สตูล : สมัยอยุธยา

รายละเอียด

 	ในสมัยอยุธยาปรากฏชื่อ “เมืองละงู” และ “เมืองไทรบุรี” ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ในหนังสือบุดที่คัดลอกจากต้นฉบับเดิม ๙ ดังนั้นหัวเมืองที่ปรากฏในตำนานจึงมีอยู่ก่อนการคัดลอก ความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวถึงพญาศรีธรรมโศกราชสร้างเมือง ๑๒ นักษัตร โดย ๑ ใน ๑๒ เมืองคือ “เมืองไทรบุรี” ถือ “ตรางูใหญ่” แต่เมื่อถึงคราวที่พระพนมวังและนางสะเดียงทองแต่งตั้งเจ้าเมืองแขกนั้นไม่ปรากฏชื่อเมืองไทรบุรีแต่มี “เมืองละงู” แทน ดังความว่า

 “...พระพนมวัง นางสะเดียงทอง แต่งเรือ ๙ ลำ ให้แก่แขก ให้ไปเป็นเจ้าแก่เมืองแขกทุกเมือง ...เจสาวังให้ไปกินเมืองละงู ให้ชื่อราชายุรา เจลาคานาญังเมียหนึ่ง เจศรีสะหลับให้ไปกินเมืองอแจ ให้ชื่อราชาอะยุ เจปะราสีเมียหนึ่ง...” 

 แต่ในรายชื่อเมืองที่เกณฑ์มาสร้างพระบรมธาตุนั้น ปรากฏว่ามีมาจากทั้งเมืองไทรบุรีและเมืองละงู ดังความว่า

 “...ครั้นแต่งให้คนสร้างบ้านทำนาแล้ว พญาก็ให้ทำพระมหาธาตุ ไปคนในเมืองญี่หน เมืองปหัง เมืองกลันตัน เมืองพรู เมืองอแจ เมืองจนะเทพนา เมืองสาย เมืองตานี เมืองละงูเมืองไทร เมืองตรัง เมืองไชยา เมืองสะอุเลา เมืองชุมพร เมืองบางสะพาน ให้ช่วยทำพระมหาธาตุ ณ เมือง นครศรีธรรมราชแล้วเสร็จไส้...”

 “...และจึงมหาปเรียนทศศรีและพระสงฆ์ทั้งหลาย...ก็ให้วัดกำแพงรอบพระเปียงทั้งสี่ด้านให้แก่พระสงฆ์ทั้งปวง...จนมุมพายับแต่ด้านอุดรไปได้แก่ขุนแปดสันเจ้าเมืองตรัง ๘ วา ได้แก่ราชาพัทยาเจ้าเมืองพัทลุง ๑๐ วา ได้แก่ขุนจุลาเจ้าเมืองละงู ๘ วา ได้แก่นายญีน้อยหัวปากส่วย ๔ วา...”
 
 	จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชเห็นได้ว่า “เมืองละงู” ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสตูลนั้นเป็นเมืองแยกออกต่างหากจากเมืองไทรบุรี โดยขณะนั้นยังไม่ปรากฏชื่อ “เมืองสตูล”ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่ายังคงเป็นมูเก็มหนึ่งของเมืองไทรบุรี ในขณะที่เมืองละงูแยกออกมาชัดเจนตั้งแต่ต้น สำหรับชื่อ “เมืองสตูล” เพิ่งมาปรากฏในสมัยรัตนโกสินทร์