วัฒนธรรมด้านอาหาร

รายละเอียด

		การกินของชาวสตูลมีทั้งส่วนที่คล้ายกับจังหวัดอื่นและส่วนที่แตกต่าง ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอันสืบเนื่องมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์และเกิดจากความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนค่านิยมการกินของบุคคลในแต่ละท้องถิ่น
 		ชาวสตูลนิยมอาหารเช้าเป็นกาแฟดำ (โกปี๊) ใส่เฉพาะน้ำตาลและไม่ใส่นมหรือเรียกตามคนท้องถิ่นว่า โกปี๊อ้อ ทานคู่กับขนมพื้นเมืองที่ทำใหม่ทุกวัน (ขนมสด) เช่น ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเหนียวสองดัง (อุดัง) ข้าวเหนียวมูล ข้าวเหนียวอัด โรตี ปาท่องโก๋ โรตีกาปาย ขนมเปียกปูน ขนมชั้น เป็นต้น 
 		จากชนิดของขนมแสดงให้เห็นถึงความผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างมลายู,ไทย,จีน จนไม่สามารถแยกออกได้ว่า มีต้นกำเนิดมาจากเชื้อสายใด อาหารชนิดเดียวกันอาจใช้ในพิธีกรรมทั้งของชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยเชื้อสายจีน เช่น ขนมเทียน ขนมไทย ต้มสามเหลี่ยม เป็นต้น สิ่งนี้เป็นลักษณะพหุวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดสตูลที่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้
 		ผลจากการที่ชาวสตูลนิยมทานกาแฟจึงเห็นได้ว่าในปัจจุบันสองข้างถนนไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในหมู่บ้านจะมีร้านกาแฟสองข้างทางมากมาย มีทั้งร้านแบบทันสมัยและแบบสร้างเป็นเพิงริมทางและจะเห็นผู้คนมานั่งดื่มชากาแฟทั้งเวลาเช้าและช่วงเย็นๆ หลังเลิกงานหรือเสร็จภารกิจประจำ สำหรับอาหารกลางวันและอาคารค่ำชาวสตูลนิยมทานข้าวเหมือนกับคนทั่วไปในภาคใต้แต่จะแตกต่างในเรื่องของกับข้าวเช่นจำพวกแกงต่างๆ ได้แก่ 
 		อาหารคาว ได้แก่
 		แกงตูมีหรือตอแมะ เป็นเครื่องที่ปรุงด้วยเครื่องเทศ น้ำกะทิ มะขามเปียก น้ำตาล เกลือ รสชาติไม่เผ็ดหวานมันหอมกะทิ เครื่องเทศ ชูกลิ่นด้วยใบสมุยหอม หรือเรียกว่าสมุยเทศ ผักที่นิยมคือใส่มะเขือยาวคู่กับปลา
 		แกงกุรุหม่า นิยมใช้เนื้อวัวและเนื้อไก่ ปรุงด้วยกะทิ มะพร้าวคั่วบดละเอียด พริกไทย หอมใหญ่ ไม่ใช้พริกขี้หนู ไม่นิยมใส่ผัก 
 		แกงปัดจารี ใช้สับปะรด มะเขือยาว ผลมะม่วงหิมพานต์ ปรุงรสด้วย เครื่องเทศ กะทิ มะขามเปียก มะพร้าวคั่วบดละเอียด น้ำตาลทรายแดง รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมเด่นของเครื่องเทศ
 		อาหารหวาน ได้แก่ 
 		ขนมต่างๆ เช่น ขนมทองพับ ชาวสตูลเรียกว่าขนมโกยเปต ขนมไข่ชาวสตูลเรียกว่า ขนมบูหลู ขนมถั่วอัด เรียกว่า ไทยหยา ขนมโกยบูดะ ขนมพริก
 		ลักษณะการรับประทานอาหารชาวมุสลิมจะนิยมนั่งพื้นล้อมวง มีน้ำล้างมือก่อนทานอาหาร เนื่องจากใช้มือ ไม่นิยมใช้ช้อน ปัจจุบันจะมีอยู่เฉพาะในหมู่บ้านชนบทและผู้เฒ่าผู้แก่
 		อาหารของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ในพิธีกรรมเซ่นไหว้บรรพบุรุษ พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่หลายพื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองของแต่ละอำเภอเป็นอำเภอเมือง อำเภอละงู และอำเภอทุ่งหว้า 
 		ประเพณีการเซ่นไหว้บรรพบุรุษของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนยังคงปฏิบัติอยู่เป็นปัจจุบันปีละ ๓ ครั้ง คือเทศกาลตรุษจีน เชงเม้ง และสารทจีน อาหารที่ใช้เซ่นไหว้จะมีทั้งอาหารคาวหวานหลายอย่าง เช่น ข้าวสวย น้ำชา หมู เป็ด ไก่ และผลไม้ ส่วนขนมหวานได้แก่ ขนมไข่ ขนมทองพับหรือโกยเปด ซึ่งไม่แตกต่างไปจากของชาวพุทธและมุสลิม แต่มีขนมอยู่อย่างหนึ่งที่ต่างไปจากชาวพุทธและมุสลิมคือชาวไทยเชื้อสายจีนไม่ทำต้มสามเหลี่ยมแต่ทำขนมบ่ะจ่าง ซึ่งใช้ข้าวเหนียวเหมือนกัน 
 		อาหารในเทศกาลสำคัญของชาวพุทธจะคล้ายหรือเหมือนกับชาวพุทธในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ เช่น ภูเก็ต สงขลา พัทลุง ตรัง ฯลฯ ในเทศกาลเดือนสิบจะทำ ต้ม ขนมลา ขนมเจาะหู ขนมเทียน ขนมพอง