อุทยานธรณีโลกสตูล : ความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตผู้คน

รายละเอียด

	อุทยานธรณีโลกสตูล (Satun UNESCO Global Geopark) คือพื้นที่มีความสำคัญทางธรณีวิทยา เป็นบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ ๕๕๐ ล้านปีก่อน ที่อุดมไปด้วยสิ่งมีชีวิตยุคเก่า เกิดเป็นแหล่งสร้างออกซิเจนให้กับโลกในช่วงเวลานั้น ต่อมาเปลือกโลกยกตัวขึ้น ก่อเกิดเป็นเทือกเขาและถ้ำ โดยพื้นที่เหล่านี้ได้รับการบริหารจัดการแบบองค์รวม ประกอบด้วย การอนุรักษ์ การให้การศึกษาและพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความตระหนักและความเข้าใจให้ชุมชนเรียนรู้และเข้าใจ มีความภาคภูมิใจในพื้นที่ตัวเอง สร้างอาชีพ เศรษฐกิจท้องถิ่น และการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ใช้มรดกธรณีวิทยาเชื่อมโยงกับมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอื่นๆ 
	อุทยานธรณีโลกสตูล ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม ๔ อำเภอ คือ ทุ่งหว้า มะนัง ละงู และอำเภอเมือง ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีการค้นพบฟอสซิลช้างดึกดำบรรพ์สกุลสเตโกดอนอายุ ๑.๘ ล้านปี และฟอสซิลแรด กวาง เต่า ในถ้ำวังกล้วย ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ถ้ำเลสเตโกดอน” อบตำบลทุ่งหว้าจึงได้สร้างศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้าขึ้นมา เพื่อจัดแสดงเรื่องราวข้อมูลของซากดึกดำบรรพ์เหล่านั้นเพื่อเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว ต่อมา พ.ศ. ๒๕๕๔ จังหวัดสตูลได้ดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณี โดยกำหนดพื้นที่อุทยานธรณี ตั้งหน่วยงานบริหารจัดการ จัดทำแผนบริหารจัดการ และดำเนินการตามแผนฯ ประกาศจัดตั้งอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ มีพื้นที่ครอบคลุม ๒,๕๙๗.๒๑ ตารางกิโลเมตร 
	 วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเสนอให้อุทยานธรณีสตูลเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลกสตูล วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑
	ประโยชน์การเป็นสมาชิกอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก : เป็นการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์ผ่านการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านคุณค่าของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการท่องเที่ยวซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวนำรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นและประเทศ ประชากรในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประชากรในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์และหวงแหน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าได้รับการปกป้องคุ้มครอง เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งศึกษา วิจัย ของนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ