กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล : ความงดงามและบอบบางใต้ชะง่อนผา

รายละเอียด

กล้วยไม้รองเท้านารีหรือ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Lady’s Slipper ได้ชื่อนี้จากลักษณะดอกที่ขอบปากงองุ้มเข้าหากันคล้ายหัวรองเท้าไม้ของชาวดัตช์ 
 	หนังสือพฤกษชาติเล่มแรกซึ่งออกโดยสมาคมพฤกษชาติแห่งประเทศไทยในความอุปถัมภ์ของกระทรวงเกษตราธิการ ๒๔๙๒ ใช้คำว่า“รองเท้าแตะนารี” ส่วนในเล่มต่อมามีการใช้ทั้ง“รองเท้าแตะนารี” “รองเท้านาง” และ “รองเท้านารี” 
 	การที่ดอกและใบมีรูปทรงสีสันแปลกตาและสามารถใช้เป็นไม้ประดับได้ กล้วยไม้รองเท้านารีจึงได้รับความนิยมนำมาปลูกเลี้ยง ปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อการค้ากันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บางประเทศในยุโรปและเอเชีย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกไม่แพ้ไม้ดอกไม้ประดับประเภทอื่นๆ
 	กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลหรือรองเท้านารีดอกขาว (Paphiopedilum (Rchb. f.) Stein) เป็น ๑ ใน ๑๗ ชนิดหรือสายพันธุ์ที่พบว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย (สุภาภรณ์ สาชาติ, ๒๕๕๘) มีชื่ออื่นคือ รองเท้านารีกระบี่ รองเท้านารีช่องอ่างทอง (ภาคใต้) รองเท้านารีดอกขาว (กรุงเทพฯ) ลักษณะก้านช่อดอกมีขนาดสูงอย่างน้อย ๑๕ เซนติเมตรขึ้นไป ฟอร์มดอกจะต้องสมมาตรกันทั้งซ้ายขวา ดอกกว้างขนาด ๕ ซม. เป็นสีขาวสะอาดตา มีจุดประไม่มากนัก กลีบดอกมีลักษณะแผ่ออกและปลายหยัก เมื่อบานเต็มที่จะมีลักษณะแบบทรงกลม กลีบหนางุ้มมาด้านหน้า โคนกลีบมีจุดประสีม่วงเข้มเล็กน้อย โล่จะมีสีขาว ส่วนตรงกลางเป็นร่องและมีแต้มสีเหลืองเข้ม
 

	มีการค้นพบกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์นี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่จังหวัดสตูล จึงตั้งชื่อกล้วยไม้ตามสีของดอกและสถานที่พบว่า ‘ขาวสตูล’ โดยธรรมชาติ กล้วยไม้ชนิดนี้ใบจะบอบช้ำง่ายจึงเจริญเติบโตภายใต้ร่มไม้ใหญ่หรือใต้ชะง่อนหินทำให้ฝนที่ตกลงมาไม่โดนใบโดยตรง นับเป็นวิธีป้องกันการช้ำของใบประการหนึ่ง รวมทั้งการที่แสงส่องผ่านพุ่มไม้ไม่มากเกินไป ก็ช่วยให้รองเท้านารีขาวสตูลเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีอีกประการ 
 	ในประเทศไทยจะพบรองเท้านารีขาวสตูลตามป่าดิบเขาหรือบริเวณที่เป็นเขาหินปูนแถบชายฝั่งทะเลและ เกาะแก่งต่างๆ ของจังหวัดภาคใต้ โดยเป็นป่าเขาหินปูนที่มีความสูง ๑๐ – ๓๐ เมตร หรือมีความสูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐ เมตร นอกจากพบที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราแล้ว ยังพบกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ อีกด้วย ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช แต่พบไม่มากเท่าจังหวัดสตูล ลักษณะเด่นของรองเท้านารีขาวสตูลที่พบในจังหวัดสตูลคือ มีต้นและดอกขนาดเล็ก ลักษณะดอกค่อนข้างกลม ส่วนที่พบในจังหวัดกระบี่และรอยต่อระหว่างจังหวัดนครศรีธรรมราชกับจังหวัดตรังนั้นดอกและต้นค่อนข้างโตกว่า ลักษณะดอกและกลีบดอกจะแผ่ขยายออกกว่าแหล่งอื่นๆ นอกจากนี้ ในจังหวัดกระบี่พบลูกผสมของรองเท้านารีขาวสตูลกับรองเท้านารีเหลืองพังงาหรือเหลืองตรังที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ ทั้งบนเกาะและบริเวณชายฝั่ง ดอกรองเท้านารีลูกผสมนี้มีความหลากหลายมาก
 	ส่วนมากลูกกล้วยไม้ที่ได้จากการติดฝัก ต้นที่ได้แต่ละต้นจะมีความสวยงามไม่เหมือนกัน ปัจจุบันจึงมีการคัดสายพันธุ์รองเท้านารีขาวสตูลที่สวยงามสมบูรณ์ไปทำไม้ขวดจำหน่าย ผู้ที่คัดสายพันธุ์ได้พันธุ์ที่สวยจนได้รับรางวัลเกียรตินิยมคือคุณอรรณพ มากสอน จากจังหวัดสุพรรณบุรี ได้กล้วยไม้ขาวสตูลชื่อไหมแก้วและ พิมพิลาส ในปี ๒๕๕๑ และ ปี ๒๕๕๒ ตามลำดับ
	การขยายพันธุ์รองเท้านารีที่นิยมปฏิบัติมี ๒ วิธี คือ การเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ และ การแยกหน่อ ซึ่งวิธีการแยกหน่อจะให้จำนวนต้นน้อยกว่าการเพาะเมล็ด แต่ต้นที่ได้ตรงตามพันธุ์เดิม ขนาดใหญ่ ออกดอกเร็วและเลี้ยงง่าย การขยายพันธุ์รองเท้านารีด้วยวิธีการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อบนอาหารวุ้นสังเคราะห์ ต้นที่ได้จะมีลักษณะแตกต่างจากต้นเดิมขึ้นอยู่กับพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่นำมาผสมเกสร การขยายพันธุ์วิธีนี้เป็นที่นิยมมากเพราะสามารถผลิตได้จำนวนมาก แต่ต้องใช้เวลานาน
 	ด้านการตลาด จากที่มีผู้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการทำแบบสอบถามกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้ตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป รองเท้านารีขาวสตูลเป็น ๑ ใน ๕ ของกล้วยไม้ประเภทนี้ที่ได้รับความนิยมมาก ส่วนอีก ๔ ชนิด ได้แก่ กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองปราจีน กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ และ กล้วยไม้รองเท้านารีฝาหอย 
 	นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่า ตลาดมีความต้องการกล้วยไม้รองเท้านารีชนิดที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทยเรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองตรัง กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ กล้วยไม้รองเท้านารีช่องอ่างทอง กล้วยไม้รองเท้านารีขาวชุมพร กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบใต้ กล้วยไม้รองเท้านารีม่วงสงขลา ส่วนระยะกล้วยไม้รองเท้านารีที่ตลาดต้องการ เรียงตามลำดับจากมากไปน้อย ดังนี้ กล้วยไม้รองเท้านารีระยะออกดอก กล้วยไม้รองเท้านารีระยะไม้ขวด กล้วยไม้รองเท้านารีระยะไม้นิ้ว กล้วยไม้รองเท้านารีระยะไม้รุ่น
 	งานวิจัยทั้งสองชิ้นแสดงให้เห็นว่า ในบรรดากล้วยไม้รองเท้านารีด้วยกันนั้นกล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลได้รับความนิยมในลำดับต้นๆ ทีเดียว โดยตลาดเป้าหมายของศูนย์ฯ มี ๔ กลุ่มคือ สมาชิกชมรมกล้วยไม้รองเท้านารีแห่งประเทศไทย ผู้จำหน่ายกล้วยไม้รองเท้านารี กลุ่มผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่วไป และกลุ่มชุมชนที่ต้องการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีเพื่อเป็นสินค้าของชุมชน ทั้งนี้พบว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ขนาดตลาดกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์ชนิดที่พบในภาคใต้เท่ากับ ๒๘,๓๕๐ ต้น ต่อเดือน เรียงตามลำดับเป็นระยะไม้รุ่น ระยะไม้ออกดอก ระยะไม้นิ้ว และระยะไม้ขวด ตามลำดับ 
 	จากเดิมความนิยมในการปลูกเลี้ยงรองเท้านารีอยู่ในวงแคบๆ มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่เลี้ยงเป็นงานอดิเรก ผู้ที่ปลูกเลี้ยงสำเร็จจนออกดอก มักไม่มีการเผยแพร่ความรู้ เทคนิคการปลูกเลี้ยงให้กับผู้อื่น ทำให้มีการจำหน่ายต้นในราคาที่สูง ต่อมาเมื่อมีการลักลอบนำรองเท้านารีพันธุ์ป่า มาจำหน่ายกันมากขึ้น จึงมีผู้สนใจเพาะเลี้ยงรองเท้านารีกัน มีการทดลองปลูกเลี้ยงในโรงเรือนแบบต่างๆ และนำวัสดุที่หาได้ในแต่ละท้องถิ่น มาดัดแปลงเป็นเครื่องปลูก การผลิตรองเท้านารีจึงมีทั้งผลิตเป็นไม้กระถาง ปลูกลงแปลงเพื่อตัดดอกจำหน่าย หรือผลิตเป็นลูกไม้เพาะเมล็ดส่งจำหน่ายในต่างประเทศ
 	การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เริ่มต้นโดยชาวตะวันตก และนาย จอห์น โดมินีย์ เป็นผู้ ผสมพันธุ์สำเร็จครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๑๒ สำหรับกล้วยไม้รองเท้านารีในประเทศไทยยังไม่พบหลักฐานว่าเริ่มมีการผสมพันธุ์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร แต่ในระยะหลังมีการผสมพันธุ์ขึ้นมา ทำให้ได้กล้วยไม้รองเท้านารีที่มีความสวยงามหลายพันธุ์ กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลก็เช่นกันได้มีการผสมพันธุ์ออกมาให้มีลักษณะต่างๆ ดังนั้นจึงพบว่าการเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูลโดยทั่วไป หรือที่มีการขายในท้องตลาดจึงมีลักษณะไม่เหมือนกับพันธุ์แท้
 	กล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์แท้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชป่าที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายหมายเลข ๑ ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดชนิดสัตว์ป่าและพืชที่กำลังจะสูญพันธุ์ (CITES) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกในอนุสัญญานี้ด้วย ดังนั้น การส่งออกพืชดังกล่าวไปต่างประเทศจะต้องขอใบอนุญาตให้กับพืชที่จะส่งจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตรก่อน 
 	สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ในช่วง ๓๐ – ๔๐ ปีที่ผ่านมา คนไทยให้ความสนใจกล้วยไม้รองเท้านารีกันมากขึ้น เริ่มปรับปรุงพันธุ์และผสมพันธุ์กันอย่างจริงจัง โดยการนำพันธุ์แท้มาคัดเลือกลักษณะดีเด่นจนได้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพไม่แพ้พันธุ์ลูกผสมต่างประเทศ แต่จากการที่ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดรองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งเป็นไม้ตัดดอกและไม้กระถาง อันจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยต่อไป