ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บ : ผู้สร้างบ้านแปงเมือง

รายละเอียด

	ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บ เป็นบุตรของพระยาอภัยนุราช ตนกูบิสนูต้นตระกูลสนูบุตรเกิดที่เคดาห์ ไทรบุรี ตรงกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ ครองราชย์เมื่อครั้งยังเยาว์ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บได้ลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองมะละกากับตนกูปะแงรันผู้เป็นลุง
	ในปี พ.ศ.๒๓๘๒พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแบ่งเมืองไทรบุรี ออกเป็น๔เมือง และยกมูเก็มสโตยขึ้นเป็นเมืองหนึ่งในสี่นั้น เพราะทรงเล็งเห็นความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของสตูล ในฐานะเมืองหน้าด่านป้องกันข้าศึกที่ยกทัพขึ้นบกมาทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บขึ้นเป็นผู้ปกครองเมืองสตูลด้วยถือว่าตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บเป็นเจ้าเมืองสตูลคนแรกดังนี้ 
	เดิมนั้นตำบลสโตย หรือมูเก็มสโตยเป็นท้องที่ห่างไกลและกันดารของเมืองไทรบุรีในช่วงเวลาที่ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บปกครอง จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมืองสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จากมูเก็มเล็กๆ ให้เป็นเมืองโดยแท้ ตนกูมูฮำหมัดอาเก็บเป็นนักพัฒนาจึงพัฒนาเมืองสตูลให้ก้าวหน้าและเป็นระบบกว่าเดิมมากมาย ดังนี้
	ด้านคมนาคมได้พัฒนาเมืองสตูลให้เป็นเมืองท่าที่สำคัญแถบช่องแคบมะละกา มีเรือสินค้าไปมาระหว่างสตูลกับไทรบุรีปีนังและเมืองท่าอื่นๆและ สร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองมำบังนังคะรา (ตัวเมืองสตูล) กับตำบลกำปงจีนา  (บ้านจีน) หรือตำบลฉลุงในปัจจุบันโดยเจ้าของที่พร้อมใจกันสละที่ดินและช่วยออกแรงสร้าง
	ด้านการปกครองท่านจัดให้มีการรับคำร้องทุกข์ของชาวบ้านเนื่องจากสมัยนั้นไม่มีศาลตัดสินคดีความและสร้างเรือนขังผู้ต้องโทษด้วยไม้เป็นเรือนคอกตั้งอยู่ระหว่างวังเจ้าเมืองกับภูเขา (เขาหยงกง)
	ด้านเศรษฐกิจสตูลเป็นเจ้าของเกาะน้อยใหญ่ มีสิทธิคุ้มครองเกาะรังนกนางแอ่นตั้งแต่ปากน้ำเปอร์ลิส ไปถึงเกาะพีพีหน้าเมืองกระบี่ สตูลจึงได้สมญานามว่า "นครีสโตยมำบังสคารา" แปลว่า สตูลเมืองแห่งสมุทรเทวา
	ด้านศาสนาตนกูมูฮำหมัดอาเก็บได้สร้างมัสยิดขึ้นเป็นหลังแรก โดยมีหวันอูมา บินหวันอาดี หนึ่งในคนสนิทหลายคนที่ท่านชักชวนมาจากไทรบุรีเป็นผู้ดำเนินการและควบคุมการก่อสร้างอาคารมัสยิดใช้ช่างมลายูท่านมีวิธีการในการหาวัสดุก่อสร้างมาเองชนิดใช้งบประมาณของทางการน้อยมาก จนพูดว่าแทบจะไม่ใช้เลยก็ว่าได้ท่านมีวิธีการแยบยลยิ่ง คือ ให้ช่างไปเลือกไม้ที่บ้านมะนัง นำมาขุดเรือและต่อเรือไปขายให้ชาวประมงพื้นบ้านที่ปากน้ำเมืองไทรบุรีแล้วแลกเอาวัสดุก่อสร้างประเภทอิฐ กระเบื้องหลังคา ปูนซีเมนต์ กลับมาดำเนินการก่อสร้าง ใช้เวลานาน ๓ ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ.๒๓๙๐ และตั้งชื่อว่ามัสยิดเตองะห์ (มัศยิดกลาง) บ้างก็เรียกว่า มัสยิดอากีบีจากนั้นท่านก็จัดให้มีการสอนภาษาและศาสนาขึ้นที่มัสยิดและที่ละหมาดหลายแห่งมีกอฎีและสร้างที่ฝังศพของชาวมุสลิม
	ตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บ ปกครองสตูลยาวนานถึง๓๗ปี กินเวลาถึง ๓ แผ่นดินคือ รัชกาลที่ ๓รัชกาลที่๔และรัชกาลที่๕จึงลาออกจากตำแหน่งให้บุตรชาย คือ ตนกูอิสมาแอล รับหน้าที่เป็นเจ้าเมืองแทน ในปี พ.ศ.๒๔๑๙
	ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยนุราชชาติรายาภักดีศรีอินทรวิยาหยา พระยาสตูล และตำแหน่งสุดท้ายที่ รัชกาลที่๕โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศให้ เป็นพระยาสมันตรัฐบุรินทร์จางวาง มีหน้าที่กำกับและให้คำปรึกษาแก่เจ้าเมือง
	กล่าวได้ว่าพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตนกูมูฮำมัดอาเก็บ) คือผู้สร้างเมืองสตูลให้เป็นปึกแผ่นจนเมืองนี้ได้รับสมญานามว่านครีสโตย มำบังสคารา เป็นที่รู้จักของต่างบ้านต่างเมืองแถบทะเลช่องมะละกาเมืองสตูลจึงเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
	พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๙ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ศพของพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ถูกฝังไว้บริเวณชั้นในขอกุโบมัรโฮมเป็นสัดส่วนเฉพาะวงศ์ตระกูล “สนูบุตร”ของท่าน ซึ่งปัจจุบันคือกูโบร์สนูบุตรตั้งอยู่ริมถนนสตูลธานีฝั่งตรงข้ามสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสตูล 
	พระบาทสมเด็จพระเจ้ามงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบดีว่าชาวมลายูไม่มีธรรมเนียมการใช้นามสกุล แต่จะอ้างอิงชื่อบิดาเป็นหลักจึงพระราชทานนามสกุล “สะนูบุต” (Sanuputra)ให้แก่พระพิไสยสิทธิสงคราม  (ตนกูมะหะหมัด) กรมการพิเศษจังหวัดสตูล บุตรชายคนที่ ๓ ของพระยาอภัยนุราช  (ตนกูอิสมาแอล)หลานปู่ของตนกูมูฮัมหมัดอาเก็บเหลนของตนกูบิสนู ซึ่งเป็นพระยาอภัยนุราช เจ้าเมืองสตูลคนแรก 
	คำว่า “สะนู” กร่อนมาจากชื่อ “ตนกูบิสนู”นามสกุล “สะนูบุตร” ประกาศ ณ วันที่ ๑๗กรกฎาคม ๒๔๕๙ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่๓๓ภาค ๑หน้า ๑๐๑๗ – ๑๐๒๕เป็นลำดับที่ ๓๒๑๓แต่ต่อมาทายาทเขียนเป็น “สนูบุตร” ดังที่รับทราบกัน