วัดชนาธิปเฉลิม

รายละเอียด

	วัดชนาธิปเฉลิมเดิมชื่อวัดมำบัง ในอดีตเมืองสตูลเป็นเพียงชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มริมคลองมำบัง มีชื่อเรียกชุมชนว่า “บ้านมำบัง” ตามชื่อของลำน้ำ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม รองลงมาเป็นชาวจีนและชุมชนชาวพุทธ ซึ่งจะตั้งบ้านเรือนปะปนในชุมชนของมุสลิมและชาวจีน แต่จะเป็นชุมชนขนาดเล็ก และสันนิษฐานว่าคงจะมีการสร้างศาสนสถานคือวัดมำบังขึ้นในชุมชนเพื่อประกอบพิธีกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๕ แต่ก็ไม่พบหรือปรากฎหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๔๙ เป็นต้นมาก็เริ่มมีข้อมูลเกี่ยวกับวัดเด่นชัดขึ้น เช่น นามเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นองค์แรกคือ พระอธิการชู (ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๙-๒๔๖๐) สถานที่ตั้งของวัดมำบังในอดีตแวดล้อมไปด้วยป่าละเมาะและป่าชายเลน ด้านหลังวัดจรดคลองมำบัง มีดงจากขึ้นหนาแน่น เวลาน้ำขึ้นจะท่วมถึงบริเวณวัด จนมีเรื่องเล่ากันว่ามีจระเข้จากคลองมำบังขึ้นมาคาบไก่ของวัดไปกิน สัตว์เลื้อยคลานจำพวกงูก็มีชุกชุม มีงูเหลือม งูปล้องทอง ซึ่งมักจะเข้าไปพันตามขื่อตามคาหรือตามแปกุฏิของพระเณรอยู่เป็นประจำ และประการสำคัญพื้นที่ของวัดเดิมนั้นเคยเป็นที่ฝังศพของชาวจีน ตลอดถึงศพของชาวมุสลิมด้วย บริเวณวัดส่วนใหญ่ในอดีตหรือบางส่วนในปัจจุบันจะมีน้ำท่วมเป็นประจำ พื้นที่ที่ใช้เพื่อการสร้างเสนาสนะที่จำเป็น เช่น กุฎิ หอฉัน ศาลาบำเพ็ญบุญ จะใช้เฉพาะส่วนหน้าของวัดเท่านั้น
	ก่อนหน้าที่วัดมำบังจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมานั้น ไม่เคยมีการอุปสมบทในเขตเมืองสตูลมาก่อนเลย เพราะนอกจากไม่มีวัดใดในสตูลมีวิสุงคามสีมาแล้ว ชาวจีนซึ่งส่วนมากนับถือพุทธศาสนานิกายมหายานซึ่งไม่นิยมการบวชแบบไทยซึ่งเป็นพุทธหินยาน ส่วนชาวไทยเมื่อประสงค์จะอุปสมบทมักจะเดินทางมาที่จังหวัดสงขลา ดังนั้นเมื่อวัดมำบังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว วัดก็ได้สร้างศรัทธาเลื่อมใสชักจูงเหล่ากุลบุตรในชุมชนให้เข้ามาอุปสมบท ในระยะเริ่มได้นิมนต์พระอุปัชฌาย์มาจากสงขลา 
	ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ พระอธิการแสง ต้องเดินทางกลับไปดูแลวัดที่บ้านเกิดจังหวัดนครศรีธรรมราช พระเปรื่อง รองเจ้าอาวาสจึงได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าอาวาส รูปที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๗๔-๒๕๐๓) และในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นนับเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกของจังหวัดสตูล ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ประเทศไทยเข้าสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย เมืองสตูลได้เป็นจังหวัดสตูลอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต้องขึ้นตรงต่อมณฑลนครศรีธรรมราชแต่ในส่วนของคณะสงฆ์ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังคงขึ้นตรงต่อคณะมณฑลคือมณฑลนครศรีธรรมราช-ภูเก็ตเช่นเดิม 
	ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมำบังเป็นอำเภอเมืองสตูล เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่ประสงค์ให้อำเภอที่ตั้งศาลากลางจังหวัดเป็นอำเภอเมืองเหมือนกันทั่วประเทศ ส่วนตำบลมำบังเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองสตูลเปลี่ยนเป็นตำบลพิมาน และจากการเปลี่ยนชื่อจากตำบลมำบังเป็นตำบลพิมาน ทำให้เจ้าคณะมณฑลฯ พิจารณาเปลี่ยนชื่อวัดมำบังเป็นวัดชนาธิปเฉลิม เพื่อให้เป็นไปตามรัฐนิยมในเวลานั้น 
	ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ การก่อสร้างพระอุโบสถก็แล้วเสร็จ ซึ่งได้เริ่มการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้วด้วยเหตุปัจจัยหลักคือขาดงบประมาณในการก่อสร้าง เพราะกำลังศรัทธาของชาวพุทธในสตูลมีน้อย ถึงขนาดพระสงฆ์สามเณรออกบิณฑบาตแทบไม่พอฉัน อีกประการหนึ่งคือการก่อสร้างที่เป็นอาคารขนาดใหญ่และองค์ประกอบหลักเป็นไม้ ซึ่งในเวลานั้นเป็นงานที่ยากและหนักมาก วัสดุก่อสร้างหายากและขาดแคลน ประกอบกับราคาแพง ทางวัดทำได้ก็แค่การออกแบบแปลนและเตรียมการก่อสร้างอยู่เรื่อยมา โชคดีในห้วงเวลานั้นตรงกับทางราชการได้จัดส่งนักโทษทางการเมืองมากักตัวไว้ที่เกาะตะรุเตา จึงมีการถางป่าและบุกเบิกพื้นที่เพื่อสร้างสถานที่กักกันนักโทษการเมือง ทำให้ทางวัดได้รับบริจาควัสดุไม้มาส่วนหนึ่งเพื่อทำเสาและโครงสร้างพระอุโบสถ ซึ่งจากการเล่าของคนเฒ่าคนแก่ว่าไม้เหล่านั้นได้ถูกขนมาทางเรือ ซึ่งกว่าจะได้มาลำบากเหนื่อยยากแสนสาหัส ส่วนพื้นไม้กระดานและฝาผนังเป็นไม้สักที่นำมาจากภาคเหนือโดยลำเลียงมาทางรถไฟมาถึงสถานีควนเนียง จากนั้นก็ลำเลียงต่อมาตามถนนสายสตูล-ควนเนียง ซึ่งมีสภาพเป็นถนนดินลูกรัง และด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านและเหล่าข้าราชการต่างพร้อมใจกันสนับสนุนแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์อย่างเต็มความสามารถ ทำให้ในปี พ.ศ ๒๔๘๓ พระอุโบสถก็แล้วเสร็จ และได้รับการผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ซึ่งถือว่าเป็นงานผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตครั้งแรกของจังหวัดสตูล เสมือนหนึ่งแสดงว่าการประดิษฐานของพระพุทธศาสนาลงบนแผ่นดินของเมืองสตูลได้สำเร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว 
	ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คณะสงฆ์เมืองสตูลได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นคณะสงฆ์จังหวัด โดยพระครูอรรถเมธีขันติภาณี สังฆปาโมกข์ (เปรื่อง ฐิตาโก) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสตูล นับเป็นเจ้าคณะจังหวัดรูปแรกของจังหวัดสตูล วัดชนาธิปเฉลิม เป็นพระอารามที่เก่าแก่ เป็นศูนย์กลางของความเจริญของพระพุทธศาสนา ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
	วัดชนาธิปเฉลิม ถือเป็นวัดแห่งแรกของจังหวัดสตูล สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม ๑๐๐ กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไปคือ เป็นอาคารทรง ๒ ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดทั้ง ๒ ข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดชนาธิปเฉลิมแห่งนี้ได้รับการประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล ร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล และในปัจจุบันมีโรงเรียนเทศบาล ๒ (วัดชนาธิปเฉลิม) อยู่ติดกับวัดซึ่งล้อมรอบด้วยคลองจำนวน ๓ สาย คือคลองมำบัง คลองเส็นเต็น และคลองตายาย วัดชนาธิปเฉลิมแห่งนี้อีกยังมีความสำคัญคือมวลสารวัตถุจากโบราณ
	สถานและโบราณวัตถุในวัดชนาธิปเฉลิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ได้ทรงนำมาเป็นส่วนประกอบของวัตถุมงคล "พระสมเด็จจิตรลดา" ปัจจุบันวัดชนาธิปเฉลิม เป็นวัดที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดสตูล