วัดสุวรรณคีรี

ชื่อแหล่งข้อมูล		วัดสุวรรณคีรี ตำบลหัวเขา
วันที่เก็บข้อมูล		2/04/2564
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร สงขลา 
พิกัด ละติจูด		7.1949462
ลองจิจูด		       100.5762707
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	วัดสุวรรณคีรีมีความต่อเนื่องกันในด้านการวางผังและภูมิสถาปัตยกรรม มีการทำกำแพงกันดินด้วยหินภูเขา ใน 3 ระดับ มีทางเดินและบันไดเชื่อมต่อกันระหว่างวัดปูด้วยกระเบื้องหน้าวัวโบราณ ซึ่งมีลวดลายในเนื้อกระเบื้องอันเป็นเอกลักษณ์กระเบื้องดินเผาเกาะยอนับเป็นตัวอย่าง ที่สำคัญทั้งในด้านสถาปัตยกรรม และภูมิสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจและทรงคุณค่า พระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังที่งดงาม มีเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นศิลปะอิทธิพลตะวันตก เจดีย์จีนทำด้วยหินแกรนิต หอระฆัง ซุ้มเสมาประดับด้วยปูนปั้นละเอียดงดงาม อีกทั้งองค์ประกอบทางภูมิสถาปัตยกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างยิ่ง วัดสุวรรณคีรีหรือวัดออกเป็นวัดที่ใช้ทำพิธีถือน้ำสาบานหรือน้ำพิพัฒน์สัตยาอธิษฐานของบรรดาเหล่าข้าราชการเมืองสงขลาในช่วงปี พ.ศ. 2379 หรือในช่วงที่เมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ท่าแหลมสนการที่ชาวบ้านเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดออก" มาจากตัววัดสุวรรณคีรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดบ่อทรัพย์ วัดภูผาเบิก และวัดสิริวรรณาวาส วัดสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) พระยาวิเชียรคีรีเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 6 เคยอธิบายถึงผู้สร้างวัดแห่งนี้ผ่านโคลงกลอนบทหนึ่งซึ่งทำให้ทราบว่าวัดสุวรรณคีรี สร้างขึ้นโดยเจ้าเมืองสงขลาคนใดคนหนึ่งระหว่างหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ(เหยียง ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 1 (พ.ศ. 2319-2322) หรือหลวงสุวรรณคีรี (บุญฮุย ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาคนที่ 2 (พ.ศ. 2322-2355) เป็นวัดสำคัญประจำเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังภาพเขียนสีที่เขียนที่สวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง (ปัจจุบันภาพส่วนมากลบเลือนไปตามกาล) อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีหอระฆัง และเจดีย์หินสถาปัตยกรรมแบบจีน (ถะ) ตั้งอยู่บริเวณรอบพระอุโบสถ สำหรับหอระฆังของวัดสุวรรณคีรีทางกรมศิลปากรได้ให้ข้อมูล ไว้ว่าหอระฆังด้านหน้าพระอุโบสถเป็นตัวอาคารที่ก่อด้วยปูน มีทั้งหมดสองชั้นชั้นล่างก่อทึบ ชั้นบนก่อโปร่ง มีการเจาะช่องหน้าต่างเป็นรูปวงรีทั้งสี่ด้าน ภายในแขวนระฆัง อาคารดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะที่รับอิทธิพลจากตะวันตก เช่น การทำซุ้มประตูอาร์ตโค้งที่ชั้นล่างซุ้มหน้าต่างทรงรูปไข่ที่ชั้นบน ซึ่งเป็นอิทธิพลของตะวันตกในช่วงปลายของรัชกาลที่ 3 ส่วนเจดีย์หินหรือถะศิลาด้านหน้าอุโบสถ มีลักษณะสำคัญคือด้านล่างเป็นฐานเขียง รองรับส่วนกลางซึ่งมีรูปทรงเหมือนอาคาร 6 ชั้น และอยู่ในผัง 8 เหลี่ยม ด้านบนสุดประดับปล้องไฉน ทั้งนี้ถะคือสถูปทรงอาคารซึ่งเป็นศิลปะแบบเฉพาะของชาวจีน ที่ได้มีการพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง ในชั้นที่ 2 ปรากฏจารึกภาษาจีนอ่านว่า "เจียงชิ่งซื่อเหนียน" แปลว่าปีที่ 4 แห่งรัชสมัยพระเจ้าเจียชิ่ง อยู่ในปี พ.ศ. 2342 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ของไทย โบราณสถานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเจดีย์หน้าวัดสุวรรณคีรี เจดีย์แห่งนี้ชาวบ้านล่ำลือกันว่าหินที่ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้งอกขึ้นมาเอง ต่อมาพระและชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะใหม่มีการทาสีให้ดูสวยงาม รอบ ๆ ฐานพระเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ มีรูปพระสาวกปูนปั้นนูนต่ำประนมมืออยู่ภายในวงกลม
บรรยาย 
	พระอุโบสถวัดวุวรรณคีรีตั้งอยู่บนลานที่สูงกว่าพื้นที่โดยรอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีช่องประตูหน้า 2 ช่อง ตรงกลางมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางประทานพร มีหน้าต่าง 7 ช่อง มีบันไดทางขึ้น 4 ด้านแต่ละบันไดมีรูปสิงโตจำหลักหิน 2 ตัว รวมเป็น 8 ตัว อยู่ตรงด้านยาวของอาคารทั้ง 2 ด้านทั้งด้านหน้าและด้านหลัง  ชั้นฐานประกอบด้วยหน้ากระดาษ 1 ชั้น สำหรัคบเสาพาไลในปัจจุบันได้บูรณะใหม่ทั้งหมดโดยใช้และคานเสริมเหล็ก แทนเสาและผนังอิฐแบบของเดิม ตัวอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดกว้างประมาณ 8.25 เมตร ยาว 15.90 เมตร อุโบสถมีประตู 4 ประตู ด้านหน้า 2 ประตู ด้านหลัง 2 ประตู ด้านหน้ามีตุ๊กตาจีนเฝ้า 2 ตัว หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้และสัตว์ป่า เช่น กระจง กระรอก และ ประดับด้วยเครื่องถ้วยเครื่องชามจีนอย่างสวยงาม ภายในอุโบสถมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา 2 แถว แถวละ 6 ต้น บัวหัวเสาเป็นรูปบัวเหลี่ยมแบบศิลปะโคธิคของชาติตะวันตก สำหรับพระประธานก่อด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัยขนาดใหญ่จำนวน 3 องค์ มีรูปพระสาวกพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ซ้ายขวาตามลำดับ ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทะรูปอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปบุเงินปางอุ้มบาตร 1 องค์ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ปางห้ามสมุทร ปางห้ามมาร พระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่า 2 องค์ และพระพุทธรูปจำหลักไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นจำนวนมาก ฝาผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน สมัยก่อนมีจิตรกรรมฝาผนังตอนล่างเป็นเรื่องทศชาติ ตอนบนเป็นเรื่องพุทธประวัติแต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังถูกน้ำฝนลบเลือนเกือบหมดแล้ว เหลือเพาะผนังด้านหลังพระประธานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเขียนเป็นภาพสวรรค์ชั้นต่าง ๆ วิมานปราสาทนางฟ้าเทพบุตรลอยอยู่ตามหมู่เมฆ เรียงเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป จนชั้นสูงสุดเป็นภาพปราสาทใหญ่ พระอุโบสถของวัดสุวรรณคีรีเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทั้งส่วนผนังและหน้ายันกรอบ หน้าบันลดรูปไม่มีการประดับช่อฟ้า ในระกาและหางหงส์ กลางหน้าบันเป็นงานปูนปั้นลายพันธุ์พฤกษาสลับดอกไม้โดยเกสรของดอกไม้แต่ละดอกแทนด้วยภาชนะเครี่องเคลือบทั้งนี้การประดับหน้าบันและฝังภาชนะกระเบื้องเคลือบ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากนี้ลักษณะของประตูและหน้าต่างของอุโบสถสร้างแบบเรียบง่ายไม่มีการประดับสิ่งใด ๆ ส่วนด้านนอกอุโบสถมีการประดับด้วยซุ้มเสมาสร้างด้วยหินแกรนิต ลักษณะศิลปะแบบจีน ตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ภายในเป็นเสมาหินแกรนิตแบบเสมาคู่ปักอยู่ซุ้มใบเสมาทั้งแปดทิศ ซึ่งเป็นพุทธศิลป์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านหน้าประตูทางเข้าของอุโบสถมีการประดิษฐานประติมากรรมศิลารูปทหารจีน ทั้งนี้น่าสังเกตว่าเนื้อศิลามีสำดำสลับเทาและขาว ฝีมือช่างแกะสลักริ้วผ้าค่อนข้าวเป็นลอนคลื่น แต่ไม่ค่อยแกะสลักลวดลายรายละเอียดมากนัก ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงงานประติมากรรมศิลาในมณฑลฝูเจี้ยน ทั้งนี้ประติมากรรมจากแหล่งดังกล่าวน่าจะเป็นที่นิยมเพราะปรากฏในวัดอื่น ๆ ด้วย เช่น วัดมัชฌิมาวาส เป็นต้น ประติมากรรมรูปบุคคลดังกล่าวแต่งชุดทหารจีนหน้าตาถมึงทึงและถือดาบเป็นอาวุธ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงส่วนด้ามเท่านั้น ทั้งนี้เทพเจ้าจีนที่แต่งชุดทหารและถืออาวุธมีอยู่หลายองค์อาจหมายถึงฉินซูเป่า และหยู่ฉือจิ้งเต๋อ ซึ่งเป็นเทพประตูที่นิยมในหมู่ชาวจีนก็เป็นได้