คฤหาสน์กูเด็น “บ้านเจ้าคุณภูมิ” : สถาปัตยกรรมผสมผสานยุโรปและไทย

รายละเอียด

	“คฤหาสน์กูเด็น” เรียกตามชื่อผู้สร้างคฤหาสห์หลังนี้คือ"กูเด็น บิน กูแมะ" (พระยาภูมินารถภักดี) เจ้าเมืองสตูลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๑ – ๒๔๕๙ 
	เริ่มก่อสร้างปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ หลังจากพระยาภูมินารถภักดีได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว จุดประสงค์ที่สร้างอาคารหลังนี้ก็เพื่อเป็นบ้านพัก เรือนรับรองแขกบ้านแขกเมือง ใช้เป็นศูนย์กลางการปกครองเมืองสตูล และเพื่อเป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จเยี่ยมจังหวัดสตูลครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ 

	เดิมเรียกสถานที่ที่ตั้งอยู่ว่า ตำบลมำบัง อำเภอมำบัง เมืองสโตยมำบัง ในปัจจุบันแม้ตั้งอยู่ที่แห่งเดียวกัน แต่สถานที่ตั้งใช้ตามแบบผังเมืองยุคใหม่ คือ ถนนสตูลธานี ซอย ๕ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล
	สมัยก่อนถ้าถามชาวบ้านว่าคฤหาสน์กูเด็นอยู่ที่ไหนเขาคงไม่รู้จัก เพราะชาวบ้านเรียกว่า "ศาลากลางเก่า" เป็นส่วนใหญ่ และยังเรียกชื่ออื่นๆ กันด้วย เช่น บ้านเจ้าเมือง บ้านเจ้าคุณภูมิ บ้านพระยาภูมินารถภักดี และสภาก็เคยเรียก

	คฤหาสน์กูเด็นมีกำแพงล้อมรอบทั้ง ๔ ด้าน แต่ละด้านสูง ๒.๕ เมตร และในเวลาต่อมา พื้นที่บริเวณริมกำแพงด้านทิศใต้ก็ถูกใช้สร้างสำนักงานที่ดินจังหวัดและบ้านพักของเจ้าพนักงาน แต่ปัจจุบันสำนักงานที่ดินถูกรื้อออกไป แล้วสร้างกำแพงใหม่ขึ้นมาทดแทน จึงเหลือกำแพงดั้งเดิมเพียงบางด้านเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงอาณาเขตต้องกล่าวถึงอาณาเขตเดิมด้วย

	อาณาเขตเดิมก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐
	ทิศเหนือติดที่ดินของบ้าน นายสงวน และนางมาศ ณ นคร
	ทิศใต้ติดบ้านของ พระยาพิมลสัตยารักษ์ (ตวนกูมะหะหมัด) รองเจ้าเมืองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐
ยังมีซากบันไดเหลือให้เห็นอยู่ 
	ทิศตะวันตกติดบ้านของนางตวนป๊ะ ภรรยาอีกท่านของพระยาพิมลสัตยารักษ์ ปัจจุบันรื้อถอนซากบ้านไปแล้ว 
	ทิศตะวันออกติดที่ดินพระยาภูมินารถภักดี ประตูทางเข้าอยู่ทางด้านนี้ มีกำแพงกั้น ที่กำแพงมีช่องเล็งปืน 3 ช่องเจาะกว้าง ๕ เซนติเมตร มองจากด้านนอกกำแพงสูง ๒๒ เซนติเมตร ถ้ามองจากด้านในช่องเล็งปืนจะผายออกในรูปทรงปิระมิด ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง  ๒๖x๒๖ เซนติเมตร จากคำบอกเล่าของผู้จำเหตุการณ์ได้หลายท่าน บอกว่าภายในกำแพงมีอาคาร ๓ หลังคือ คฤหาสน์กูเด็นโรงรถ และโรงม้า มีแขกยามชาวอินเดียเฝ้ายามอยู่ประจำ
	อาณาเขตหลังปี พ.ศ. ๒๕๓๐
	ในเขตพื้นที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๑๕ ตารางวา ทิศเหนือจดที่ดินและบ้านหลังปูเต๊ะ ซึ่งเป็นบ้านทายาทนายเจ๊ะอับดุลลาห์ หลังปูเต๊ะ อดีต ส.ส. สตูล 3 สมัย ซึ่งซื้อจากตระกูล ณ นคร เจ้าของเดิม บ้านหลังปูเต๊ะเป็นอาคารรุ่นเดียวกับคฤหาสน์กูเด็น กำแพงด้านนี้คงสภาพเดิมมากที่สุด
	ทิศใต้ ในบริเวณกำแพงเดิม เคยสร้างสำนักงานที่ดินจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ปัจจุบันได้จัดทำเป็นลานออกกำลังกายของเทศบาลเมืองสตูล
	ทิศตะวันออกเป็นที่ดินเอกชน ถัดออกไปก็เป็นถนนสตูลธานี
	ทิศตะวันตกติดกับถนนเรืองฤทธิ์จรูญ
	ลักษณะของคฤหาสน์ รูปทรงเป็นตึก ๒ ชั้น มี ๑๐ ห้อง ตัวตึกทั้งหมดเป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปแบบโคโรเนียล สร้างในช่วงเดียวกับบ้านตึกแถวบนถนนบุรีวานิช พื้นคฤหาสน์ยกสูงกว่าพื้นดิน ๑ เมตร  ประตูหน้าต่างเป็นรูปโค้ง บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ ทำเป็นบานเกล็ดตามแนวนอน แสดงถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน หน้าต่างแบบนี้ปรากฏอยู่ตามบ้านรุ่นเดียวกันมากมาย อันแสดงถึงศิลปะการก่อสร้างของคนไทยในสมัยนั้น หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทย กระเบื้องหลังคาใช้กระเบื้องกาบกล้วย กระเบื้องชนิดนี้เป็นกระเบื้องดินเผาทำเป็นรูปกาบกล้วย ช่องลมที่หน้าต่างตึกชั้นบนตกแต่งเป็นรูปดาวตามอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ส่วนประกอบภายในส่วนใหญ่เป็นไม้ ได้แก่ เพดาน พื้นชั้นบน บานประตูหน้าต่าง ลูกกรง และราวบันได ส่วนพื้นชั้นล่างเป็นกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ คฤหาสน์กูเด็นจึงต่างจากคฤหาสน์ทรงฝรั่งทั่วไป สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารเป็นชาวปีนัง วัสดุก่อสร้างและช่างก็มาจากปีนัง
องค์ประกอบภายในอาคาร พื้นชั้นล่างปูด้วยกระเบื้องดินเผาแผ่นใหญ่ ขนาด ๒๔ x ๒๔ นิ้ว แต่ด้านหน้าเป็นพื้นคอนกรีตขัดมัน เสามุขด้านหน้าชั้นล่าง เป็นเสาขนาดใหญ่ ย่อมุมไม้สิบสองอันเป็นศิลปะของไทย พื้นชั้นบนปูด้วยไม้กระดาน ขนาด ๑ x ๘ นิ้ว 
บันได เป็นฐานคอนกรีต ทำขึ้นสูง ๑ เมตร ซึ่งเป็นบันไดขึ้นไปยังตัวอาคาร อยู่ตรงมุขด้านหน้า ภายในตัวอาคารชั้นล่างมีบันไดเพื่อขึ้นไปชั้นบน ๒ บันได เป็นลูกกรงไม้กลึงสวยงามมาก 
ประตู ทำเป็นแบบ ๒ บาน มีบานเกร็ด ทำเป็นแผ่นเล็กๆ แนวนอนด้วยไม้กระดาน ขอบบนเป็นรูปโค้ง ขอบล่างเป็นมุมฉาก
	หน้าต่างชั้นล่าง ทำเป็นแบบ ๒ บาน เหมือนประตู มีบานเกร็ดทำด้วยไม้กระดานชิ้นเล็กๆ เหมือนกัน ด้านบนเป็นช่องกระจก ตอนล่างใช้ลูกกรงไม้กลึงทุกช่อง
	ฝาด้านใน โดยทั่วไปเป็นฝาไม้กระดาน ตอนบนตีไม้ขัดตาข้าวพองด้วยไม้ขนาด ๑x๒นิ้ว แต่บางส่วนโดยเฉพาะฝาห้องโถงใช้เหล็กดัดที่สั่งมาจากต่างประเทศ มีลวดลายสวยงามมาก 
	อาคารหลังนี้มีห้องหลักทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ๑๒ ห้อง ชั้นล่าง ๖ ห้อง ชั้นบน ๖ ห้อง การใช้ห้องต่างๆ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละสมัย เช่น สมัยแรกสร้าง พระยาภูมินารถภักดีใช้เป็นที่พักด้วย เป็นศูนย์ราชการด้วย 
	เมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ใกล้หมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินมา ทรงยกเลิกหมายกำหนดการเสด็จจังหวัดสตูล อาคารหลังนี้จึงใช้เป็นบ้านพักรับรองแขกบ้านแขกเมือง เป็นทั้งบ้านพักและเป็นศาลาว่าการเมืองสตูลไปในตัว

ช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา สงครามโลกครั้งที่ ๒ ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๔ คฤหาสน์กูเด็นถูกใช้เป็นกองบัญชาการทหารญี่ปุ่นที่รัฐบาลไทยเวลานั้นคือรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น การใช้คฤหาสน์กูเด็นเป็นกองบัญชาการอยู่ในสมัยที่หลวงเรืองฤทธิ์รักษ์ราษฎร์ (เซ่ง หัชชวณิช) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๗)

	เป็นสำนักงานเทศบาล ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยัน มีเพียงคำบอกเล่าว่าเคยใช้เป็นสำนักงานเทศบาลครั้งหนึ่ง
	ใช้เป็นศาลากลางจังหวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๐๖
	เป็นที่ว่าการอำเภอเมืองสตูลในปี พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙
	เป็นโรงเรียนเทศบาล ๑ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙-๒๕๑๒
	แล้วจึงเป็นสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน. ) ปี พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๓๐
	ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๒ “กรมศิลปกร" ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติได้รับการบูรณะคืนสภาพสมบูรณ์เหมือนเมื่อแรกสร้าง
	วันที่๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศให้คฤหาสน์กูเด็นเป็นพิพิธภัณฑ์
สถานแห่งชาติสตูลจนถึงวันนี้
	สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จ ประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูลเมื่อวันศุกร์ ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๓ ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์เอกอัคราชูปถัมภ์มรดกวัฒนธรรมไทย เนื่องในวันมรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๔๓