สูไงอูเปะฮฺ : ปีนังน้อยแห่งเมืองสตูล

รายละเอียด

	เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ สภาวัฒนธรรมจังหวัดสตูลได้แปลบันทึกจดหมายเหตุพระยาภูมินารถภักดีจากภาษามลายูจำนวน ๒ เล่มเป็นภาษาไทย และพิมพ์เผยแพร่เมื่อพ.ศ. ๒๕๕๐ โดยตั้งชื่อหนังสือว่า "บันทึกจดหมายเหตุพระยาภูมินารถภักดี พ.ศ. ๒๔๓๙ -๒๔๔๓"
	ถึงแม้ว่าการแปลจดหมายเหตุพระยาภูมินารถภักดีทำได้เพียง ๑๐๐ หน้ากว่าๆ จากจำนวนทั้งหมด๘๘๗ หน้าเท่านั้น หากบันทึก ๒ เล่มนี้ก็เป็นหลักฐานชั้นต้นที่ช่วยให้เราศึกษาสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทำให้เรามองเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองมำบังนังคะราระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๓ ได้ชัดเจนพอควร
	สำหรับบันทึกที่เกี่ยวกับสูไงอูเปะฮฺ ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๓ ผู้แปลเอกสารได้จัดหมวดหมู่เนื้อหาสาระไว้เป็นกลุ่มเดียวกัน เรียงลำดับเหตุการณ์ตามเดือน ปี รวม ๑๓ ตอน ส่วนของเมืองสูไงอูเปะฮฺนั้นปรากฏในบันทึกตอนที่ ๔ มีจำนวน ๑๖ ฉบับ ใช้ชื่อตอนว่า สูไงอูเปะฮฺ พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๔๔๓
	เกี่ยวกับการสะกดชื่อเมือง ขอทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่าพบชื่อเมืองนี้สะกดภาษาไทยเป็น ๒ แบบ คือ “สูไงอูเปะฮฺ” และ “สุไหงอุเป” ผู้เขียนจึงสืบค้นให้กระจ่างชัดว่าจริงๆ แล้วควรใช้แบบไหน และปรากฏผลดังนี้
	จากบันทึกจดหมายเหตุพระยาภูมินารถภักดี ซึ่งแปลมาจากภาษามลายูสะกดว่า “สูไงอูเปะฮฺ” ตรงนี้ต้องย้ำคำว่า “แปลมา” เป็นเกณฑ์พิจารณาไว้ด้วย ส่วนเอกสารราชการ คือ ราชกิจจานุเบกษาเรื่อง “ประกาศเรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ ลงวันที่ ๑๙ เดือนพฤษภาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๙” และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๐” ระบุการเปลี่ยนชื่อไว้ดังนี้


“เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๖๐ เล่มที่ ๓๔ น่า ๙๘
อำเภอสุไหงอุเป อำเภอทุ่งหว้า”

	สอดคล้องกับหนังสือประวัติย่อของจังหวัดสตูล ของ เจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ก็มีรายละเอียดว่า

“ข้อ ๓๓ ตำบลสุไหงอุเป “คลองกาบหมาก,กาบปูเล” เปลี่ยนเป็น ต.ทุ่งหว้า”

	เมื่อพิจารณาจากภาษามลายูซึ่งเขียนแบบรูมีจะมี ๒ แบบ คือ Sugai Upe และ Sogai Upih นั่นอาจทำให้การแปลแตกต่างกันได้ จึงสรุปตามหลักฐานเหล่านี้ว่า ชื่อ “สูไงอูเปะฮฺ” เป็นไปตามที่ผู้แปลภาษามลายูเข้าใจ แต่ “สุไหงอุเป” เป็นการสะกดที่ราชการใช้อยู่ หากอย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ขอยึดตามคำราชการเป็นหลัก เว้นแต่กรณีคัดลอกข้อความจากบันทึกจดหมายเหตุฯจะคงการสะกดแบบเดิมไว้บันทึกฯ เมืองสตูล ระบุว่า ชุมชนที่ผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นมีเพียง ๕ ชุมชนได้แก่ มำบังนังคะรา สูไงอูเปะฮฺ ละงู บ้านจีน และบ้านทุ่งริ้น ใน ๔ ชุมชน คือ มำบังนังคะรา สูไงอูเปะฮฺ บ้านจีน และบ้านทุ่งริ้น เป็นที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพของชาวจีนกลุ่มใหญ่ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของแหลมมลายูหรือเกาะปีนัง 	
	ในอดีต หมู่นักเดินเรือผู้มาค้าขายเรียกที่นี่ว่า สูไงอูเปะฮฺ (Sungai-Upe) สูไงอูเปะฮฺเป็นภาษามลายู แยกเป็น ๒ คำคือ สูไง แปลว่า คลอง เนื่องจากสภาพพื้นที่ของอำเภอทุ่งหว้าในสมัยนั้นมีอาณาเขตติดกับทะเล มีคลองหลายสาย ส่วนคำว่า อูเปะฮฺ แปลว่า กาบหมาก ซึ่งได้ชื่อมาจากต้นหลาวชะโอนที่ขึ้นอยู่ตลอดแนวริมคลอง และเพราะหลาวชะโอนมีลักษณะคล้ายต้นหมากโดยเฉพาะกาบใบเมื่อแก่จะร่วงลงลอยเพ่นพ่านอยู่ในลำคลอง ชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายจึงเรียกกันว่า "สูไงอูเปะฮฺ" จนในที่สุดก็กลายเป็นชื่อเมือง พระยาภูมินารถภักดี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสตูลในขณะนั้น ด้วยเพราะท่านเคยอาศัยอยู่ที่เกาะปีนังมาก่อน ได้เห็นความเจริญก้าวหน้าของปีนังที่อังกฤษปกครองจึงอยากจะพัฒนาสุไหงอุเปให้เป็นท่าเรือฝั่งตะวันตกของเมืองสตูลและเปิดเส้นทางเดินเรือติดต่อกับปีนัง















 	สมัยนั้นชาวตะวันตกมีความต้องการพริกไทย สมุนไพร เครื่องเทศที่ใช้เป็นอาหาร และนำไปผลิตเป็นยารักษาโรค พริกไทยจึงเป็นสินค้าที่ตลาดโลกต้องการ ซึ่งตลาดใหญ่ตั้งอยู่ที่เกาะปีนัง พระยาภูมินารถภักดีเห็นว่าภูมิประเทศของสุไหงอุเปเหมาะสำหรับปลูกพริกไทย ด้วยพื้นที่เป็นดินร่วนทรายระบายน้ำได้ดี มีอินทรีย์วัตถุอุดมสมบูรณ์จึงคิดที่จะสร้างเมืองสุไหงอุเปให้เป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่มีคุณภาพ และการสร้างท่าเทียบเรือก็จะช่วยให้ขนส่งผลผลิตไปขายที่ปีนังได้สะดวก 
	พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านจึงได้ชักชวนชาวจีนจากเกาะปีนังให้มาบุกเบิกสร้างเมืองสตูลให้รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เป็นยุคที่คนจีนกลุ่มใหญ่เคลื่อนย้ายเข้ามาสู่เมืองสตูล เพื่อประกอบอาชีพที่สุไหงอุเปจำนวน ๑,๔๙๗ คน มีผู้ทำการค้าในตลาด ๔๕๖ คน ปลูกพริกไทยตามสวนต่างๆ ๑,๐๔๑ คนสมทบกับชาวจีนช่องแคบ (Straits Chinese ) ที่มาลงหลักปักฐานทำไร่พริกไทยและค้าขายตั้งแต่สมัยพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) อยู่ก่อนแล้วพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ทั่วสุไหงอุเป ตั้งแต่ท่าเรือจนถึงควนเขาแดงเต็มไปด้วยแปลงพริกไทย ชาวทุ่งหว้าเล่ากันว่า ชาวต่างชาติซื้อพริกไทยไปทำตู้เย็น ซึ่งในสมัยก่อนยังไม่มีตู้เย็นใช้เก็บอาหารไว้กินนานๆ ดังนั้นสำนวนนี้จึงหมายถึงนำไปถนอมอาหารนั่นเอง 
	สุไหงอุเปมีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ พริกไทย ไม้ฟืน (ต้นโกงกาง) แต่ที่ขึ้นชื่อที่สุดคือพริกไทยพริกไทยที่ปลูกในพื้นที่ของสุไหงอุเปมีเมล็ดกลม ขนาดไม่ใหญ่เหมือนพริกไทยทั่วไป มีกลิ่นหอม เก็บไว้ได้นาน โดยแยกผลิตเป็นพริกไทยขาวและพริกไทยดำ ด้านคุณภาพนั้นก็ร่ำลือกันว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก จึงเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
	พริกไทยพลิกเมืองสุไหงอุเปให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศและเมืองใกล้เคียง โดยเฉพาะเกาะปีนัง ยิ่งทำให้ชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งหากินกัน
ที่นี่มากขึ้น ชาวจีนที่เดินทางมาจากปีนังได้สร้างตึกรามบ้านช่องที่พักอาศัยตามแบบอย่างตึกในเกาะปีนังที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมโปรตุเกสหรือชิโน-โปรตุกีส (Sino-Portuguese style) ซึ่งยังคงมีอยู่ถึงทุกวันนี้ สุไหงอุเปพัฒนารุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือมีท่าเทียบเรือใหญ่มาก เป็นรองก็แต่เมืองปีนังจึงได้รับการขนานนามว่า "ปีนังน้อย" ท่าเรือนี้สามารถรองรับเรือกลไฟที่เดินทางเข้าออกประจำระหว่างปีนังกับสุไหงอุเปและเมืองใกล้เคียงจำนวน ๖ ลำ เป็นเรือของปีนัง ๒ บริษัท ได้แก่เรือ จิ้นลก, จิ้นไถ่ , ท้งจิอ้น , อังเป้ง และฟิดนัลดะแรแคน 
	ต่อมาพระยาภูมินารถภักดีได้ซื้อเรือกลไฟชื่อ มำบัง สมทบอีกลำหนึ่ง เรือเหล่านี้ใช้บรรทุกพริกไทยและรับโดยสารไปในตัว มีเที่ยวแล่นไปมาเดือนละ ๔ ครั้งค่าโดยสารคนละ ๑.๕๐ เหรียญ ผู้โดยสารได้ของแถมเป็นผ้าเช็ดหน้าและกาแฟคนละหนึ่งถ้วย ส่วนระยะเวลาการเดินทางนั้นไม่มีหลักฐานว่าใช้เวลากี่วันกี่ชั่วโมงจึงจะถึงจุดหมายและเพื่อไม่ให้เสียเที่ยวเปล่า พ่อค้าแม่ขายที่นำพริกไทย ไม้ฟืน ไปขาย ขากลับก็จะซื้อสินค้าจากปีนังอาทิ ถ้วย ชาม จาน ผ้า และสินค้าอื่นๆ อีกมากมายมาจำหน่ายในตลาดที่เรียกว่า "บ่านซ่าน" และเพราะชาวจีนค้าขายเก่ง ทำงานขยันขันแข็ง บุกบั่นทำการค้าขายและสร้างเมืองสุไหงอุเปด้วยน้ำพักน้ำแรงจนเจริญรุ่งเรือง ด้วยความขยันมานะดังกล่าวจึงทำให้การสัมปทานกิจการส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือชาวจีน ไม่นานนักก็พากันมีฐานะดีมั่งมีขึ้น 
 	ตลาดสุไหงอุเปหรือ บ่านซ่าน คึกคักเป็นพิเศษ ในฤดูเก็บเกี่ยวพริกไทย ตามย่านตลาดและท่าเรือมีผู้คนทั้งชาวต่างชาติและคนในท้องที่เดินเที่ยวเตร็ดเตร่กันมาก ยามค่ำคืนมีมหรสพหรือการละเล่นให้ผู้คนชม เช่นหนังตะลุง งิ้ว หุ่นจีน มโนราห์ 
 	สิ่งที่ตามมาคือการสูบฝิ่น บ่อนการพนัน ซึ่งน่าจะเกิดจากฝีมือชาวจีนเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมีบ่อนการพนันที่ไม่อนุญาตให้เปิดในท้องที่อื่นได้แก่ บ่อนไพ่ โป จับยี่กี เปิดอยู่ทั่วไป เก็บค่าต๋งได้คืนละนับพันเหรียญ มีสถานที่สูบฝิ่นที่ถูกกฎหมาย มีโสเภณีหรือหญิงงามเมืองอยู่ตามตึกแถวต่างๆ คอยล่อตาล่อใจนักท่องเที่ยวกลางคืน การละเล่นบันเทิงทั้งหลายนี้คึกคักมากเป็นพิเศษในวันที่เรือจากปีนังเข้าเทียบท่าและจะมีอยู่จนกระทั่งเรือออกจากท่าไป
 	หากอีกมุม การที่ชาวจีนมาอยู่รวมกันมากก็ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลุมฝังศพตามมาเพราะตามประเพณีจีน เมื่อญาติหรือคนครอบครัวเสียชีวิตจะต้องนำไปฝัง แต่เนื่องจากยังไม่มีสุสานที่สัดส่วนเฉพาะ ศพจำนวนมากจึงถูกฝังตามที่สาธารณะและที่ของผู้อื่น ดูแล้วไม่เหมาะสม ดังนั้นพระยาภูมินารถภักดีจึงประกาศคำสั่งเรื่องสุสานจีนในสุไหงอุเปว่า ห้ามนำศพไปฝังในที่สาธารณะ และที่ของผู้อื่น เว้นแต่ในที่ของเถ้าแก่ที่ได้รับอนุญาต พร้อมกันนั้นก็จัดการจัดตั้งสุสานขึ้น ๒ แห่งคือ ที่บ้านบางปูและที่บ้านนาเปรีย หากใครขัดขืนจะถูกลงโทษและถูกปรับ ๒๕ เหรียญ
 	ด้านการปกครอง ในยุคสมัยนั้นสุไหงอุเปเป็นเขตปกครองหนึ่งของมำบังนังคะรา เขตปกครองที่สุไหงอุเปมีศาลพิจารณาคดีความ แบ่งเป็นส่วนราชการคล้ายๆ กับศาลาว่าการเมืองสตูล มีศาลาว่าการปกครองเขตตั้งอยู่ใกล้คลองสุไหงอุเป มีผู้ปกครอง มีหัวหน้าผู้ควบคุมความสงบเรียบร้อยประจำเขตปกครอง มีศาลพิจารณาคดีความ มีการแบ่งส่วนราชการต่างๆ คล้ายๆ ศาลากลาง 
 	สิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นความรุ่งเรืองทันสมัยอีกประการก็คือในศาลาว่าการและบ้านข้าราชการมีภาชนะกระเบื้องใช้ บรรดาถ้วยชาม จาน จานรองถ้วยชา ล้วนสั่งทำพิเศษจากปีนัง มีเครื่องหมายอักษรภาษาอังกฤษกำกับทุกชิ้น สำหรับภาชนะที่ใช้ประจำศาลาว่าการมีอักษร “Tongwa” ปรากฏอยู่
 	ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ที่ประเทศไทยเสียดินแดนไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้อังกฤษ การค้าขายระหว่างสุไหงอุเปกับปีนังก็ต้องชะงักทำให้การปลูกพริกไทยซบเซาลดบทบาทลง ราษฎรในท้องที่หันมาปลูกยางพาราแทน ทำให้ความเจริญของสุไหงอุเปเสื่อมถอย ชาวจีนพากันโยกย้ายออกไป บ้างกลับไปปีนัง บ้างไปประเทศจีน และบ้างก็ไปตั้งถิ่นฐานหาทำเลทำมาหากินในท้องที่อื่นๆ โดยเฉพาะกิ่งอำเภอละงูทำให้ท้องที่กิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว กลับกัน เมืองสุไหงอุเปยิ่งร่วงโรยลงเรื่อยๆ 
 	หลังจากที่มีราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๕๙ ให้เปลี่ยนชื่อ เมืองสตูล เป็นจังหวัดสตูล เพื่อให้การปกครองมีระเบียบเป็นแบบเดียวกัน เวลาต่อมา ราชกิจกจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ก็เปลี่ยน “อำเภอสุไหงอุเป” เป็น “อำเภอทุ่งหว้า” เช่นกัน 
 	จนกระทั่งพ.ศ. ๒๔๗๓ ทางราชการพิจารณาเห็นว่ากิ่งอำเภอละงูเจริญขึ้น มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นกว่าอำเภอทุ่งหว้าจึงได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอละงูเป็นอำเภอเรียกว่าอำเภอละงูและยุบอำเภอทุ่งหว้าเดิมเป็นกิ่งอำเภอเรียกว่ากิ่งอำเภอทุ่งหว้า ขึ้นอยู่ในการปกครองของอำเภอละงู ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ กระทรวงมหาดไทยได้ออกพระราชกฤษฎีกายกฐานะกิ่งอำเภอทุ่งหว้าขึ้นเป็นอำเภอเรียกว่าอำเภอทุ่งหว้าเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖
 	“สุไหงอุเป - ปีนังน้อยแห่งเมืองสตูล” ปัจจุบันคือดินแดน “อุทยานธรณีโลกสตูล” จังหวัดสตูลได้จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดสตูล พ.ศ. ๒๕๖๑ –๒๕๖๔ ด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและวัฒนธรรม ในการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอุทยานธรณีโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระดับนานาชาติแล้ว