จำปาดะ : ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่นสตูล

รายละเอียด

คนไทยรู้จักขนุนเป็นอย่างดี ส่วนจำปาดะนั้นมีคนอีกมากมายที่ไม่รู้จัก
 	จำปาดะกับขนุนมีความใกล้ชิดกันทางพันธุกรรมทำให้มีการผสมข้ามพันธุ์หรือกลายพันธุ์เกิดเป็นจำปาดะขนุนซึ่งปัจจุบันพบที่จังหวัดสตูลและที่ตำบลเกาะยอ จังหวัดสงขลา อาจกล่าวได้ว่า ‘จำปาดะ’ เป็นไม้ผลประจำภาคใต้ของประเทศไทยก็คงไม่ผิด เพราะเราจะพบเห็นจำปาดะในทุกจังหวัดตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงมา 
 	ทั้งนี้จำปาดะสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มพันธุ์คือ ประเภทแรกจำปาดะขนุน มีลักษณะเนื้อนิ่มเหลว ยวงมักไม่เต็มผล แกะยวงจากเปลือกค่อนข้างยาก ติดผลตลอดปีแบบไม่มีรุ่น ขนาดโตกว่าจำปาดะประเภทที่สองคือจำปาดะพื้นเมือง ซึ่งมีต้นขนาดใหญ่กว่าจำปาดะขนุน ออกดอกช่วงฤดูแล้ง ออกผลปีละรุ่น ลักษณะภายนอกของมีเปลือกบางและหนามตื้นกว่าขนุน มียวงเต็มผลหรือไม่ลีบ ติดผลดกมากบางครั้งติดผลเต็มรอบลำต้น เปลือกหนาแต่ฉีกหรือแกะออกจากยวงได้ง่าย รสหวานจัด กลิ่นแรง เนื้อเหลว เมล็ดกลมและถ้าต้มสุกแล้วจะรับประทานได้รสชาติอร่อยกว่าจำปาดะขนุน
 	จำปาดะ (Champedak or Cempedak) มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Artocarpus integer (Thunb.) Merr. (Moraceae) จัดเป็นไม้ผลสกุลเดียวกับขนุน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และ เกาะนิวกีนี เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ ๒๐ เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ใบเดี่ยวมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ยาวประมาณ ๕ – ๑๒ เซนติเมตร กว้าง ๒.๕ ถึง ๑๒ เซนติเมตร ใบเป็นมัน มีขนปกคลุมแผ่นใบ มียางขาวขุ่น ดอกตัวผู้มีสีขาวหรือเหลืองลักษณะคล้ายกระบอกมีขนาดประมาณ ๓ – ๓.๕ เซนติเมตร ก้านยาวประมาณ ๓ – ๖ เซนติเมตร สำหรับดอกตัวเมียมีขนาด ๑.๕ เซนติเมตร ก้านยาวประมาณ ๓ – ๖ เซนติเมตรเช่นกัน ผลมีลักษณะเป็นผลกลุ่มคล้ายขนุนแต่มีขนาดเล็กกว่า ออกผลตามลำต้นและตามกิ่ง รูปร่างผลรูปทรงกระบอกเมื่อสุกผลนิ่ม กลิ่นหอมแรงและรสชาติหวานจัด ยวงหรือเนื้อหุ้มเมล็ด ( ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า“ยุม” ) ไม่ค่อยหลุดออกจากแกนผล เนื้อผลจำปาดะสามารถนำมารับประทานสดและนำมาแปรรูปทำอาหารได้หลากหลาย ส่วนเมล็ดนำไปต้มให้สุกรับประทานได้หรือนำมาใช้แกงเช่นแกงไตปลา เส้นใยของจำปาดะเป็นเส้นใยที่ละลายน้ำได้ สามารถขับไขมันและสารพิษออกจากร่างกาย เนื้อผลมีแคโรทีนและน้ำตาลสูง ในเมล็ดอุดมด้วยสารแมนโนส (mannose) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ชนิดน้ำตาลแอลโดส (aldose) ที่มีคาร์บอน ๖ อะตอม (hexose) ในธรรมชาติเป็นส่วนประกอบในผลไม้บางชนิด น้ำตาลแมนโนสส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ นอกจากนี้ยังมีสมบัติต้านการอักเสบ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ ป้องกันโรคไขข้ออักเสบ วัตถุประสงค์หลักของน้ำตาลแมนโนสคือการป้องกันและรักษาโรคทางเดินปัสสาวะ (ข้อมูลจาก foodnetworksolution.com) เนื้อผลอ่อนช่วยฝาดสมาน แก้ท้องเสีย เนื้อผลสุกบำรุงกำลัง เป็นยาระบายอ่อนๆ เมล็ดช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและบำรุงร่างกาย
 
	คุณค่าบางประการของจำปาดะ 
 	ผลสุก : รับประทานสดเป็นผลไม้ รสหวานจัด หอม ชุ่มปากชุ่มคอ จนบางคนรับประทานแล้วหยุดไม่ได้ทีเดียว ในภาคใต้นิยมนำไปทำจำปาดะทอด โดยใช้เนื้อและเมล็ดคลุกกับแป้ง น้ำตาล ไข่ นม งา แล้วนำไปทอดน้ำมัน นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ เป็นสูตรเดียวกันกับข้าวต้มมัดทั่วไป แต่ต้องแกะเอาเมล็ดออกนำเนื้อมาใช้แทนกล้วย หรือใช้ทำเป็นข้าวตอกน้ำกะทิจำปาดะ แกง
บวดจำปาดะ เป็นต้น
 	เนื้อผลสุกใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยบำรุงร่างกาย มีวิตามิน เอ สูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี เส้นใยของผลสุกสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้ เนื้อผลอ่อน ช่วยแก้ท้องเสีย ช่วยฝาดสมาน
 	เมล็ด : ใช้ทำอาหารคาว เช่น ใส่แกงไตปลา แกงคั่วกะทิ นำไปต้มหรือเผาเพื่อรับประทานได้ บางคนนิยมรับประทานเมล็ดมากกว่าเนื้อเสียอีก นอกจากนี้ยังช่วยขับน้ำนมของสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ด้วย
 	เปลือก : ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้
 	ราก : ในมาเลเซียมีการใช้รากของจำปาดะเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงเพิ่งคลอดบุตร
 	ใบอ่อน: ใช้เป็นผักจิ้มหรือรับประทานร่วมกับส้มตำได้
 	ต้น: แก่นของจำปาดะนำไปย้อมสีจีวรพระหรือเป็นสีย้อมผลิตภัณฑ์อื่นๆ ส่วนลำต้นสามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทำเกษตร 
 	จำปาดะสามารถรับประทานสดๆ หรือนำไปแปรรูปเป็นอาหารที่หลากหลายเมนู เช่น จำปาดะกวน จำปาดะทอด แกงบวดจำปาดะ ข้าวเหนียวจำปาดะ ข้าวเกรียบจำปาดะ เค้กจำปาดะ คุกกี้จากซังจำปาดะ สมูทตี้จำปาดะ เป็นต้น
 	หากในจังหวัดสตูลมีความพิเศษกว่าจังหวัดอื่นๆ อยู่หลายประการจนอาจจะบอกว่าจำปาดะเป็นไม้ผลประจำจังหวัดสตูลก็คงไม่น่าเกลียดอะไร สันนิษฐานว่าสตูลมีการปลูกจำปาดะมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๓ – ๒๔๘๙) โดยมีหลักฐานสนับสนุนแนวคิดนี้คือ พบต้นจำปาดะในอำเภอควนโดนที่มีอายุมากกว่า ๘๐ ปีปลูกอยู่ 
 	สภาพพื้นที่ของสตูลเป็นที่ราบเชิงเขา มีภูเขาล้อมรอบ มวลดินมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติประกอบกับมีลำคลองไหลผ่านหลายสายจึงเหมาะแก่การปลูกไม้ผล โดยเฉพาะจำปาดะซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่และสภาพอากาศแบบนี้ 
 	การปลูกจำปาดะในช่วงแรกมักปลูกเป็นสวนขนาดเล็กในบริเวณบ้านผสมผสานกับไม้ผลอื่นๆ เพื่อ
ไว้บริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่ต่อมา เมื่อจำปาดะได้รับความนิยมสูง จนเป็นไม้ผลเชิงการค้าจึงมีการพัฒนาการปลูกเป็นลักษณะสวนเฉพาะแทน 
 	กล่าวกันว่าการปลูกจำปาดะในเชิงการค้าครั้งแรกของจังหวัดสตูลอยู่ที่สวนบริเวณหลังศาลากลางจังหวัด ซึ่งเรียกกันว่า ‘สวนจำปาดะ’ เป็นของ นายอารีย์ ลิ่มกุลพงศ์ และพันธุ์จำปาดะสวนนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ถูกขยายต่อจนแพร่หลายออกไปยังพื้นที่อื่นๆ 
 	พื้นที่จังหวัดสตูลปลูกจำปาดะกันโดยทั่วไปรวมประมาณ ๑,๑๐๐ ถึง ๑,๓๐๐ ไร่ แต่จะปลูกมากในอำเภอควนโดน และ อำเภอควนกาหลง จนถือว่าเป็นผลไม้ประจำจังหวัด 
 	ช่วงที่จำปาดะสุกมากอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม จำปาดะที่ใช้รับประทานผลสดมีลักษณะผลทรงยาวรี เต่งตึง หนามเรียบ เปลือกบาง ยวงใหญ่ เนื้อหนา เมล็ดเล็ก จำนวนยวงต่อผลมาก รสชาติหวาน เส้นใยน้อย ไม่เป็นแป้ง ไม่ฉ่ำน้ำ มีกลิ่นปานกลาง แกนยวงเล็ก ยวงติดกับแกนออกมาเกือบทั้งหมด เนื้อมีสีเหลืองทอง เหลืองนวล หรือสีจำปา ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะแต่ละพันธุ์ 
 	การดูแลรักษาผลจำปาดะโดยเกษตรกรห่อผลด้วย “โคระ” ซึ่งทำจากใบมะพร้าวมาสานลักษณะลายขัดเป็นรูปทรงรีในขณะที่ใบมะพร้าวยังเขียวอยู่ เมื่อสานแล้วจะมีลักษณะข้างในกลวงมีขนาดพอเหมาะที่จะบรรจุผลจำปาดะตอนมีผลโตแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้โคระแห้งเป็นสีน้ำตาลแล้วนำไปแขวนเพื่อห่อผลขณะผลยังเล็กอายุประมาณ ๒๐ – ๓๐ วัน เมื่อแขวนแล้วโคระจะขยายตัวยืดออกตามขนาดของผลจนผลสุก ป้องกันศัตรูมาทำลายผล จากประสบการณ์ของเกษตรกรพบว่าการใส่โคระตอนที่แห้งเป็นสีน้ำตาลจะกันแมลงได้ดี แต่ถ้าแขวนตอนที่ยังเป็นสีเขียวแมลงยังคงเข้าทำลายอยู่ดี แล้วปล่อยทิ้งไว้จนโตเต็มที่ คือ ผลจำปาดะมีน้ำหนักระหว่าง ๖๐๐ ถึง ๓,๕๐๐ กรัม น้ำหนักของเนื้อ ๑๐๐ ถึง ๑,๒๐๐ กรัม

 	อย่างไรก็ตามเนื่องจากจำปาดะในพื้นที่จังหวัดสตูลมีหลายพันธุ์ แต่ละพันธุ์มีลักษณะและรสชาติที่ต่างกัน ดังนั้นจังหวัดสตูลจึงได้จัดงาน “วันจำปาดะและของดีเมืองสตูล” ขึ้น เพื่อเป็นการขยายพันธุ์จำปาดะพันธุ์ดีและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด 
 	ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จังหวัดสตูลได้จัดงาน “วันจำปาดะและของดีเมืองสตูล” เป็นครั้งแรกที่อำเภอเมืองสตูล แล้วก็เปลี่ยนสถานที่จัดงานมาเป็นบริเวณอำเภอควนโดนในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หลังจากนั้นวันจำปาดะและของดีเมืองสตูลที่อำเภอควนโดนก็ยั่งยืนเป็นงานสำคัญงานหนึ่งประจำจังหวัดสตูลมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกจำปาดะเป็นเชิงการค้ามากขึ้น เนื่องจากผู้คนรู้จักและนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายขึ้นทั้งในจังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง จนเป็นผลไม้ที่เป็นอัตลักษณ์ประจำถิ่นของจังหวัดสตูล สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้เกษตรกรจังหวัดสตูลเป็นอย่างมาก
 	จากการสำรวจพันธ์จำปาดะในอำเภอควนโดน จังหวัดสตูล พบว่ามีจำนวน ๗ พันธุ์ ได้แก่ 
 	พันธุ์พื้นเมือง ความสูงของต้น ๑๐ – ๕ เมตร ผลขนาด ๒ – ๘ กก. ยวงขนาดเล็กถึงปานกลาง เหมาะสำหรับการแปรรูป
 	ขวัญสตูล ทรงพุ่มกว้าง ต้นสูง ๘ – ๑๒ เมตร ใบค่อนข้างกลม ก้านผลยาวปานกลาง น้ำหนักผล ๒ – ๕ กก. ผลรูปทรงกระบอก เมื่อสุกเต็มที่แล้วหนามค่อนข้างเรียบ ร่องหนามเข้มเห็นชัดเจน ยวงใหญ่ มีสีเหลืองส้มหรือจำปา เนื้อหนา รสหวาน แต่กลิ่นไม่จัด เปลือกบาง เมล็ดค่อนข้างเล็ก แกนยวงเล็ก เมื่อผ่าผลออกมาบริโภคยวงติดกับแกนออกมาเกือบทั้งหมด การปอกจำปาดะทำได้ง่ายกว่าปอกขนุนมาก เพียงแค่ใช้มีดกรีดจากขั้วลงมาจนสุดผลแล้วก็ใช้มือแบะ เนื้อจำปาดะก็จะปลิ้นหลุดออกมา ให้จับที่ขั้วดึงทีเดียวให้เปลือกหลุดก็จะได้ยวงจำปาดะติดกันออกมาเป็นพวง
 สตูลสีทอง ทรงพุ่มกว้าง ใบค่อนข้างเรียวยาวสีเขียวเข้ม เส้นใบนูนชัดเจน ก้านผลยาวปานกลาง น้ำหนักผล ๒ – ๕ กก. ผลรูปทรงกระบอก เมื่อสุกเต็มที่แล้วหนามแหลมนูนชัดเจน เปลือกบาง ยวงขนาดปานกลาง เนื้อหนามีสีส้มเข้ม รสหวานฉ่ำ มีกลิ่นแรง เมล็ดค่อนข้างเล็ก แกนยวงเล็ก เมื่อผ่าผลออกมาบริโภคยวงติดกับแกนออกมาเกือบทั้งหมด 
 	น้ำดอกไม้ ทรงพุ่มกว้าง ลักษณะใบยาวเรียว เส้นใบชัด ก้านผลยาว ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ ๓ – ๕ กก. ผลเป็นรูปทรงกระบอก หนามนูนชัดเจน ยวงมีลักษณะกลม ยวงแน่น เนื้อหนา มีสีเหลือง
 	ทองเกษตร ทรงพุ่มแคบ ต้นสูงประมาณ ๑๐ – ๒๐ เมตร ลักษณะใบยาวใหญ่สีเขียวเข้ม เริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ ๔ ปี ก้านผลสั้น ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ ๓ – ๕ กก. ผลเป็นรูปทรงกระบอกเมื่อสุกเต็มที่แล้วหนามมีขนาดเล็ก นูน หนามแน่น ยวงขนาดปานกลาง เนื้อมีสีเหลือง หนาปานกลาง เมื่อผ่าผลยวงจะติดกับแกนออกมาเกือบทั้งหมด เหมาะสำหรับรับประทานผลสุกและทอด
 	ดอกโดน ทรงพุ่มกว้าง ต้นสูงประมาณ ๘ – ๑๒ เมตร ลักษณะใบเรียวเล็ก ยาว สีเขียวเข้ม เส้นใบชัดเจน ก้านผลยาว ผลขนาดปานกลางรูปแบบทรงกระบอก หนามนูน ยวงเยอะ เนื้อแห้งหนาปานกลาง น้ำหนักผลประมาณ ๓ – ๕ กก. เหมาะสำหรับรับประทานสุกและทอด
 	วังทอง ทรงพุ่มกว้าง ความสูงของต้น ๑๐ – ๑๕ เมตร ใบยาวเรียว สีเขียวเข้ม หนามกรวยตื้น ผลขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ ๒ – ๕ กิโลกรัม เปลือกบางแข็ง ยวงขนาดปานกลาง เนื้อแห้งและหนาปานกลาง รสชาติหวาน เมื่อผลสุกเก็บได้นาน ๒ – ๓ วัน 
 	จำปาดะทั้ง ๗ พันธุ์ มีเนื้อผล สีสัน และรสชาติเฉพาะตัว แต่มีลักษณะรวมคือ “ยวงใหญ่ เมล็ดเล็กเนื้อหนา เส้นใยน้อย ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานหอม” หากพันธุ์ที่นิยมนำมารับประทานกันมาก คือ พันธุ์ขวัญสตูลและพันธุ์วังทอง เพราะมีลักษณะเด่นที่เนื้อหนา ไม่เละ รสชาติหวานและมีกลิ่นไม่จัด
	ด้วยเอกลักษณ์และความนิยมดังกล่าว จังหวัดสตูลร่วมกับองค์การบริหารจังหวัดสตูลและชมรมไม้ผลอำเภอควนโดนจึงยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำปาดะสตูลเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนเลขที่ สช ๖๒๑๐๐๑๒๓ มีผลตั้งแต่วันที่ยื่นขอ
 	จากเอกสารแนบท้ายประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ระบุลักษณะเฉพาะของจำปาดะสตูลว่า “ผลรูปทรงกระบอก ยาว ผลสุกเปลือกผลจะนิ่ม สีเปลือกเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง เปลือกบาง ผิวตึง หนามเรียบ เนื้อหนามีสีส้มอมเหลือง (สีจำปา) สีเหลืองทอง หรือสีเหลืองนวล รสชาติหวานหอม มีกลิ่นหอม เส้นใยน้อย ไม่เป็นแป้ง จำนวนยวงต่อผลมาก ยวงใหญ่ แกนยวงเล็ก เมล็ดเล็กและซังน้อย ความหวานอยู่ในช่วง ๒๑ – ๓๒ องศา-บริกซ์ ปลูกในพื้นที่ทุกอำเภอของจังหวัดสตูล ประกอบด้วยพันธุ์การค้า เช่น พันธุ์ขวัญสตูล พันธุ์สตูลสีทอง พันธุ์น้ำดอกไม้ พันธุ์ทองเกษตร พันธุ์ดอกโดน และ พันธุ์วังทองเป็นต้น” 
 	ว่ากันถึงสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) นั้นมีความสำคัญในฐานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อมโยง (Links) ระหว่างปัจจัยสำคัญสองประการ คือ ธรรมชาติและมนุษย์ กล่าวคือ ชุมชนได้อาศัยคุณสมบัติพิเศษหรือลักษณะเฉพาะที่มีอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ตามธรรมชาติ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ หรือวัตถุดิบเฉพาะในพื้นที่ ประกอบด้วยทักษะความชำนาญและภูมิปัญญาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ ผลิตสินค้าในท้องถิ่นของตนขึ้นมา ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณลักษณะพิเศษจากพื้นที่ดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษนี้อาจหมายถึง คุณภาพ ชื่อเสียงและได้รับความนิยม หรือ คุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ 
 	สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น กล่าวคือ ผู้เป็นเจ้าของไม่ใช่บุคคลหนึ่งบุคคลใดแต่เป็นกลุ่มชุมชนที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในสถานที่หรือแหล่งภูมิศาสตร์ และผู้ประกอบการเกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นเท่านั้นที่มีสิทธิผลิตสินค้าดังกล่าวโดยใช้ชื่อทางภูมิศาสตร์นั้นได้และไม่สามารถนำสิทธิที่ได้รับไปอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ต่อ ผู้ผลิตอื่นๆ ที่อยู่นอกแหล่งภูมิศาสตร์จะไม่สามารถผลิตสินค้าโดยใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันมาแข่งขันได้ สิทธิในลักษณะดังกล่าวนี้นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สิทธิชุมชน” 
 	“จำปาดะสตูล” จะต้องปลูกในพื้นที่ของจังหวัดสตูลและตามกระบวนการที่กำหนด ทั้งนี้กระบวนการผลิตจะต้องผ่านการควบคุมตรวจสอบ คือขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกจำปาดะสตูล รวมทั้งต้องมีหลักฐานกำกับเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับได้