เครื่องใช้เจ้าหลวงเมืองลำปาง


เครื่องใช้ของเจ้าหลวงลำปาง จานกระเบื้องเซรามิกเขียนลาย และช้อนเงินตัวอย่างของเครื่องใช้ของเจ้านายสายสกุลลำปางที่นำมาจัดแสดงให้ชมได้รับมอบจากวัดม่อนคีรีชัย


เมืองนครลำปาง


เมืองนครลำปาง ถือเป็นเมืองรุ่นที่ 3 ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำกับเมืองทั้ง 2 มีเจ้าเมืองกาวิละเป็นผู้ครองเมืองคนที่ 3 และได้เลื่อนมาเป็นผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ก็ได้นำข้าบ้านและผู้สวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์แห่งสยามเพื่อให้ช่วยต่อสู้กับพม่า นับตั้งแต่นั้นมา ล้านนาจึงมีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของสยามโดยมีนครลำปางอยู่ในฐานะเมืองเครือญาติกับเชียงใหม่


เวียงลครหรือเมืองนคร


เมืองลคร หรือเมืองนครเป็นเมืองโบราณรุ่นที่ 2 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ขิงเขลางค์นคร มีประวัติเล่าว่าเมื่อพระยามังรายแห่งอาณาจักรล้านนาสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีในปี พ.ศ. 1839 ก็ได้เริ่มแผ่อำนาจครอบคลุมดินแดนล้านนา ยกกองทัพเข้าตีเมืองสำคัญต่างๆ ที่ไม่ยอมอยู่ใต้พระราชอำนาจรวมถึงเขลางค์นคร เมื่อตีได้สำเร็จ พระยามังรายได้แต่งตั้งให้ชาวลัวะเป็นเจ้าเมือง ซึ่งเจ้าเมืองได้ชักชวนชาวเมืองให้สร้างเมืองรุ่นที่ 2 นี้ขึ้นโดยมีศูนย์กลางเมืองคือวัดศรีจอมไคล (วัดเชียงภูมิ) หรือวัดปงสนุกในปัจจุบัน


เมืองเขลางค์นคร


เมืองเขลางค์ เป็นเมืองรุ่นแรกของลำปาง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำวังด้านทิศตะวันตก ตามตำนานเล่าว่าเมื่อพระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชยได้ยกเมืองหริภุญไชยให้พระเจ้ามหันตยศโอรสองค์ใหญ่ปกครอง ก็ได้โปรดฯให้สร้างเมืองเขลางค์นครขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อให้พระเจ้าอนันตยศโอรสองค์น้องมาปกครอง ในสมัยอาณาจักรหริภุญไชยเรืองอำนาจเขลางค์นครจึงมีฐานะเป็นเมืองสำคัญรองจากหริภุญไชย


ตำนานเจ้าแม่สุชาดา


เจ้าแม่สุชาดา ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ชอบไปทำบุญที่วัด โดยมักนำผลแตงโมไปถวาย หลังบ้านของนางนั้นเป็นสวนแตงโม มีแตงโมอยู่ลูกหนึ่งเมื่อผ่าออกมา นางสุชาดาได้พบกับหินหยกหรือที่คนไทยนิยมเรียกแก้วมรกต จึงได้นำไปถวายให้แด่พระภิกษุรูปหนึ่ง พระภิกษุเห็นว่าเป็นวัสดุมีค่าควรนำไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ กระทั่งคืนนั้นพระอินทร์ได้ปลอมตัวเป็นคนแก่นุ่งผ้าขาวช่วยเนรมิตองค์พระปฏิมาจนงดงาม และได้แกะสลักออกมาเป็นรูปพระแก้วมรกตที่งดงามจากนั้นนางสุชาดาและพระภิกษุ ตั้งใจจะนำไปไว้ในวิหารของวัด แต่กลับมีชาวบ้านชุบซิบนินทา แอบนำความไปเพ็ดทูลให้เจ้าเมืองทราบว่า ทั้งสองประพฤติตัวไม่เหมาะสมลักลอบเป็นชู้กัน นางสุชาดาถูกจับเข้าหลักประหารในฐานะมารพระศาสนา ก่อนเพชฌฆาตจะลงดาบ นางได้อธิษฐานจิตว่าแม้นว่าทำผิดจริงขอให้เลือดหลั่งลงสู่พื้นดิน แต่หากนางเป็นผู้บริสุทธิ์ขอให้เลือดไหลพุ่งขึ้นสู่ฟ้า พร้อมกับสาปแช่งเจ้าเมืองที่สั่งประหารนาง จากนั้นเพชฌฆาตก็ได้บั่นคอนางสุชาดา และก็ได้เห็นว่าเลือดพุ่งขึ้นว่า เพชฌฆาตจึงไปทูลกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองโศกเศร้าและขาดใจตาย