งานว่าวประเพณีจังหวัดสตูล

รายละเอียด

 	สำหรับจังหวัดสตูลแล้ว นอกจากเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านธรรมชาติ ประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายและที่โด่งดังและรู้จักทั่วนานาชาติ ก็คือ ‘งานว่าวประเพณีจังหวัดสตูล’ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ 
 	กล่าวคือ ‘งานว่าวประเพณีจังหวัดสตูล’ เกิดจากดำริของคณะครูโรงเรียนสตูลวิทยา บุคคลสำคัญ ที่ถือได้ว่าเป็นผู้ริเริ่มการแข่งขันและการละเล่นว่าวควายของสตูล นายกลั่น มุสิกะประยูร นายเปรม บัวเพ็ชร์ นายจัด มีบุญ นายภักดิ์ เทพเกลี้ยง และ นายนพ ชูสิงห์ ครูโรงเรียนอนุบาลสตูล คณะครูดังกล่าวได้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านวัดหน้าเมืองบ้านคลองขุดและบ้านท่าจีนนิยมเล่นว่าวกันมาก จึงคิด ชักชวนชาวบ้านละแวกนั้นมาเล่นว่าว บริเวณสนามบินของกองทัพอากาศตำบลคลองขุด 
 	วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ คณะครูโรงเรียนสตูลวิทยา ระดมผู้คนที่สนใจการแข่งขันว่าวได้จำนวนนับร้อยคน นับว่าเป็นครั้งแรกของการจัดแข่งว่าว ต่อมาจังหวัดสตูลจึงได้จัดให้การแข่งขันว่าว เป็นประเพณีของจังหวัดสตูลขึ้น ซึ่งจะจัดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีการแข่งขัน ว่าวขึ้นสูง ว่าวเสียงดัง ว่าวสวยงาม และการประกวดแข่งขันการทำว่าวมีนักแข่งว่าวจากจังหวัดใกล้เคียงและจากประเทศมาเลเซียเข้าร่วมแข่งขัน 
 	ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ จังหวัดสตูลได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันว่าวนานาชาติโดยมีประเทศต่างๆ ที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งนายอิทธิพล ภานุวัฒน์ภิญโญ ครูโรงเรียนสตูลวิทยา เป็นผู้ประสานงานกับต่างชาติให้มาเข้าร่วมแข่งขัน โดยใช้ชื่องานว่าการแข่งขันว่าวนานาชาติครั้งที่ ๑ นับได้ว่าจังหวัดสตูลได้เป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในการจัดงานครั้งนี้มีการแสดง “ระบำว่าวควาย” พิธีเปิดงานว่าวเป็นครั้งแรก เป็นการแสดงหนึ่งเดียวของประเทศเทศไทย ผู้คิดค้น ระบำว่าวควาย คืออาจารย์สุรัสดา รักษ์ยศ ครูนาฏศิลป์ โรงเรียนสตูลวิทยาในขณะนั้น ประดิษฐ์คิดค้นดนตรีและท่ารำ ที่สวยงามให้กับนางพญาว่าวควายและบริวาร อย่างสง่างาม มีมนต์ขลัง ยากจะหาผู้ใดเทียบได้จนสืบสานมาถึงปัจจุบัน