ชิโนโปรตุกีส : ตึกเก่าบนแผ่นดิน ๕๐๐ ล้านปี

รายละเอียด

ตึกสถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีส อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นตึกรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโปรตุเกส จีน และมลายู ที่หาดูได้ในแถบจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล เท่านั้น
	สำหรับจังหวัดสตูลมีแต่ที่อำเภอทุ่งหว้าและอำเภอเมือง กล่าวเฉพาะอาคารเก่าที่อำเภอทุ่งหว้า อาคารกลุ่มนี้มีประมาณ ๑๐๐ คูหา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลทุ่งหว้า มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอำเภอทุ่งหว้าเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ช่วงบนได้ถูกดัดแปลงไปเพราะชำรุดบ้าง เพราะเจ้าของต้องการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ช่วงล่าง เช่น เสาและผนังยังอยู่ในสภาพเดิม บางหลังยังมีอยู่ครบทุกส่วน หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยซึ่งเป็นกระเบื้องเดิมที่ใช้มุงมาตั้งแต่สมัยสร้างอาคารทีเดียว 
	ตึกชิโนโปรตุกีสที่ทุ่งหว้า สร้างและออกแบบโดยนายช่างจีนที่มาจากปีนัง วัสดุก่อสร้างเกือบทั้งหมด ก็ขนมาจากปีนัง ชาวบ้านเล่าว่า เมื่อปูนซีเมนต์มาถึงสุไหงอุเป แข็งตัวหมดแล้ว ต้องนำไปตำในครกตำข้าว จึงนำไปใช้ก่ออิฐ ฉาบปูน และต้องใช้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในยุคนั้น เสาและคานแบบชิโนโปรตุกีส ไม่มีการใช้เหล็กเสริม ที่เกาะปีนังและแหลมมลายูยังไม่มีโรงงานปูนซีเมนต์ สันนิษฐานว่าซื้อมาจากอังกฤษอีกต่อหนึ่ง
	อิฐที่ใช้ก่อกำแพงและผนังขนาดกว้าง ๓ นิ้ว หนัก ๓ กิโลกรัม กระเบื้องมุงหลังคาเป็นแผ่นเล็ก แบบจีน เรียกว่ากระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องพื้นขนาดใหญ่และกระเบื้องที่จุดอื่น เช่น บริเวณทำบัวปิดคานไม้ จะมีขนาดบางกว่ากระเบื้องพื้น เหล็กเส้นบางส่วน เช่น ลูกกรงหน้าต่าง ก็ล้วนนำเข้าจากปีนัง หินแกรนิตที่หัวเสา คู่ที่ ๑ จากด้านหน้า รับน้ำหนักของคานไม้แข็งขนาดใหญ่ก็ขนมาจากปีนัง หินแกรนิตชนิดนี้สีขาวแกมเหลือง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยไม่มี ไม้เนื้อแข็งที่ทำคานใช้ในท้องถิ่นรอบๆ สุไหงอุเป ทรายสำหรับก่ออิฐและฉาบปูนได้จากเกาะใกล้เคียงที่มีชายหาด เป็นทรายน้ำเค็มจากเกาะหมู (ปัจจุบันคือเกาะสุกร จังหวัดตรัง) หรือนำมาจากบริเวณใกล้ๆ ที่มีทราย ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงสุไหงอุเป ไม่มีลำธารขนาดใหญ่จึงไม่มีทรายน้ำจืด ต้องนำทรายมาล้างประมาณ ๖ เดือน บางอาคารยังมีคราบเกลือติดอยู่ตามกำแพง
	พื้นชั้นล่าง โดยทั่วไปเทคอนกรีตขัดมัน บางตอนปูกระเบื้องข้าวหลามตัดขนาดใหญ่เหมือนคฤหาสน์กูเด็น พื้นชั้นบนปูกระดาน ฝาภายในใช้ไม้กระดานตียืน ประตูหน้าต่างเป็นแบบสองบาน ใส่บานเกร็ดไม้ตีขวาง การตกแต่งภายใน ส่วนใหญ่เป็นศิลปกรรมแบบจีน
	ตึกชิโนโปรตุกีสบ่งบอกถึงหลากหลายวัฒนธรรม ผสมผสานเข้าด้วยกัน เช่น โค้งทางเดินข้างล่างหน้าอาคาร สร้างให้เดิน กันแดด กันฝน หรือหน้าต่างชั้นสอง สร้างติดริมผนังด้านหน้ามาจากการก่อสร้างของโปรตุเกส หัวเสารับน้ำหนักคานไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ มาจากหินแกรนิตของจีน ชนิดเดียวกับป้ายฮวงซุ้ย ประตูหน้าบ้านเป็นแบบจีน บริเวณที่ว่างภายในบ้าน ใช้เป็นที่สำหรับล้างจาน วางโอ่งน้ำ (เต้เจ้) หรือหลังคาสูงโปร่งได้แนวคิดมาจากการสร้างบ้านของคนมลายู เพราะทำให้เย็นสบายเนื่องจากภาคใต้ของไทยอากาศร้อนชื้น
	ชาวบ้านบางกลุ่มสันนิษฐานว่าตึกชิโนโปรตุกีสที่ทุ่งหว้าสร้างมานานประมาณ ๑๕๐ ปีเศษ หรือมากกว่า เนื่องจากหลักฐานที่ค้นพบบอกว่าในช่วงที่พระยาภูมินารถภักดีเข้ามาสุไหงอุเปนั้น ได้ตัดถนนจากสี่แยกต้นแคไปบ้านโพธิ์ (ทางไปตรัง) สายหนึ่ง จากสี่แยกต้นแคไปหนองใหญ่ (ทางไปละงู) สายหนึ่ง และ จากสี่แยกต้นแคไปที่ว่าการอำเภอสุไหงอุเป (สำนักงานเทศบาลตำบลทุ่งหว้าในปัจจุบัน) อีกสายหนึ่ง กับขยายถนนเดิม คือ สายสี่แยกต้นแคไปท่าเรือสุไหงอุเปให้กว้างขึ้น คาดว่าน่าจะมีบ้านเรือนปลูกสร้างตามแนวถนนในช่วงนี้


	แต่มีชาวบ้านบางกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นว่าตึกชิโนโปรตุกีสส่วนหนึ่งได้ก่อสร้างครั้งแรกโดยอังกฤษ เนื่องจากสมัยก่อนเมื่อเกาะปีนังถูกปกครองโดยอังกฤษ การติดต่อระหว่างสุไหงอุเปกับเกาะปีนังสะดวกมาก ชาวบ้านเล่าว่าอังกฤษคิดว่าสุไหงอุเปเป็นของอังกฤษด้วย และเป็นเมืองในประเทศเดียวกันกับปีนัง จึงไม่เข้มงวด ตรวจตรา ไม่มีการควบคุม จึงมีชาวจีนย้ายถิ่นจากปีนังเข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนที่ทุ่งหว้า และได้สร้างที่อยู่อาศัยทำมาค้าขายจนร่ำรวย และตึกบางส่วนก็อาจสร้างโดยพระยาภูมินารถภักดี ขณะเป็นเจ้าเมืองสตูลด้วย
	ตึกชิโนโปรตุกีสที่ทุ่งหว้ามีสองแบบ คือ เป็นลักษณะตึกแถวหรือห้องแถวทั้ง ๒ ชั้นและชั้นเดียว เริ่มต้นก่อสร้างครั้งแรกทางทิศตะวันตกของถนน โดยเริ่มจากทางด้านใต้ก่อนคือก่อสร้างจากที่ไกลเข้ามา และก่อสร้างโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐในสมัยนั้น มีแผนผังที่กำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว บริเวณนี้เรียกว่าหัวลาด หรือบางทีเรียกว่า ตึกหลวง สร้างชั้นเดียว ๔ หลัง สร้าง ๒ ชั้น ๖ หลัง ราคาขายชั้นเดียว ๓๐๐ บาท สองชั้น ราคา ๕๐๐ บาท ราคาต่างกันเนื่องจากพื้นที่ใช้สอยของอาคารไม่เท่ากัน ตึกเหล่านี้ในอดีตเคยเป็นร้านขายยาสมุนไพร ร้านขายของชำ ที่พักอาศัย ส่วนอาคารหลังอื่นๆ สร้างโดยเอกชน
	ตึกสร้างพิเศษคือตึกคู่ที่สร้างโดยมีเสาคู่หน้าและคู่ ๒ ตรงกัน ภายในอาคารที่ยาว ๑๑-๑๒ เมตร และรับน้ำหนักอาคารชั้น ๒ โดยใช้ผนังแทนเสา ในเสาไม่เสริมเหล็ก เสารับน้ำหนักชั้น ๒ ผนังหนา ๓๓ เซนติเมตร ตลอดแนวสูงมากกว่า ๔ เมตร ช่างที่รับจ้างฝีมือดี เจ้าของอาคารมีฐานะดี มีพื้นที่ใช้สอยด้าน
หลังต่างหาก ภายในตัวอาคารนี้ มีการตกแต่งภายในอย่างดี เสาและม่านบังตาแกะสลักไม้ที่ยังคงเหลือ
ภายในบ้านเป็นที่โล่งไม่มีหลังคา มีบ่อน้ำที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ บริเวณบ่อน้ำเรียกตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่าจิ่มแจ๊ หน้าบ้านใช้ประตูบานไม้ มีกุญแจคล้องประตู ปัจจุบันใช้ประตูบานเหล็กแทน
	หน้าบ้านตึกคู่ จะเห็นซุ้มทางเดินเท้าชาวบ้านเรียกว่าหง่อก่ากี่ หง่อมาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่า๕ ก่ากี่มาจากภาษามลายู kaki หมายถึง เท้า (foot) หง่อก่ากี่ จึงหมายถึง ทางเดินกว้างห้าฟุตโดยประมาณแต่จริงๆ แล้วจะมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ด้านหลังบ้านตึกคู่ ประตูทางออกถูกดัดแปลงเป็นหน้าต่าง บริเวณที่ติดกับอาคารนี้เป็นบ่อนกาสิโนแต่ลักษณะของอาคารบ่อนนี้ไม่ทราบได้ เนื่องจากได้รื้อถอนไปก่อน ปัจจุบันเป็นที่ราชพัสดุ และเป็นที่ตั้งห้องสมุดประชาชนกับการศึกษานอกโรงเรียน