สตูล : สมัยก่อนประวัติศาสตร์

รายละเอียด

	ในหนังสือภูมิศาสตร์ของปโตเลมี นักภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ชาวกรีก ในพุทธศตวรรษที่ ๗ ได้บันทึกชื่อเมืองท่าต่างๆ ของโลกไว้ประมาณ ๘,๐๐๐ ชื่อ และ ๑ ในนั้นคือ “เมืองท่าซาบานา”(Sabana) ตั้งอยู่ที่ ละติจูด ๓ องศาเหนือ ลองจิจูด ๑๖๐ องศาตะวันออก ซึ่งหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี ว่าคือ “เมืองไทรบุรี” ในปัจจุบัน ๑จนล่วงมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๒ ยังปรากฏชื่อเมือง “คี-โต” หรือ “ไทรบุรี” ในบันทึกจีนว่าตั้งอยู่ที่ละติจูด ๖ องศาเหนือ 
 	พ.ศ. ๑๒๑๕ หลวงจีนอี้จิงขณะอายุ ๓๗ ปี (เกิด พ.ศ. ๑๑๗๘) เดินทางไปอินเดียผ่านเมือง “เคียะขะ” หรือ “ไทรบุรี”
 	พ.ศ. ๑๑๑๔ อี้จิง เดินทางผ่านเมืองในคาบสมุทรมลายูแล้วสังเกตความยาวของนาฬิกาแดด และ ๑ ใน ๔ เมืองที่หลวงจีนอี้-ชิง แวะพักคือ เมือง ชี-ชา (Chieh-Cha) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู แม้ที่เมืองนี้จะไม่ได้สังเกตนาฬิกาแดด แต่หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี เชื่อว่าคือเมือง เคดาห์(Kedah) หรือ ไทรบุรี
 	จารึกติรุกกะไดยูร์ (Tirukkadaiyur Inscription) สมัยพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ กล่าวถึงศรีราเชนทรโจฬะเทวา กษัตริย์อินเดียใต้ได้ยาตรากองเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียมาจับตัวกษัตริย์แห่ง “กฎาราม” พระนามว่า “สังครามวิชโยตตุงคะวรมัน” รวมถึงยึดครองอาณาจักรศรีวิชัย (ในสุมาตรา?) ลังกาสุกะ (ปัตตานี) ตะโกลา (ตะกั่วป่า) ตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อาเจะห์ และ “กฎาราม” หรือ “ไทรบุรี” ซึ่งการเข้ายึดครองนครรัฐต่างๆ ในอุษาคเนย์นั้นชาวอินเดียได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองต่างๆ เช่น ฟูนาน จามปา ตามพรลิงค์ รวมถึง “กฏาหะ” หรือ “ไทรบุรี”ด้วย
 	เหตุการณ์เข้ายึดเมืองไทรบุรีของพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในครั้งนี้ยังปรากฏในหนังสือสะระยะห์ มลายู บทที่ ๒ ที่กล่าวถึงราชาแดนกลิงค์ (อินเดีย) ได้ยกทัพข้ามทะเลมาตีเมือง “คังคะชาร์นคร” หรือ “ไทรบุรี” พระราชามีนามว่า “ราชาลิงกิชาห์” นครนี้อยู่บนภูเขา สง่างาม ข้างหลังนครเป็นที่ราบต่ำ (ป้อมของนครนี้ยังอยู่จนทุกวันนี้ทางฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเปรัค) หลังยึดได้แล้วได้ยกทัพต่อไปยึดเมืองจุหลินด้วย