ถนนบุรีวานิช : จุดเริ่มต้นของถนนมำบังนังคะรา-บ้านจีน

รายละเอียด

ถนนบุรีวานิชถนนสายแรกของมำบังนังคะรา ในอดีต ยุคของพระยาภูมินารถภักดีเป็นผู้ว่าราชการเมืองสตูลถนนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของถนน มำบังนังคะรา - บ้านจีน และเป็นต้นทางของถนนสามสายในเวลาต่อมา ถนนบุรีวานิชเริ่มต้นจากป้อมยามตำรวจทอดยาวมาสิ้นสุดตรงแยกด้านข้างมัสยิดตัดกับถนนสายที่สองคือสตูลธานี แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือจนถึงสะพานตายาย ก็จะพ้นเขตเทศบาลเมืองสตูล จากนั้นก็เป็นถนนยนตรการกำธร ซึ่งเป็นสายที่สามตรงดิ่งไปยังตำบลฉลุง หรือ “บ้านจีน” นั่นเอง ถนนบุรีวานิช มีประวัติสตร์ความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี เรื่องราวเรื่องเล่ามากมายที่เกิดขึ้นบนถนนสายนี้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องอยู่ในความทรงจำของใครบางคนที่เคยมาเยือน หรือเคยใช้ชีวิตบนถนนเส้นนี้ ถูกบอกเล่าผ่านคนสตูลจากรุ่นสู่รุ่น ปัจจุบันยังมีอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ สภาพแวดล้อม หลงเหลือเป็นหลักฐานยืนยันคำบอกเล่านั้น
	เดิมที บริเวณที่ตั้งอาคารบ้านเรือนตลอดจนกลางถนนนี้เป็นที่ตั้งโรงปูนขาวมาก่อน ซึ่งมีมาแต่ยุคเจ้าเมืองท่านใด ไม่มีใครบอกได้ แต่จดหมายเหตุของพระยาภูมินารถภักดีได้บันทึกการอนุญาตให้นายลิม อาปิว ดำเนินการเผาปูนขาวและเก็บเปลือกหอยในพื้นที่ลำคลองมำบังมาเผาปรากฏอยู่ ประมาณช่วงทศวรรษ ๒๔๔๐ พระยาภูมินารถภักดีได้สร้างคฤหาสน์กูเด็นขึ้น และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างอาคารห้องแถวริมถนนบุรีวานิชทั้งสองฝั่งถนน โดยใช้อิฐและวัสดุก่อสร้างจากปีนัง 
	ลักษณะห้องแถวทางฝั่งตะวันออกถนนเป็นอาคารแบบชิโนโปตุกิส มีทั้งหมด ๒๘ ห้อง ซึ่งทยอยสร้างเรื่อยๆ ทีละห้องสองห้องสามห้อง ไม่ได้สร้างทีเดียวพร้อมกัน เริ่มต้นห้องแรกตรงบ้านหลังที่อยู่ติดกับธนาคารกรุงเทพฯ ปัจจุบัน เว้นช่วงกลางไว้เป็นโรงปูนเผา ไปสร้างต่ออีก ๕ หลัง เป็นอาคารพัสดุ ๓ ห้อง ถัดไปจนสุดสามแยกอีกสองห้องคือ ห้องริมที่ติดกับสามแยกไฟแดง ฝั่งตรงข้ามป้อมยามตำรวจก็เป็นบริเวณโรงปูนเผา ซึ่งจะมีเปลือกหอยตลับหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หอยป๊ะ” สำหรับทำปูนขาวของเถ้าแก่ ลิม อาปิวกองพะเนินเทินทึกอยู่ 
	เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นมาตั้งฐานกำลังที่จังหวัดสตูล อาคารชิโนหลังแรกที่ตั้งติดกับธนาคารกรุงเทพฯ ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของพวกเขา
	อาคารชิโนโปรตุกิสนี้เป็นแบบเรียบๆ ไม่มีปูนปั้นลวดลายใดๆ มีตกแต่งเล็กน้อยก็ตรงบัวหัวเสาและตีนเสาเท่านั้น ตัวอาคารสองชั้น เป็นแบบผนังรับน้ำหนัก หน้าอาคารเป็นเสาใหญ่ๆ ข้างในไม่เสริมเหล็ก เนื่องจากสมัยนั้นเหล็กเส้นหายาก หลังคามุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วยและกระเบื้องปูพื้นซึ่งเป็นกระเบื้องเทอราคอท ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง ส่วนอาคารริมถนนฝั่งตะวันตกเป็นบ้านไม้ทั้งหมด เนื่องจากฝั่งนี้ติดกับริมคลองมำบัง เป็นที่ลุ่มน้ำขัง 
	จากการบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า อาคารทั้งสองฝั่งสร้างครบทุกหลังในสมัยพระยาสมันตรัฐบุรินทร์เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (พ.ศ. ๒๔๕๗ - พ.ศ. ๒๔๗๕) แต่ไม่ได้ระบุวันเดือนปีไว้ ส่วนโรงปูนขาวได้เลิกกิจการไป และได้ปลูกต้นมะขามไว้กลางถนนเพื่อแบ่งถนนเป็นสองฝั่งจำนวน ๑๒ ต้น แทนเดือน ๑๒ เดือน โดยปลูกพร้อมกันทั้ง ๑๒ ต้น 
	ต้นมะขามเหล่านี้เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านเพราะชาวบ้านบริเวณนี้จะมาเฝ้าสังเกตการเจริญเติบโตของต้นมะขาม จนกระทั่งต้นโตแตกกิ่งใบสาขาเป็นร่มเงา ชาวบ้านจึงใช้เป็นที่ชุมนุมกัน ตั้งแต่เช้ายันเย็นจึงกลับเข้าบ้าน ต่อมาประมาณพ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๗๘ เริ่มมีรถสามล้อเข้ามา ชาวบ้านย่านชุมชนเก่าบุรีวานิชเล่าว่า รถรับจ้างสามล้อเป็นที่นิยมมากเช่นเดียวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เรียกใช้บริการรถสามล้อซึ่งจะจอดรอเรียงรายอยู่บริเวณใต้ต้นมะขามนี่แหละ ผู้คนเรียกรถสามล้อนี้ว่า “แท็กซี่” ตามอย่างมาเลเซียที่เรียกรถรับจ้าง 
	ในสมัยพระยาภูมินารถภักดี ถนนหนทางยังน้อยมากมีเส้นทางหลักเส้นเดียวคือถนน มำบังนังคะรา-บ้านจีน การเดินทางจะใช้เส้นทางเรือเป็นหลักเพื่อไปติดต่อกับเมืองไทรบุรี ปีนัง ทุ่งริ้นที่ท่าเรือบาราเกต ท่าเรือละงู ท่าเรือสุไหงอุเป (ทุ่งหว้า) ตามเกาะแก่งต่างๆ ตลอดจนหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ชายทะเล ส่วนตัวเมืองมำบังนังคะรามีท่าเซ่งหิ้นใช้ขนถ่ายสินค้าจากที่ต่างๆ ที่มาค้าขาย หรือมาติดต่อราชการ 
	เมื่อก่อนริมคลอง มำบังและพื้นที่ใกล้เคียงถนนบุรีวานิชเป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมือง มีวังเจ้าเมือง มัสยิด โรงเรียนและมีตลาดตั้งอยู่ ผู้คนจึงมาค้าขายจับจ่ายกันพลุกพล่านจอแจ 	ที่สำคัญถนนบุรีวานิชเป็นย่านย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรม ตึกแถวร้านค้าทั้งสองฝั่งถนนบุรีวานิชเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งมีความสันทัดทางด้านค้าขาย ที่นี่จึงเต็มไปด้วยกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ร้านน้ำชากาแฟที่คั่วบดเอง ร้านผ้า ร้านจำหน่ายสินค้าทุกชนิดที่ส่งตรงมาจากปีนัง ได้แก่ สินค้าจำพวกเสื้อผ้าปาเต๊ะ เสื้อผ้า ถ้วยชาม รองเท้า ของใช้จิปาถะ ทำให้บุรีวานิชในอดีตคลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่สัญจรไปมา จับจ่ายซื้อของกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า “บุรีวานิช” ซึ่งแปลว่า แหล่งของพ่อค้าแม่ขายนั่นเอง 
	ถนนบุรีวานิชมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจวบปัจจุบัน แม้ยุคสมัยจะผ่านไป
เนิ่นนาน สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป หากการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เหมือนการชดเชยแก่กัน ยุคสมัยหนึ่งเรามีสิ่งหนึ่งแล้วเสื่อมโทรมไป มาถึงยุคนี้เราก็มีอีกสิ่งหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองมาทดแทนกัน ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนมำบังนังคะรา ชุมชนแห่งสังคมพหุวัฒนธรรม และเป็นศูนย์กลางของส่วนราชการ ศาลาว่าการเมือง ปัจจุบันบริเวณนี้มีที่ตั้งของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองแทนที่ ตรงวังเก่าของเจ้าเมืองก็มีที่ตั้งของสำนัก
	งานพาณิชย์จังหวัดสตูลให้บริการประชาชน เราเคยมีโรงเรียนไทย-มลายู โรงเรียนประถมศึกษาหลังแรกของเมืองสตูล แล้วเปลี่ยนเป็นห้องสมุดประชาชนจังหวัดสตูลเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต มัสยิดมำบังเป็นต้นเค้าให้มัสยิดกลางจังหวัดสตูลยิ่งใหญ่สวยงามในวันนี้ นอกจากนั้น ถนนบุรีวานิชยังรูปแบบธุรกิจทันสมัยเพิ่มเติมอีกด้วย ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสตูล ธนาคารกรุงเทพ สาขาสตูล ธนาคารทหารไทย สาขาสตูล ธนาคารออมสิน สาขาสตูล 
	ถนนบุรีวานิชคงมีเสน่ห์ความสวยงามของตึกรามบ้านช่องสไตล์ชิโนโปรตุกีส มีสถาปัตยกรรมทั้งไทย จีน มุสลิม มีวิถีชีวิตของชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยเชื้อสายมุสลิม ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอยู่อย่างชัดเจน ทางจังหวัดสตูลโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นความสำคัญจัดทำแผนพัฒนาถนนบุรีวานิชเพื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และศาสนา ของจังหวัดสตูล โดยจัดทำโครงการ Street Art Satun หรือ การสร้างสรรค์ศิลปะและภาพวาดฝาผนังริมถนนสายพหุวัฒนธรรม จ.สตูล ทั้งกำลังดำเนินการโครงการจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าสตูล ส่วนเทศบาลเมืองสตูลก็จัดให้มีตลาดนัดถนนคนเดิน “Saturday Night” ตลอดระยะทางประมาณ ๖๐๐ เมตร บนสองฝั่งถนนบุรีวานิช และทุกค่ำคืนวันเสาร์ นักท่องเที่ยวและคนสตูลเองได้ออกมาชุมนุม จับจ่ายใช้สอยซื้อขายสินค้ากันอย่างเพลิดเพลินสนุกสนาน 
	ร่องรอยที่ยังหลงเหลือผสมผสานกับพัฒนาการของบ้านเมืองที่ปรากฏอยู่จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้รอยก้าวของชีวิตตั้งแต่อดีตจวบถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพียงแต่เราก้าวเข้าไปเรียนรู้มันบนถนนบุรีวานิชเท่านั้น