พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (บุรินทร์ สมันตรัฐ) : จากเจ้าเมืองสู่รัฐมนตรีคนแรกของจังหวัดสตูล

รายละเอียด

	อำมาตย์เอกพระยาสมันตรัฐบุรินทร์มีชื่อเดิมว่า ตุ๋ย บินอับดุลลาห์ มีชื่อมุสลิมว่าหวันฮูเซ็นเป็นบุตรคนที่ ๑๒ของหลวงโกชาอิศหาก (เกิด ) กับนางเลี๊ยบซึ่งมีเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๔ ที่ตำบลบางลำพูล่างอ.คลองสานจ.ธนบุรี นามสกุล "บินอับดุลลาห์"ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น "สมันตรัฐ"ในสมัยรัชกาลที่ ๘ 
	ก่อนที่ท่านจะดำรงตำแหน่งปลัดเมืองสตูลท่านรับราชการครั้งแรกในตำแหน่งล่ามมลายู สังกัดกลาโหมและได้รับแต่งตั้งให้เป็นล่ามภาษามลายูในกองข้าหลวง มณฑลปัตตานีประจำหัวเมืองภาคใต้ที่อำเภอยะหริ่งสายบุรีและหนองจิก ดำรงตำแหน่งเป็นขุนราชบริรักษ์ล่ามมณฑลปัตตานี และ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายอำเภอเบตงขึ้นกับเมืองรามัน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๕ได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดเมืองสตูลและรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระโกชาอิศหากซึ่งในขณะนั้นเมืองสตูลมีพระยาภูมินารถภักดีเป็นเจ้าเมือง 
	ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระยาภูมินารถภักดีเกษียณอายุราชการ ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลแทนและได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาสมันตรัฐบุรินทร์"
	ในด้านการจัดการการศึกษา เร่งรัดให้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษาเพื่อสอนหนังสือไทยขึ้นในตำบลต่างๆแทนการสอนภาษามลายูเพียงอย่างเดียว จำนวน ๑๗ แห่ง เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั้งชายหญิงสามารถเข้าเรียนหนังสือไทยได้ ท่านวางแผนกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สอนวิชาการเกษตรและเตรียมพื้นที่นั้นสำหรับสามารถขยายการศึกษาในวันข้างหน้าส่งผลให้ราษฎรชาวจังหวัดสตูลส่วนใหญ่อ่านออกเขียนได้ นอกจากนี้ท่านยังส่งเสริมให้ชาวมุสลิมนำบุตรหลานทั้งชายและหญิงเข้าเรียนหนังสือตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการควบคู่กับการเรียนหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และลบล้างความเชื่อผิดๆ ที่ว่าชายหญิงเรียนร่วมกันจะเป็นบาป พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ เห็นว่าโรงเรียนไทยมลายูซึ่งตั้งอยู่ใกล้ศาลาว่าการเมืองค่อนข้างคับแคบขยับขยายอาคารเรียนไม่ได้ จึงมอบที่ดินบริเวณหน้าเรือนจำจังหวัดสตูลให้สร้างอาคารเรียนจำนวน ๕ ห้องเรียน และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “สตูลวิทยา” เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ชาวสตูลยกย่องท่านเป็น“บิดาการประถมศึกษาเมืองสตูล”
	ด้านคมนาคม ได้ตัดถนนขึ้นหลายสาย ทั้งในตัวเมืองและต่างตำบลได้แก่ ถนนสายด่านเกาะนกถนนสายฉลุงถึงตำบลควนโพธิ์สายสนามบินเข้าหมู่บ้านท่าจีน ถึงบ้านเกตรีสายหมู่บ้านควนสตอถึงบ้านกุบังปะโหลดถนนสายละงูถึงอำเภอทุ่งหว้าถนนสายละงูถึงปากบารา ทำให้สามารถเดินทางติดต่อถึงกันได้โดยสะดวกรวดเร็วซึ่งถนนทุกสายดังกล่าวยังคงเป็นเส้นทางหลักของประชาชนมาจนถึงทุกวันนี้ 	พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ได้สนับสนุนให้ชาวมุสลิมได้รับความเป็นธรรมในกรณีมีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวมรดกและทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยได้แต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในจังหวัดสตูลในเวลาเดียวกันท่านให้การดูแลใส่ใจและส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างทั่วถึงเช่นเดียวกัน ทำให้ประชาชนทั้งสองศาสนามีความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกัน ให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สามารถอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข 
	นอกจากเป็นนักพัฒนาแล้วพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ได้เรียบเรียงเป็นบทความ บทปาฐกถา บทวิทยุกระจายเสียงเพื่อเป็นความรู้และวิทยาทานแก่ผู้อื่นไว้หลายเรื่องทั้งให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในทางสร้างสรรค์ เหมาะแก่การนำไปปฏิบัติพัฒนางานด้านการศึกษาและการดูแลสุขอนามัยแก่เยาวชนอีกด้วย
	พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลถึง ๑๘ปีกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๒ ท่านก็เกษียณอายุราชการแต่กระทรวงมหาดไทยได้ต่ออายุราชการให้ท่านจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากนั้นท่านใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่จังหวัดสตูล ภายหลังจากเกษียณอายุราชการนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมา รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ ๑ ถือเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมโดยวิธีรวมเขตจังหวัดให้มีผู้แทนตำบลมาเลือกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่งและต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ขณะท่านอายุ ๖๒ ปีก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดสตูลเมื่อวันที่ ๑๕พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาถึง ๓ ชุด คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๖ พ.ศ. ๒๔๗๘ และ พ.ศ. ๒๔๘๐ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงมหาดไทย  พ.ศ. ๒๔๙๑ โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
	หลังจากนั้น ท่านได้เป็นที่ปรึกษาของกองประสานราชการ กระทรวงมหาดไทยและในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็นล่ามพิเศษ (ภาษามลายู)เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดชฯ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
	พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่๑๔กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่ออายุ๙๒ปีร่างของท่านฝังที่สุสานบากัรบาตาในซอย ๑๗ถนนสตูลธานีตำบลพิมานเภอเมืองสตูลจังหวัดสตูล
	จากคุณงามความดีที่ท่านได้ทำมาเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ กระทรวงมหาดไทยจึงประกาศเกียรติคุณให้อำมาตย์เอกพระยาสมันตรัฐบุรินทร์เป็น"นักปกครองนักบริหารดีเด่นในรอบ ๑๐๐ ปีของกระทรวงมหาดไทย"