รูปแบบการแต่งกายและเครื่องประดับ

รายละเอียด

	การแต่งกายของคนสตูลจะเป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม ซึ่งปัจจุบันชาวสตูลยังคงรักษา วัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีขาวไทยพื้นเมือง ชาวไทยเชื้อสายมลายู และชาวไทยเชื้อสายจีน โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับยุคสมัย ผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม 
	ชุดเสื้อคอตั้งแขนจีบ ชุดนี้ใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ใช้ในชีวิตประจำวัน ในโอกาสไปตลาด ไปวัด ไปไหว้พระที่ศาลเจ้า ผ้านุ่งเป็นผ้าปาเต๊ะ ตัวเสื้อความยาวระดับเอวชายเสื้อแต่งขอบด้วยลูกไม้ คอตั้งติดคอผ่าหน้าติดกระดุมทองหรือเข็มกลัดแถว แขนเสื้อยาวจีบปลายแขน มีกระเป๋าใบใหญ่สองข้าง
	ชุดกะบายา หรือย่าหยา เป็นชุดลำลอง ตัวเสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าป่านรูเบีย แขนยาว เข้าเอวรัดรูป ปักลายฉลุทั้งที่คอเสื้อ ชายเสื้อ และปลายแขน ตัวเสื้อด้านหน้าปลายแหลมยาว ความยาวตัวเสื้อจะอยู่ระดับสะโพกบน ปกเสื้อด้านหน้าแบะออกสำหรับติดโกสังหรือกระดุมทองฝังเพชรที่ร้อยเชื่อมด้วยสร้อยทอง ส่วนผ้านุ่งปัจจุบันนิยมใช้ผ้าปาเต๊ะปักเลื่อม เพื่อสนับสนุนงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน
	นอกจากนี้อาจจะมีการแต่งทรงผม และเครื่องประดับ กล่าวคือ ทรงผม เกล้าผมทรงสูง ด้านหน้าเรียบตึง ด้านหลังโป่งออกเรียก ชักอีโบย  เกล้ามวยไว้บนศีรษะ ส่วนด้านข้างสองข้างดึงให้โป่งออกเรียกว่า  อีเปง  มวยด้านบนดึงขึ้นเป็นรูปหอยโข่งใช้ดอกมะลิหรือดอกพุดตูมประดับรอบมวยผมแล้วปักปิ่นทอง
	ปัจจุบันผ้าปาเต๊ะ ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในจังหวัดสตูล ทั้งชาวไทยพื้นเมือง ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมลายู นำมาประยุกต์เข้ากับเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ทั้งชายและหญิง ในรูปแบบที่ต่างออกไปให้เข้ากับบุคลิกและความคล่องตัวในการใช้ชีวิต อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดสตูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกระตุ้นการใช้ประโยชน์จากผ้าปาเต๊ะอย่างคุ้มค่า เป็นการสานต่อและต่อยอดสิ่งเดิมให้คงอยู่ควบคู่กับสตูลสืบไป