วัดโคกเปี้ยว

ชื่อแหล่งข้อมูล		วัดโคกเปี้ยว ตำบลเกาะยอ
วันที่เก็บข้อมูล		2/04/2564
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		ตำบล เกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา สงขลา
พิกัด ละติจูด		7.1493838
ลองจิจูด		       100.5372569
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	วัดโคกเปี้ยว สร้างขึ้นตั้งแต่ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2425 พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบลุ่มอยู่ริมทะเล มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา สมัยรัชกาลที่  5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  โดยมี  นายรอด ทีปรักษาพันธุ์  เป็นผู้ริเริ่มดำเนินการ  เดิมเรียกว่า “ วัดโคกขี้เปี้ยว ” ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมหลวงวชิรญาวโรส  ทรงรับสั่งให้เปลี่ยนนามใหม่เป็น “ วัดโคกเปี้ยว ”  วัดแห่งนี้ติดทะเลสาบสงขลาทำให้สงบร่มรื่นตั้งบนเกาะยอ  มีพระพุทธรูปประทับยืนเนื้อสัมฤทธิ์  ชาวบ้านเรียกนามว่า “ พ่อแก่ ”  สำหรับวัดโคกเปี้ยวมีความสัมพันธ์กับพระราชมุนีเขากุด  หรือสมเด็จเจ้าเกาะยอ  ถือกำเนิดสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน ได้ไปออกธุดงค์  ไปที่เมืองสทิงพระ  ที่นี่ท่านได้พบกับสมเด็จเจ้าพะโคะ หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอ และสมเด็จเจ้าพะโคะได้ออกเดินทางธุดงค์ไปด้วยกันจนไปพบสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ โดยสมเด็จเจ้าเกาะยอ สมเด็จเจ้าพระโคะ และสมเด็จเจ้าเกาะใหญ่ ได้สร้างสมบารมีมาด้วยกันในชาติปาง ต่อมาถึงคราวต้องแยกย้ายจากกัน สมเด็จเจ้าเกาะยอได้ขึ้นฝั่งที่บ้านแหลมพ้อ ตำบลเกาะยอ  อำเภอเมืองสงขลา  จังหวัดสงขลา  ปักกลดจำพรรษาอยู่ที่บนภูเขาลูกหนึ่ง ในค่ำคืนหนึ่งขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่นั้น เกิดนิมิตเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลอยลงมายังยอดเขา ตรัสว่าต่อไปบนยอดเขาแห่งนี้จะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี้ และให้สร้างรูปเหมือนจำลองตถาคตประดิษฐานไว้บนยอดเขาลูกนี้ด้วย และให้ทำพิธีสักการะบูชาในวันวิสาขบูชา  วันเพ็ญเดือน  6  ของทุกปี  ให้ตั้งชื่อเขาลูกนี้ว่า “ เขากุด ”  หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าเกาะยอได้สร้างพระพุทธรูปจำลองแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บนยอดเขา  ท่านได้จำพรรษาอยู่บนยอดเขาเป็นเวลานาน  ได้ช่วยเหลือชาติบ้านเมืองและประชาชนบริเวณเกาะยอให้ความเคารพบูชามาก  สมเด็จพระเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงเห็นว่า สมเด็จเจ้าเกาะยอเป็นผู้มีบุญญาธิการสูง จึงได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชมุนีเขากุด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ สมเด็จเจ้าเกาะยอ ”  หรือ “ สมเด็จเจ้าเขากุด ”  เมื่อมรณภาพแล้วชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูนเก็บอัฐิธาตุของท่านไว้บนยอดเขากุด  ในบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูปจำลอง  ปรากฏหลักฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้