ดาระ : วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมุสลิม

รายละเอียด

	การละเล่นพื้นบ้าน เป็นการเล่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณของทุกจังหวัด การเล่นเริ่มมาตั้งแต่กาลครั้งไหน คงไม่มีใครทราบได้ จะมีการละเล่นแสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะของชนชาติหรือท้องถิ่นนั้นๆ การละเล่นมีหลายอย่างต่างๆ กัน สะท้อนภาพของสังคมไทยในด้านต่างๆ เช่น สภาพความเป็นอยู่ อาชีพ
	การละเล่นของจังหวัดสตูลไม่สามารถลำดับให้เห็นพัฒนาการตามกาลเวลาได้อย่างชัดเจนทั้งนี้สมัยก่อนจะเรียนรู้การละเล่นโดยไม่มีการเรียนการสอน ถ่ายทอดเข้าสู่กระแสชีวิตโดยการจดจำสืบต่อกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะใช้เป็นข้อมูลในการสร้างลำดับอายุสมัยของการละเล่นแต่ละอย่างได้ 
	การละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดสตูลมีหลายอย่าง ที่เป็นที่นิยมเล่น ในหมู่บ้าน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องผ่านวัยเด็กมาแล้วกันทั้งนั้น หรือบางคนอาจจะกำลังอยู่ในช่วงนี้ก็ได้ แต่ในปัจจุบันสังคม มีการเปลี่ยนแปลงไปทำให้การละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดสตูลนั้นเลือนหายไปจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนรุ่นต่อมาอาจไม่ทราบถึงการละเล่นของจังหวัดสตูลที่สนุกสนาน เพราะไม่รู้ถึงวิธีการเล่นและประโยชน์ของการละเล่นพื้นบ้าน จึงควรบันทึกการละเล่นของ จังหวัดสตูลที่เป็นหนึ่งเดียวของประเทศไทยเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการละเล่นของหมู่บ้านและสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กำลังจะสูญหายให้เป็นที่รู้จักเพื่อชนรุ่นหลังสืบไป
 
ดาระ : ศิลปะการแสดงพื้นบ้านสตูล
	ดาระ เป็นศิลปะการแสดงประเภทร่ายรำพื้นบ้านของจังหวัดสตูล เป็นที่รู้จักกันในจังหวัดสตูลเมื่อประมาณ ๓-๔ ชั่วอายุคน การแสดงดาระมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมมุสลิม ทั้งในพิธีกรรมความเชื่อและเพื่อความบันเทิง เป็นการแสดงที่เก่าแก่ของชุมชนผู้นับถือศาสนาอิสลามในจังหวัดสตูล สันนิษฐานว่าดาระมีถิ่นกำเนิดในหมู่บ้านเล็กๆ แขวงเมืองฮัมดาระ ตนเมาพ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และได้เข้าสู่ประเทศไทยทางจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยผ่านทางประเทศมาเลเซีย จากพ่อค้าและนักท่องเที่ยวในสมัยนั้น ถิ่นที่นิยมเล่นดาระมากในสมัยนั้นคืออำเภอเมือง ตำบลแป-ระ (อำเภอท่าแพ) และตำบลควนโดน (อำเภอควนโดน)ประวัติการสืบทอดศิลปะการแสดงดาระ มี ๔ รุ่น คือ 


 	การฝึกหัดรุ่นแรก ชื่อ โต๊ะครูเปี๊ยะ เป็นครูดาระคนแรก ในตำบลควนโดน 
	รุ่นที่ ๒ นายทอง มาลินี ฝึกการแสดงดาระกับ โต๊ะครูเปี๊ยะ เมื่ออายุ ๑๓ ปี 
 	รุ่นที่ ๓ นางสมศรี ชอบกิจ เริ่มฝึกการแสดงศิลปะพื้นบ้านดาระ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ กับนายทอง มาลินีและนายโสย สามัญ ปราชญ์ชาวบ้าน 
 	รุ่นที่ ๔ นางเกษร ปะลาวัน และนางยูสรี โส๊ะเต่ง ฝึกการแสดงศิลปะพื้นบ้านดาระ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ กับนางสมศรี ชอบกิจ 
 	ปัจจุบันมีคณะนักแสดงดาระ ๒ คณะ คือ คณะของวิทยาลัยชุมชนสตูล และคณะของโรงเรียนควนโดนวิทยา

 	การแสดง ดาระ อาศัยการขับร้องด้วยถ้อยคำอันงดงามเป็นการดำเนินเนื้อความ ลักษณะรูปแบบการแสดงเป็นลักษณะการ "ร้อง รำ ทำเพลง" อัตลักษณ์เฉพาะทางการแสดงประกอบด้วยองค์ประสานที่มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน ๓ ส่วน คือ นักร้อง นักรำ และ นักดนตรี 

 	นักร้องหรือผู้ขับร้องจะเป็นผู้ดำเนินบทเพลงเพื่อกำหนดท่าร่ายรำและกำหนดทิศทางกระสวนทำนองกลองของนักดนตรีไปพร้อมกันบทเพลงดาระตามประวัติ มีทั้งสิ้น ๔๔ เพลง สามารถบันทึกเนื้อเพลงและความหมายไว้ มีจำนวน ๓๙ เพลง เพลงที่นำมาใช้สำหรับการแสดงดาระในปัจจุบันมีการใช้เพียง ๕เพลง การเรียกชื่อเพลงจะใช้คำร้องในท่อนแรกของทุกเพลงเป็นชื่อเพลง ลำดับขั้นตอนการขับร้อง นักร้องจะกล่าวชื่อเพลงทุกเพลงที่ใช้ในการขับร้อง หลังจากนั้นกลองรำมะนา มีจังหวะส่ง เพื่อนำเข้าเนื้อร้อง ผู้ร้องจึงเริ่มร้องในท่อนแรก ร้องตามลำดับดังนี้คือ เพลงตะบะงะเจ๊ะ เพลงอมมาจารีกำ เพลงดียาโดนียา เพลงซีฟาดดารีกันตง และเพลงฮอดามี
 	นักรำหรือนักแสดงดาระการร่ายรำจะเป็นลักษณะการเกี้ยวพาราสีระหว่างชาย-หญิงไม่จำกัดจำนวนนักแสดง เพียงให้เหมาะสมกับสถานที่การแสดงเท่านั้นการแต่งกายนักแสดงชาย สวมหมวกกะเปี๊ยะ หรือ ซองเกาะ บางทีสวมซะตะงัน ผ้าโพกแบบเจ้าบ่าวมุสลิม สวมเสื้อคอตั้ง เรียกว่า “โตะระหงา หรือ ตะโละบลางา ไม่สวมรองเท้า การแต่งกายนักแสดงหญิง สวมเสื้อแขนกระบอกยาวเรียกว่า “เกอรบายาบันตง” ลักษณะเสื้อเรียกอีกอย่างว่า “เสื้อบานง” ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย หรือชวา เสื้อนิยมใช้ผ้าลูกไม้ นุ่งปาเต๊ะยาวกรอมเท้า เลือกให้เหมาะกับสีเสื้อ ที่ตัวใช้ผ้าบางคลุมไหล่เรียกว่าผ้าสไบ
 	นักดนตรี เป็นผู้นำจังหวะในการรำและร้อง เครื่องดนตรีเพียงชนิดเดียวที่นักดนตรีใช้ ประกอบจังหวะคือ กลองรำมะนาหรือเรียกกันในท้องถิ่นว่า“กลองดาระ” ส่วนมากใช้จำนวน ๔ ใบ