ขนมต้มใบกะพ้อ ตูปะ : ขนมที่สื่อวัฒนธรรมของชาวสตูล

รายละเอียด

	สตูลเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านประเพณีและวัฒนธรรม และความหลากหลายของวิถีการดำรงชีวิต ซึ่งวัฒนธรรมมีทั้งแบบดั้งเดิมของชาวพื้นเมือง คือ สิ่งศักสิทธิ์ (ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น) ผีสางนางไม้ รวมถึงบรรพบุรุษ และวัฒนธรรมใหม่ที่รับเข้ามาคือ การนับถือศาสนาพุทธ การนับถือศาสนาอิสลามตามแบบอย่างของชาวอาหรับ และการนับถือศาสนาพราหมณ์ตามแบบอย่างของอินเดีย 
	หนึ่งในประเพณีของชาวไทยพื้นเมืองจังหวัดของสตูลที่มีการปฏิบัติกันมาช้านาน คือ ประเพณีสารทเดือนสิบ ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์โดยผสมผสานความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบจะมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำ ถึง แรม ๑๕ ค่ำ ของทุกปี 
	ส่วนชาวไทยมุสลิมมีประเพณีที่ปฏิบัติกันมาช้านานและปฏิบัติเป็นประจำทุกปี คือ ประเพณีวันอีด หรือ วันฮารีรายอ ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยมุสลิม ในวันนี้ชาวไทยมุสลิมจะไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน เพื่ออภัยต่อกันในสิ่งที่ผ่านมา ในตอนเช้าของวันฮารีรายอ ชาวไทยมุสลิมจะตื่นนอนแต่เช้าตรู่ โดยเฉพาะผู้หญิงจะจัดบ้านเรือนให้สะอาด จัดเตรียมอาหาร และขนมต่างๆ ไว้ต้อนรับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง และเดินทางไปละหมาดที่มัสยิด อีกทั้งชาวไทยเชื่อสายจีน ดำรงพิธีกรรม งานเทศกาลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรุษจีน เช็งเม้ง สารทจีน เป็นต้น ที่แฝงไว้ด้วยนัยของการดำรงวิชีวิตของความเป็นปัจเจกเรื่อยมา 

	ทั้งวันสารทเดือนสิบ วันอีด หรือเทศกาลของชาวไทยเชื่อสายจีน จะมีการทำขนมต้มใบกะพ้อ หรือ นาสิมานิส หรือที่ชาวใต้เรียกกันสั้นๆ ว่า “ต้ม” ส่วนชาวมุสลิมจะเรียกขนมชนิดนี้ว่า “ตูปะ” หรือ “ตูปัต” ในวันสารทเดือนสิบก็จะนำขนมต้มใบกะพ้อไปวัด ส่วนในวันอีดก็จะนาไปมัสยิด และแจกจ่ายให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง 
	ขนมต้ม เป็นขนมที่มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เข้ามาพร้อมกับศาสนาพราหมณ์และลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้า โดยเชื่อกันว่าพระพิฆเนศโปรดขนมนี้มาก ครั้งหนึ่งเสวยเข้าไปเต็มพุงเมื่อขี่หนูกลับวิมาน ระหว่างทางหนูมาเจองู ตกใจจึงหยุดทันที พระพิฆเนศตกจากหลังหนู พุงแตก พระพิฆเนศเสียดายขนมจึงกอบเข้าใส่พุงใหม่แล้วเอาซากงูที่ตีตายแล้วมาพันพุงไว้ แล้วจึงกลับไปวิมาน ต่อมาได้มีบทบาทสำคัญในพิธีบวงสรวงเทวดา ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ยกเสาเอก ตั้งศาลพระภูมิ ในประเพณีสู่ขอแต่โบราณในบางท้องที่ใช้ขนมต้มด้วย ดังมีเพลงพวงมาลัยร้องเล่นว่า 

	“โอ้ละเหยลอยมา 		ลอยมาแล้วก็ลอยไป 
พ่อแม่ท่านเลี้ยงมายาก 		จะกินขันหมากให้ได้ 
ไม่ได้กินหนมต้มอมน้ำตาล 	น้องไม่รับประทานของใคร 
พวงเจ้าเอ๋ยมาลัย 		ถอยหลังกลับไปเถิดเอย”

	ขนมต้มดั้งเดิมไม่ได้ห่อด้วยใบกะพ้อ แต่ต่อมาเมื่อขนมต้มได้แพร่หลายมายังภาคใต้ ก็มีการปรับเปลี่ยนโดยการนำใบกะพ้อ ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ ชนิดเดียวกับปาล์ม มีต้นเป็นกอ ใบเป็นรูปใบพัด ใบสีเขียวเข้ม เมื่อเติบโตไประยะหนึ่งจะเกิดหน่อตามบริเวณโคนต้นมากมาย ดอกสีขาว ผลสุกสีแดง เมื่อนำใบมาใช้ห่อข้าวเหนียวจึงมีชื่อเรียกว่า “ขนมต้มใบกะพ้อ” หรือ “ตูปะ” ขนมต้มใบกะพ้อเป็นขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของความรักใคร่กลมเกลียวกัน เพราะการทาขนมต้องช่วยกันหลายแรงจึงจะเสร็จ