สตูล : สมัยรัตนโกสินทร์

รายละเอียด

	สมัยรัชกาลที่ ๑ 
 	ในสมัยรัชกาลที่ ๑ อังกฤษขอเช่าเกาะหมากจากพระยาไทรบุรี (ตนกูอับดุลละ โมกุลรัมซะ) เจ้าพระยาไทรบุรีๆ เกรงไทยจะลงไปปราบเช่นเดียวกับปัตตานี จึงตกลงให้อังกฤษเช่าเกาะหมากภายใต้เงื่อนไขว่าอังกฤษต้องส่งกำลังมาช่วยเมืองไทรบุรีในกรณีที่มีศัตรูเข้ามารุกกราน (รวมถึงไทยด้วย) ขณะที่ยังไม่ตกลงกันในสัญญา พระยาไทรบุรีทราบข่าวว่าปัตตานีเข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจดังเดิมแล้ว ไทรบุรีจึงยอมมาอยู่ในพระราชอำนาจพร้อมกับเมืองตรังกานูดังเดิมด้วย 
 	ปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ พระยาไทรบุรีถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหา
ราช ทรงตั้ง “ตนกูปะแงรัน” บุตรเจ้าพระยาไทรบุรีเป็น “พระยารัตนสงครามรามภักดี ศรีสุลต่านมะหะหมัด 
รัตนราชวังสา พระยาไทรบุรี” และตั้ง “ตนกูปัศนู” ผู้น้องเป็น “พระยาอภัยนุราช” ตำแหน่ง “รายามุดา” ดูแลเมืองไทรบุรีต่อจากบิดา

	สมัยรัชกาลที่ ๒
 	พ.ศ. ๒๓๕๒ ปีแรกของการเริ่มรัชกาล พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลาง พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ยกกองทัพเมืองไทรบุรีไปช่วยป้องกันเมืองถลาง และต่อมาพระยาไทรบุรีได้ดำเนินการให้เมืองแประ ที่อยู่ติดเมืองไทรทางทิศใต้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจได้ ทั้ง ๒ เหตุการณ์จึงทรงโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระยาไทรบุรีขึ้นเป็น “เจ้าพระยา” 
 	ต่อมาพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เกิดอริกับพระยาอภัยนุราชน้องชาย ด้วยเหตุเพราะพระยาอภัยนุราชขอเอาตำบลกวาลามุดาเป็นบ้านส่วยของตน พระยาไทรบุรีให้ที่อื่นก็ไม่เอา จึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาพัทลุงออกไปไกล่เกลี่ยเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๖ ก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายจึงโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาอภัยนุราช “มาว่าราชการเมืองสตูล” ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองไทรบุรี ส่วนเมืองไทรบุรีก็ตั้งตนกูอิบรอฮิมเป็นรายามุดาแทน
 	ต่อมาพม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองทวายและจะยกมาตีหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันตก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงไม่ไว้วางใจเมืองไทรบุรีว่าจะเข้าข้างพม่าหรือไม่ จึงทรงให้กองทัพเมืองพัทลุงไปตั้งที่เมืองสตูลเพื่อต่อเรือสำหรับพร้อมรบ และเป็นการคุมเชิงเมืองไทรบุรีไว้ในที ความว่า 
 	“...ครั้น พ.ศ. ๒๓๖๓ (จ.ศ. ๑๑๘๒) ปีมะโรง โทศก พม่ายกมาตั้งทัพที่เมืองทวาย จะยกมาตีหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ส่วน“เมืองไทรบุรี”ก็เป็นที่กระด้างกระเดื่องอยู่ไม่เป็นที่ไว้ใจ จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าหลวงออกมาเกณฑ์ทัพเมืองพัทลุงไป “ต่อเรืออยู่ที่เมืองสตูล” กับด้วยทัพเมืองนคร ฯ ทัพเมืองสงขลาคุมเชิงเมืองไทรไว้ พระยาพัทลุง (เผือก) ให้พระปลัด (จุ้ย) คุมทัพเมืองพัทลุง “ไปตั้งอยู่ที่เมืองสตูลปีเศษ” แต่หามีข้าศึกมาไม่ ก็เลิกทัพกลับมาทั้งทัพนคร ฯ ทัพเมืองสงขลาด้วย...” 
 
 	ปรากฏชื่อ “เมืองสตูล” ครั้งแรกในเอกสารฝั่งไทย แสดงว่าเมืองสตูลเองมีความสำคัญในทางภูมิยุทธศาสตร์ทางทะเลฟากตะวันตก เนื่องจากเป็นจุดที่สามารถใช้คุมเชิงเมืองไทรบุรีไว้ได้ และการที่ทัพพัทลุงเข้าตั้งที่เมืองสตูลได้โดยเมืองไทรบุรีไม่แสดงอาการเป็นเจ้าของ ย่อมแสดงว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ สตูล เป็นเมืองอิสระในระดับหนึ่ง

	สมัยรัชกาลที่ ๓
 	แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏความในโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนิพนธ์ไว้ว่า ที่คอสองเลียงระเบียงล้อมพระอุโบสถทั้ง ๔ ด้านเขียนภาพหัวเมืองขึ้นกรุงเทพ ฯ ๔๗๔ หัวเมือง พร้อมปรากฏจารึกชื่อหัวเมืองเหล่านั้นไว้ ปรากฏชื่อเมืองในพื้นที่สตูลและข้างเคียง ดังนี้

 “...เมืองสตูล ๑ เมืองมะนาวา ๑ เมืองละงู ๑ เมืองปะหลิด ๑ เมืองเกาะนางกาวี ๑ แขกขึ้นเมืองไทร ๕ เมือง...”

 	จากความในจารึกวัดพระเชตุพนพบว่า “สตูล”และ “ละงู” มีฐานะเป็นเมืองในพระราชอาณาเขตแล้ว รวมถึงเมืองปะหลิด และเกาะลังกาวี (เกาะนางกาวี) สำหรับ “เมืองมะนาวา” เข้าใจว่าคือ “เมืองมะนัง”
 	ประวัติศาสตร์สตูลเริ่มนับหนึ่งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี่เอง โดยปรากฏความใน “จดหมายหลวงอุดมสมบัติ” คราวปราบกบฏเมืองไทรบุรี และเมื่อปราบเรียบร้อยแล้วจึงได้แบ่ง
แยกไทรบุรีออกเป็น ๔ เมือง โดยใช้นโยบายเดียวกับเมืองปัตตานีในครั้งรัชกาลที่ ๑ 
 	เหตุการณ์ในครั้งนั้นเริ่มเกิดขึ้นในพ.ศ. ๒๓๗๓ เมื่อ “ตนกูเด็น” บุตรของตนกูรายา พี่ของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) พร้อมสมัครพรรคพวกจู่โจมเข้าตีเมืองไทรบุรีและยึดไว้ได้เมื่อ วันศุกร์ เดือน ๓ แรมค่ำ ๑ พระยาไทรบุรีต้องถอยมาตั้งหลักที่เมืองพัทลุง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เป็นแม่ทัพใหญ่ลงมาปราบเมืองไทรบุรีในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ แต่ก่อนทัพจากกรุงเทพ ฯ จะมาถึงนั้นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้เข้าล้อมเมืองไทรบุรีไว้ ตนกูเด็นเห็นว่าจะหนีไปไม่รอดจึงฆ่าตัวตายหน้าประตูเมือง เจ้าพระยานครศรีธรรมราช จึงยึดเมืองไทรบุรีคืนมาได้
 	หลังเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วเมืองไทรบุรีก็กลับเข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตดังเดิม จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๓๘๑ เจ้าพระยานครศรีธรรราช และเจ้าพระยาสงขลา เดินทางไปกรุงเทพ ฯ ในงานพระเมรุถวายพระเพลิงสมเด็จพระศรีสุลาไลย สมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวง ตนกูมหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ หลานเจ้า
พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ร่วมกับหวันมาลี หัวหน้าโจรสลัดอยู่ที่เกาะยาว แขวงเมืองภูเก็จ ได้จู่โจมเข้าตีและยึดเอาเมืองไทรบุรีอีกครั้ง เจ้าเมืองไทรบุรีต้องถอยมาตั้งมั่นที่เมืองพัทลุงอีกเช่นเดิม ด้วยรู้ว่าว่างเจ้าเมืองนคร ฯ และสงขลาที่จะลงมาปราบได้ ความทราบถึงกรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงให้พระศรีพิพัฒน์ (ทัด บุนนาค) น้องเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค) เป็นแม่ทัพมาปราบเมืองไทรบุรีร่วมกับทัพสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช ไชยา เพชรบุรี เหตุที่ต้องจัดทัพใหญ่เนื่องจากอริราชศัตรูได้เข้ายึดเมืองตรัง และยกทัพข้ามแผ่นดินมาเพื่อยึดเมืองสงขลาโดยความร่วมมือกับทัพปัตตานีด้วย

 	พระยาศรีพิพัฒน์เมื่อยกทัพออกมานั้นได้ให้ “หลวงอุดมสมบัติ”เจ้าหน้าที่ในกรมพระคลังสินค้าคอยจดรายงานการประชุมในที่ประชุมระหว่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวกับมหาเสนาอำมาตย์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทัพและฝากจดหมายลงมาเป็นระยะๆ ซึ่งรวมทั้งสิ้นแล้ว หลวงอุดมสมบัติได้เขียนจดหมายรายงานพระยาศรีพิพัฒน์ลงมา ๑๕ ฉบับตั้งแต่เริ่มต้นเตรียมการยกทัพจนถึงแยกหัวเมืองไทรบุรีออกเป็น “เมืองสตูล” ในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ ซึ่งเป็นจดหมายฉบับสุดท้าย สำหรับความในจดหมายหลวงอุดมสมบัติฉบับต่างๆ ที่กล่าวถึงเมืองสตูลปรากฏความ ดังนี้

 “...เจ้าพระยานครได้ให้พระยาไทร(บุรี)ยกไปช่วยกองทัพพระยาสงขลา แต่พระปลัดเมืองพัทลุงซึ่ง
รักษาค่ายสตูล ทางซึ่งอ้ายหวันมาลียกมาแต่ก่อนนั้น บอกมาถึงเจ้าพระยานคร ฯ ว่า พวกอ้ายหวันมาลีเข้าตีชิงเอาเสบียงอาหารที่สตูลไปสิ้น หามีพอกองทัพรับพระราชทานไม่ จะขอรับพระราชทานข้าว ณ กรุงเทพ ฯ บรรทุกเรือออกไปให้กองทัพรับพระราชทาน...”

 “...แต่ที่เมืองปลิสนั้น อ้ายหวันมาลี อ้ายหวันมามุด เป็นนายทัพ ตีกวาดเอาครัวสตูลไปไว้เกาะนางกาวี ๑๐๐ เศษ...”

 	จากบันทึกการประชุมดังกล่าวเห็นได้ว่า “สตูล” เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการสงครามคือ เป็นแหล่งสะสมและส่งเสบียงให้กับกองทัพที่เข้าตีเมืองไทรบุรี เมื่อสตูลถูกไทรบุรียึดแล้วนั้น เจ้าพระยานคร ได้รวบรวมกำลังจากนคร พัทลุง เข้าตีแล้ว“ยึดสตูลคืนมาได้” เมื่อ “พ.ศ. ๒๓๘๒”ก่อนที่ทัพหน้าของพระยาวิชิตณรงค์ และพระราชวรินทร์จะเดินทางมาถึง
 	นอกจากนั้นโจรสลัดที่เข้ามายึดเมืองสตูลยังเอาชื่อ “เมืองสตูล” ไปหลอกล่อผู้คนที่อ่าวกระบี่ว่าจะให้ไปเป็น “เจ้าเมืองละงู” พร้อมกวาดต้อนผู้คนจากละงู สตูล ไปไว้ที่ “เกาะนางกาวี”
 
 “...ณ วันเดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ อ้ายหวันจิกะหนำให้เรือเข้าไปที่บ้านอ่าวกระบี่ ๒ ลำ ขึ้นไปหานายแขกซึ่งอยู่ ณ บ้านอ่าวกระบี่บอกว่า อ้ายหวันจิกะหนำให้หาลงไป จะให้ไปเป็นเจ้าเมืองละงู นายแขกซึ่งอยู่บ้านอ่าวกระบี่ว่าจึงจะค่อยไป เป็นชายหญิงใหญ่น้อย ๑๒ คน กับเรือ ๑๓ ลำ แต่นายแขกบ้านอ่าวกระบี่นั้นพาครอบครัวหนีไปได้ อ้ายหวันจิกะหนำให้เอาครอบครัวซึ่งกวาดได้ไปนั้น ผ่อนไปไว้ “เกาะนางกาวี” แล้วอ้ายหวันจิกะหนำพากันมาทอดอยู่ที่เกาะยาว...” 

 	การเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนในครั้งนี้ ได้เรือของอังกฤษเข้ามาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทรบุรี จำนวน ๔ ลำ ทำให้ทัพของไทรบุรีไม่สามารถเติมกำลังคนได้ ทัพของเจ้าพระยานคร ฯ จึงเข้าตีไทรบุรี จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒ ก็ได้ไทรบุรีกลับคืนมา พร้อมทั้งตีไล่เอาเมืองคืนไปถึงสตูล ตรัง 

 “...พระสาครพานิชมีหนังสือบอกมาว่า พระยาสิงหโบรา (มิสเตอร์บอนฮัม อังกฤษ เจ้าเมืองสิงคโปร์) ให้กำปั่นมาช่วยปิดปากน้ำเมืองไทรอยู่ ๔ ลำ แล้วเขียนหนังสือไปปักไว้ว่า ให้พวกแขกเมืองไทรกลับมาเสีย ถ้าไม่กลับมาแล้วจะยกไปตี พวกแขกเมืองไทรก็หากลับไปไม่ ตีเข้าไปจนถึงเมืองสตูล เมืองตรัง กองทัพไทยตีอ้ายแขกถอยไปได้ แต่ข้างสงขลานั้น อ้ายแขกตีเผาบ้านเมืองจะนะลงไปถึงแดนเมืองไทร...” 

 	สำหรับหวันมาลีนั้นทัพพระยานคร ได้ตามลงไปตีถึงเกาะนางกาวี แล้วเผาเรือสิ้น แต่หวันมาลีหนีไปได้ โดยตนกูหมัดสอัดหนีไปอยู่แประ ส่วนหวันมาลีหนีไปอยู่ที่ปตูบาหรา (ปากบารา) 
 “...เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า การข้างเมืองไทร พระยาไทรก็บอกมาว่า ได้จัดเรือให้ลงไปที่เกาะนางกาวี กองทัพจุดเผาเรือพวกอ้ายหวันมาลีเสีย ว่าอ้ายหวันมาลีลงเรือหนีไปท้ายเกาะ ๔ ลำ แต่อ้ายตนกูหมัดสอัดหนีไปอยู่ที่เมืองแประ ทรงตรัสถามว่า ครอบครัวที่เกาะนางกาวีได้มาหรือไม่ เจ้าคุณหาบนกราบทูลว่า ไม่ว่าเข้ามาว่าได้หามิได้...”

 “...พระยาไทรบอกเข้ามาว่า ได้จัดให้กองเรือ ๑๙ ลำ กับกำปั่นรบอังกฤษลงไปที่เกาะนางกาวี ครั้นกองเรือไปถึง อ้ายหวันมาลีหนีไปทางปตูบาหรา ว่าจะไปอยู่เกาะหน้ามฤท แต่ที่เมืองไทรเกลี้ยกล่อมให้แขกกลับเข้ามาอยู่บ้านเรือนแล้ว ๑,๕๐๐ คน กับจับได้ ๖๐๐ คน...” 

 	การจัดการเมืองไทรบุรี หลังจากยึดคืนมาได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดเอาทัพกรุงเทพ ฯ รวมกับทัพพัทลุง ทัพนคร ฯ เข้ารักษาเมืองไทรบุรีไว้ แต่เมื่อปรึกษาแล้วเห็นควรว่าให้เอาเชื้อสายเจ้าเมืองแขกเดิมมาเป็นเจ้าเมือง แต่ต้องป้องกันก่อความวุ่นวายในภายหลังจึงให้เอาปืนใหญ่รวมทั้งเครื่องศาสตราวุธในเมืองไทรบุรีขนย้ายออกมาไว้ที่เมืองสตูล เมืองตรังเสียให้มาก

 “...ครั้น ณ วันเดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ เพลาเช้า รับสั่งสั่งพระนรินทร์ว่าไปบอกเจ้าพระยาพระคลังให้คิดทำหนังสือ ที่จะจัดแจงตั้งเมืองไทรนั้นให้ว่าเอียงๆ ไปข้างแขก...ทรงตรัสว่า ดีแล้ว แวะลงไปบอกว่าถ้าจะ
ตั้งให้แขกอยู่เมืองไทรแล้วให้ผ่อนเอาปืนใหญ่ปืนน้อยเครื่องศาสตรวุธที่เมืองไทรมาเสียให้มาก เอาไว้ให้แต่
เล็กน้อย เอามาเฉลี่ยใส่เมืองตรัง เมืองสตูล ไว้ให้เป็นที่มั่นคง ดูหาเอาแขกที่เป็นชาติตระกูลตั้งขึ้นไว้...”

 	การตั้งเมืองไทรบุรีนั้นได้ประชุมกันมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) พระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาบดินเดชา พระยาเทพ พระยามหาอำมาตย์ โดยเจ้าพระยาพระคลัง ได้คิดจะเทครัวไปไว้ในเมืองไทรบุรี โดยเอาจากเมืองจะนะ เมืองเทพา เมืองรามัน เมืองสตูล กับพวกเมืองไทรบุรีเดิม เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงค่อยตั้งเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าจะไม่ทันการ จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งเมืองให้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยทยอยเทครัวไปไว้ 
 	เจ้าพระยาพระคลัง ได้ถวายความเห็นว่า ที่เมืองไทรบุรีนั้นจะแบ่งออกเป็นตำบล (มูเก็ม) ต่างๆ แล้วตั้งนายประจำตำบล (นายมูเก็ม) เช่นเดียวกับที่แยกปัตตานีออกเป็น ๗ หัวเมืองในสมัยรัชกาลที่ ๑ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ ไม่ทรงเห็นด้วย พระองค์ทรงเห็นว่าควรตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเพื่อให้อังกฤษเห็นว่าเรายังไม่ทิ้งเมืองไทรบุรี ทั้งนี้ด้วยเหตุผล ๓ ประการคือ
 	ประการแรก เมืองปัตตานีนั้นเมื่อปราบปรามลงแล้วจำนวนประชากรไม่ได้สูญหายไปไหน ยังคงมีจำนวนประมาณเท่าเดิม จึงไม่เป็นปัญหาเรื่องจำนวนคน แต่ที่เมืองไทรบุรีนั้นคนถูกกวาดต้อนออกไปมาก และที่เหลืออยู่ในฝ่ายอังกฤษถึง ๓ ส่วน อยู่ในฝ่ายไทยเพียงส่วนเดียว ดังนั้นเมื่อแยกเป็นมูเก็มแล้วจำนวนคนก็น้อยตามลงไปด้วย
 	ประการที่สอง หากแยกเป็นตำบลแล้วมีผู้ปกครองในระดับตำบล โดยไม่มีผู้ปกครองในลำดับที่เหนือกว่านั้น หากเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ปกครองตำบลก็จะไม่มีคนตัดสิน หากจะมาตัดสินกันที่เมืองพัทลุง ก็เป็นการล่าช้า ซึ่งการตั้งผู้ปกครองตำบล แล้วไม่มีเจ้าเมืองปกครองเป็นการผิดด้วยตำราสุภาษิต โดยเฉพาะลูกหลานเจ้าเมืองไทรบุรีเดิมที่อยู่ฝ่ายอังกฤษก็จะรวมหัวกันเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนดังเดิมอีก
 	ประการที่สาม การตั้งเพียงผู้ปกครองตำบลแล้วไม่มีผู้ปกครองลำดับชั้นที่เหนือกว่า ทำให้อังกฤษเห็นว่ายังไม่มีการตั้งบ้านตั้งเมือง จึงจะอาศัยเป็นเหตุเข้ามายึดครองแล้วขอตั้งเมืองไทรบุรีขึ้นแทน และแม้ว่าอังกฤษจะถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองก็ตาม แต่นั่นเท่ากับได้เสียเมืองไทรบุรีไปแล้ว
 	ที่ประชุมเมื่อ “วันเดือน ๘ ทุติยาสาฒ แรม ๔ ค่ำ เพลาเช้า”ตรงกับ “วัน ๓ แรม ๔ ค่ำ เดือนแปดหลัง จ.ศ.๑๒๐๑ หรือวันอังคาร ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๒” ได้ข้อสรุปว่า เห็นด้วยตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ “ตั้งเจ้าเมืองไทรบุรี” โดย“เอาคนที่เป็นลูกหลานของเจ้าเมืองเดิมมาเป็นเจ้าเมือง” พร้อมพระราชทานเครื่องยศสำหรับพระยาไทรบุรีส่งมากับเรือขุนฤทธิรณไกร ประกอบ
ด้วย ครอบถม (เครื่องยศเจ้าเมืองที่นับถือศาสนาอิสลามให้ครอบแทนพาน) คนโทถม กระบี่ บั้งเงิน สัปทน และเสื้อผ้า (ซึ่งให้หาเอาจากข้างนอกไม่ได้ส่งมาจากกรุงเทพ ฯ) ปรากฏความในจดหมายหลวงอุดมสมบัติฉบับที่ ๑๕ ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย 

 “...จึงแยกแขวงอำเภอเมืองไทรบุรีออกเป็น ๑๒ มุเก็ม ตั้งตนกูอาสันเป็นเจ้าเมืองกะปังปาสูเมือง ๑ ตั้งเสศอุเซนเป็นเจ้าเมืองปลิศเมือง ๑ ตั้งตนกูมูฮำมัดอาเก็บเป็นเจ้าเมืองสตูนเมือง ๑ ให้อยู่ใต้บังคับเมืองนครศรีธรรมราชเป็น ๔ เมือง ทั้งเมืองไทรบุรี ตนกูอาหนุ่มซึ่งไพร่บ้านพลเมืองรักใคร่นับถือนั้น ให้ว่าราชการเมืองไทรบุรี...”

 	สำหรับตนกูมูฮำมัดอาเก็บ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดี ศรีอินทรวิยาหยา พระยาสตูล” มีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ดังนั้น จึงอาจถือได้ว่า 

วันที่ ๓๐ กรกฎาคม คือ วันตั้งเมืองสตูลขึ้นเป็นครั้งแรก

 	พระยาอภัยนุราช ชาติรายาภักดี ศรีอินทรวิยาหยา พระยาสตูล จึงได้เริ่มพัฒนาเมืองสตูลโดยการวางผังเมือง ตั้งเมืองที่ “หมู่บ้านมำบังนังคะรา” ตัดถนนสายแรกระหว่างมำบังนังครากับบ้านจีน หรือถนนสตูลธานีเชื่อมกับถนนยนตรการกำธรที่สะพานตายาย สร้างมัสยิดมำบัง ฯลฯ หลังจากปกครองเมืองสตูลมาได้ ๓๖ ปี จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ มหินทราธิรายานุวัติ ศรีสกลรัฐมหาปธานาธิการ ไพศาลสุนทรจริต สยามพิพิธภักดีจางวางเมืองสตูล”