านยาวของอาคารทั้ง 2 ด้านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ชั้นฐานประกอบด้วยหน้ากระดาษ 1 ชั้น สำหรัคบเสาพาไลในปัจจุบันได้บูรณะใหม่ทั้งหมดโดยใช้และคานเสริมเหล็ก แทนเสาและผนังอิฐแบบของเดิม ตัวอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้างประมาณ 8.25 เมตร ยาว 15.90 เมตร อุโบสถมีประตู 4 ประตู ด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู ด้านหน้ามีตุ๊กตาจีนเฝ้า 2 ตัว หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้และสัตว์ป่า เช่น กระจง กระรอก และ ประดับด้วยเครื่องถ้วยเครื่องชามจีนอย่างสวยงาม ภายในอุโบสถมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา 2 แถว แถวละ 6 ต้น บัวหัวเสาเป็นรูปบัวเหลี่ยมแบบศิลปะโคธิคของชาติตะวันตก สำหรับพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยขนาดใหญ่จำนวน 3 องค์ มีรูปพระสาวกพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ซ้ายขวาตามลำดับ ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทะรูปอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปบุเงินปางอุ้มบาตร 1 องค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร ปางห้ามมาร พระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่า 2 องค์ และพระพุทธรูปจำหลักไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นจำนวนมาก ฝาผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน สมัยก่อนมีจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างเป็นเรื่องทศชาติ ตอนบนเป็นเรื่องพุทธประวัติแต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังถูกน้ำฝนลบเลือนเกือบหมดแล้ว เหลือเพาะผนังด้านหลังพระประธานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ วิมานปราสาทนางฟ้าเทพบุตรลอยอยู่ตามหมู่เมฆ เรียงเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จนชั้นสูงสุดเป็นภาพปราสาทใหญ่ พระอุโบสถของวัดสุวรรณคีรีเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทั้งส่วนผนังและหน้ายันกรอบ หน้าบันลดรูปไม่มีการประดับช่อฟ้า ในระกาและหางหงส์ กลางหน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาสลับดอกไม้โดยเกสรของดอกไม้แต่ละดอกแทนด้วยภาชนะเครี่องเคลือบทั้งนี้การประดับหน้าบันและฝังภาชนะกระเบื้องเคลือบ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ลักษณะของประตูและหน้าต่างของอุโบสถสร้างแบบเรียบง่ายไม่มีการประดับสิ่งใด ๆ ส่วนด้านนอกอุโบสถมีการประดับด้วยซุ้มเสมาสร้างด้วยหินแกรนิต ลักษณะศิลปะแบบจีน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ภายในเป็นเสมาหินแกรนิตแบบเสมาคู่ปักอยู่ซุ้มใบเสมาทั้งแปดทิศ ซึ่งเป็นพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าประตูทางเข้าของอุโบสถมีการประดิษฐานประติมากรรมศิลารูปทหารจีน ทั้งนี้น่าสังเกตว่าเนื้อศิลามีสำดำสลับเทาและขาว ฝีมือช่างแกะสลักริ้วผ้าค่อนข้าวเป็นลอนคลื่น แต่ไม่ค่อยแกะสลักลวดลายรายละเอียดมากนัก ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงงานประติมากรรมศิลาในมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งนี้ประติมากรรมจากแหล่งดังกล่าวน่าจะเป็นที่นิยมเพราะปรากฏในวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น วัดมัชฌิมาวาส เป็นต้น ประติมากรรมรูปบุคคลดังกล่าวแต่งชุดทหารจีนหน้าตาถมึงทึงและถือดาบเป็นอาวุธ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนด้ามเท่านั้น ทั้งนี้เทพเจ้าจีนที่แต่งชุดทหารและถืออาวุธมีอยู่หลายองค์อาจหมายถึงฉินซูเป่า และหยู่ฉือจิ้งเต๋อ ซึ่งเป็นเทพประตูที่นิยมในหมู่ชาวจีนก็เป็นได้


วัดบ่อทรัพย์


ชื่อแหล่งข้อมูล วัดบ่อทรัพย์ ตำบลหัวเขา วันที่เก็บข้อมูล 2/04/2564 ที่อยู่ หรือที่ตั้ง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สงขลา พิกัด ละติจูด 7.1925553 ลองจิจูด 100.5733213 รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ) วัดบ่อทรัพย์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สันนิษฐานว่าสร้างประมาณ พ.ศ.2360 สมัย รัตนโกสินทร์ตอนต้น โบราณสถานภายในวัดบ่อทรัพย์ประกอบด้วยพระอุโบสถ ซึ่งได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2400 นอกจากนั้นยังประกอบด้วย กุฏิไม้โบราณ บัวเก็บกระดูกและบ่อน้ำพื้นเมืองขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าวัดมีขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 7 เมตร เรียกว่า “บ่อซับ” เป็นบ่อน้ำที่ซึมซับลงมาจากภูเขาอันเป็นที่มาของชื่อ “วัดบ่อทรัพย์” วัดบ่อทรัพย์ได้รับการขุดแต่งและบูรณะโดยหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2535