กำปงจีนา – บ้านจีน : เรื่องของซัวเต๊ง และ อาคารไม้ ๑๐๐ ปี

รายละเอียด

	บ้านจีน เดิมเป็นหมู่บ้านเรียกเป็นภาษามลายูว่า “กำปงจีนา” หมายถึง หมู่บ้านที่มีชาวจีนกลุ่มใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ นั่นเอง ซึ่งมีหลักฐานอ้างอิงได้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองสตูลอยู่ในสถานะเป็น มูเก็ม โดยมีตนกูปัศนู เป็นผู้ปกครอง มีทั้งชาวมลายูและชาวจีนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่มูเก็มสโตย ชาวจีนกลุ่มนี้เป็นชาวฮกเกี้ยนที่เดินทางจากเมืองท่าเซี๊ยะเหมินด้วยเรือสำเภาหัวเขียว มาขึ้นฝั่งที่ปีนัง แล้วทยอยเดินทางต่อเพื่อเสาะหาทำเลตั้งหลักปักฐานดำรงชีพ ชาวจีนรุ่นแรกๆ ที่เดินทางมายังที่มูเก็มสโตย ได้หักร้างถางพง สร้างชุมชนขึ้นที่นี่ แล้วดำรงชีวิตด้วยการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะทำสวนส้มจุก ส่งไปขายปีนังเป็นประจำ จนมีชื่อเสียงร่ำลือกันว่าส้มจุกที่ รสชาติดี น่ากินต้องส้มจุก “บ้านจีน”
	ล่วงมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีทั้งชาวจีนและมลายูเดินทางมาตามเส้นทางคลองมำบัง มาจนถึงคลองบ้านจีน (คลองมำบังช่วงนี้เรียกว่าคลองบ้านจีนหรือคลองฉลุง) พบชาวบ้านที่มาอาศัยอยู่ก่อนแล้ว จึงพากันปักหลักหักร้างถางพงทำสวนทำไร่ ด้วย จนกลายเป็นชุมชนใหญ่ แล้วก็มีการทำค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดขึ้น ด้วยชาวจีนเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมาก ทุกคนจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “กำปงจีนา” แปลว่าหมู่บ้านชาวจีน
	ในสมัยตนกูมูอำมัดอาเก็บเจ้าเมืองสตูลคนแรก (พ.ศ. ๒๓๘๒-๒๔๑๙) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ตัดถนนสายแรกของเมืองสตูลคือสายที่เชื่อมระหว่างนครีสโตย กับมูกิมฆัวรฺ หรือตำบลบ้านควน และต่อไปฉลุง ปัจจุบันคือถนนสตูลธานีต่อกับถนนยนตรการกำธรที่สะพานตายาย
	คนจีนคงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านจีนอยู่เรื่อยๆ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ปรากฏหลักฐานว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ สมัยพระยาอภัยนุราช (ตนกูอับดุลเราะห์มาน) เป็นเจ้าเมืองสตูล พระอธิการนุ่นชาวสงขลา ได้ตั้งวัดในเขตป่าช้าจีนหรือฮวงซุ้ย เรียกว่าวัดบ้านจีน ปัจจุบันคือ วัดดุลยาราม 
ล่วงมาในสมัยพระยาภูมินารถภักดีเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๕๗) ท่านได้ชักชวนชาวจีนจากเกาะปีนังให้มาบุกเบิกสร้างเมืองสตูล จึงเป็นยุคที่คนจีนกลุ่มใหญ่ไหลเทเข้าสู่เมืองสตูล สมทบกับชาวจีน ที่มาลงหลักปักฐานทำไร่พริกไทยและค้าขาย อยู่ก่อนแล้ว คนจีนกลุ่มนี้กระจายกันไปอาศัยตามหลุมถ่าน ชายทะเล ตัวเมืองมำบังนังคะรา บ้านจีน กลุ่มใหญ่ที่สุดไปอยู่ที่สุไหงอุเป (ทุ่งหว้า)
	ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ มีการสำรวจพบว่าคนจีนอาศัยอยู่ที่ตัวเมืองสตูล (มำบังนังคะรา) และบ้านจีน ทั้งสิ้น ๖๔๒ คน คาดว่าอาศัยที่บ้านจีนไม่น้อยกว่า ๓๐๐ คน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เป็นสมัยรัฐนิยม ตามนโยบายของรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ทางรัฐบาลออกกฎหมายเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองให้เป็นไทย คำว่าบ้านจีนเป็นภาษาที่ไม่เหมาะสม ทางราชการจึงเปลี่ยนชื่อตำบลบ้านจีน เป็นตำบลฉลุงตั้งแต่นั้น 
	ฉลุง มาจากภาษามลายูว่า โฉลง แปลว่า คอก ส่วนเหตุที่ได้ชื่อว่า ฉลุง นั้นมีที่มาว่า สมัยก่อนเจ้าเมืองนิยมเลี้ยงช้างเป็นจำนวนมาก เมื่อลูกช้างเติบโต ใช้งานได้ก็จะมีพิธีจับช้างโดยการไล่ต้อนเข้า ฉลุง พื้นที่ กำปงจีนา เป็นป่า เหมาะกับการทำพิธีคล้องช้าง จึงใช้ทำพิธีต้อนช้างอยู่เนืองๆ กระทั่งได้รับสมยานาม ฉลุง ไปโดยปริยาย
	ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์)ซึ่งดำรงตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด ได้จัดตั้งโรงเรียนประชาบาลตำบลบ้านจีน (ชื่อเดิมของโรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล) ที่ตั้งอาคารเรียนของโรงเรียนอยู่บริเวณอาคารห้องแถวไม้สองชั้น ตั้งอยู่บนถนนสายแรกของจังหวัดสตูล “มำบังนังคะรา-บ้านจีน” หรือถนนยนตรการกำธร ตรงสามแยกฉลุง-ละงู 
	ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) พิจารณาเห็นว่าหากโรงเรียนยังตั้งอยู่บริเวณนี้จะขยายไม่ได้ เท่ากับปิดกั้นความเจริญของท้องถิ่น จึงปรึกษากับประชาชนในตำบล ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าควรหาที่ดินแปลงใหม่จัดสร้างโรงเรียน ส่วนที่ดินแปลงเดิมจัดให้ประชาชนปลูกเรือนแถวอาศัยโดยเช่าที่ดินของโรงเรียนและให้โรงเรียนรับผลประโยชน์จากค่าเช่าเป็นเงินบำรุงการศึกษา 
	อาคารช่วงแรกเริ่มก่อสร้างปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นอาคารไม้กลม หลังคามุงจาก ฝาขัดแตะ พื้นเป็นพื้นดิน ล่วงมา ๒๒ ปีอาคารทรุดโทรมไปบ้างจึงได้จัดสร้างใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นอาคารสองชั้นฝากระดาน ราดพื้นซีเมนต์ขัดมัน จำนวน ๑๙ ห้อง ผู้ที่เช่าอาคารส่วนใหญ่ทำการค้าขาย ร้านค้าที่อยู่บริเวณห้องแถวไม้เริ่มจากร้านขายกาแฟ (โกปี๊) ร้านโชว์ห่วย ร้านค้าขายส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายอะไหล่รถซ่อมรถ ร้านตัดเสื้อ ตัดผม และอื่นๆ 
	ในสมัยที่พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ยบินอัลดุลลาร์) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลท่านบุกเบิกเปิด“ตลาดนัดบ้านจีน ตลาดนัดวันอาทิตย์” ขึ้นริมถนนยนตรการกำธรตรงข้ามอาคารห้องแถวไม้ฝั่งเดียวกับที่ตั้งสถานีตำรวจฉลุงปัจจุบัน เป็นตลาดนัดของชาวบ้าน จัดในที่โล่งๆ ริมถนนใหญ่ใกล้ชุมชนสัญจรไปมา ในระยะแรกพระยาสมันตรัฐเปิดตลาดนัดทุกวันอาทิตย์และที่ควนโดนทุกวันพุธเพื่อให้ชาวบ้านได้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างหมู่บ้านและตำบล ปัจจุบันตลาดนัดย้ายไปตั้งที่ริมคลองฉลุง
	พ.ศ. ๒๕๔๐ มีการขยายถนนยนตรการกำธร ช่วงทางเดินหน้าอาคารไม้ถูกรื้อถอนหายไปทั้งแถบเพื่อสร้างถนน อาคารฝั่งที่ติดสามแยกถูกรื้อไปสร้างเป็นสวนหย่อมของเทศบาลตำบลฉลุงแทนปัจจุบันอาคารคงเหลือห้องแถวเพียง ๑๑ ห้องเท่านั้น
	บ้านจีนและอาคารห้องแถวไม้ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานที่เชื่อมโยงกับ มำบังนังคะราในอดีต หลายคนที่เกิดที่บ้านจีนแต่ ไปเติบโตที่อื่นก็ยังคงรักและผูกพันกับบ้านจีน ไม่เสื่อมคลาย แม้จะผ่านวันเวลามาเนิ่นนาน อาคารห้องแถวไม้ยังคงอยู่ยืนยง กระทั่งจังหวัดสตูลเล็งเห็นความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวจีนที่นี่ จึงได้อนุรักษ์อาคารห้องแถวนี้ไว้ และตั้งชื่อว่า “อาคารไม้ ๑๐๐ ปี บ้านจีน”
	“กำปงจีนา” หรือ “บ้านจีน” หรือ “ฉลุง” อยู่ทางทิศเหนือของเมืองสตูล บ้านเรือนตั้งอยู่บนควน ริมคลองมำบัง ตำบลฉลุง สูงกว่าระดับน้ำคลองมำบัง ดังนั้น ในกลุ่มชาวจีนที่ฉลุงจึงเรียกขาน ฉลุงว่า "ซัวเต๊ง" ซึ่งเป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า บนควน
	ดังนั้นการรักษาคุณค่าและความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเมือง และเปิดมุมมองใหม่ของเมืองให้เป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเที่ยวชมมากขึ้น ทางจังหวัดมีแผนพัฒนาฉลุงหรือบ้านจีน เป็นเมืองอัจฉริยะให้เป็นเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข เสริมสร้างความมั่นคงและสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืน