ค้อนไม้


ค้อนไม้ ลักษณะหัวค้อนเป็นทรงสี่เหลี่ยมทำจากไม้ มีด้ามจับ ไว้ใช้สำหรับทุบเปลือกสาให้ละเอียดเพื่อนำเยื่อสามาทำเป็นกระดาษสา ซึ่งการทุบเปลือกสาด้วยมือ จะทำให้เยื่อสากระจายออกเป็นแผ่น และยางจากเปลือกสาที่มีความเหนียว จะทำให้คุณภาพกระดาษสาดี แต่ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องมอเตอร์เข้ามาช่วยในการทำเยื่อสาเพื่อเป็นการประหยัดเวลาและแรงคนในการทุบเยื่อสาให้ละเอียดรวมถึงความรวดเร็วในการผลิตเยื่อสาให้มากยิ่งขึ้น แต่การใช้เครื่องตีสา จะทำลายเส้นใยของปอสาให้ขาด คุณภาพกระดาษจึงไม่เหนียวและคงทนเท่าการทุบเปลือกสาด้วยมือ


ครกกระเดื่อง , มอง (คำเมือง)


ครกกระเดื่อง เป็นเครื่องทุ่นแรงชนิดหนึ่งของเกษตรกรจะใช้ในการตำเยื่อสา โดยประดิษฐ์เครื่องมือนี้ในรูปแบบของไม้กระดานหก เป็นการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ตัวครกทำด้วยไม้เนื้อแข็งทนต่อแรงกระแทกได้ดี เช่น ไม้ประดู่ ไม้แดง ลักษณะตัวครกเป็นรูปทรงกระบอกมีเส้นผ่านศูนย์กลางหนน้าครก ตัวครกฝังลงดินให้ปากครกโผล่พ้นดินขึ้นมา คันกระเดื่องทำด้วยไม้เนื้อแข็งเป็นท่อนตรง เจาะรูไม้ให้ทะลุสำหรับสอดคานขว้างคอกระเดื่องให้ปลายนั้นไปคล้องกับรูที่เจาะไว้ทั้ง 2 ข้างเพื่อทำสากแล้วนำส่วนปลายด้ามทำเป็นที่เหยียบเพื่อสากจะตั้งตรงดิ่งลงตรงกลาง ครกกระเดื่องจะมี 2 เสาทำจากไม้เนื้อแข็งฝังเสาลงดินให้แน่นตั้งอยู่เป็นคู่ขนานในแนวเดียวกัน


เลื่อยมือ


เลื่อยมือ มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดกะทัดรัดพอดีมือ ด้านบนเป็นด้ามจับยาวออกมา ส่วนด้านล่างเป็นใบมีดหยักยาวสำหรับเลื่อยตัดไม้ไผ่ที่จะนำมาใช้ในการทำโครงร่ม


มีดกลึงหัวร่ม


มีดกลึงหัวร่ม มี 2 รูปแบบ ในรูปแบบแรกจะมีลักษณะคล้ายกับเสียม ใช้สำหรับเหลาไม้กระท้อนที่เป็นท่อนสี่เหลี่ยมให้มีความเรียบ รูปแบบที่สองมีลักษณะคล้ายมีดธรรมดาแต่ตรงปลายจะโค้งมนมีความแหลมคมไว้สำหรับลงรายละเอียดของหัวร่ม เมื่อลงมีบนไม้ที่อยู่บนแท่นกลึง ความมนของมีด จะพลิ้ว โค้งไปกับลักษณะของไม้ ที่หมุนอยู่ ที่ให้กลึงได้ง่านขึ้น ซึ่งปลายมีดที่แหลมคมของมีดกลึงหัวร่มทั้ง 2 รูปแบบจะทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เท่านั้น เพราะเป็นเหล็กที่มีความคงทน


มีดเหลาร่ม


มีดเหลาร่มมีลักษณะขนาดเล็กปลายแหลมคมซึ่งปลายมีดจะทำมาจากเหล็กแหนบรถยนต์เพราะเป็นเหล็กที่มีความคงทน มีดเหลาร่มจะใช้สำหรับเหลาไม้ที่ใช้ในการทำเป็นโครงร่มทั้งหมดทั้งตัวค้ำหรือซี่ค้ำและตัวรับหรือซี่กลอน โดยปลายมีดต้องแหลมคมเพื่อที่ในการเหลาไม้ได้สวยงามและรวดเร็วอีกทั้งยังต้องผ่าซีกตรงกลางของซี่ไม้โครงร่ม ปลายมีดเดิมทีจะมีความยาวเท่ากับมีดปกติทั่วไปแต่ในการเหลาไม้โครงร่มจะทำการลับมีดให้มีความคมอยู่เสมอจึงทำให้ปลายมีดมีขนาดสั้นลงไปตามระยะเวลาการใช้งาน ส่วนด้ามมีดที่เป็นไม้นั้นจะมีลักษณะที่ยาวประมาณ 1 ศอก เพื่อลดแรงในการเหลาไม้โดยการใช้ด้ามมีดหนีบไว้ตรงแขน ให้โค้งตามความยาวของแขนช่างเหล่าร่มแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อช่วยประคองการใช้กล้ามเนื้อแขนและลดการใช้ข้อมือ อันเป็นเหตุให้เกิดอาการข้ออักเสบ (ภูมิปัญญาช่างโบราณ)


สว่านมือ, โยนจี(คำเมือง)


สว่านมือมีลักษณะเป็นแท่งไม้ที่ต้องทำมาจากไม้สักเท่านั้น เพราะไม้สักมีความมัน ลื่น และรูปทรงไม่บิดเบี้ยว สว่านมือมีขนาดด้ามเล็กพอดีมือม้วนเป็นเกลียวยาวประมาณ 39 เซนติเมตร ส่วนปลายมีเข็มสำหรับไว้ใช้เจาะรูไม้ที่ใช้ในการทำโครงร่ม ลักษณะปลายเข็มเป็นทรงสามเหลี่ยมไม่กลมเพราะไม้ที่ใช้ในการทำโครงร่มเป็นไม้ที่มีความบางเฉียบการใช้เข็มปลายสามเหลี่ยมจะทำเจาะรูไม้ได้อย่างง่าย ทำให้ไม้ไม่แตกออกจากกัน ส่วนวิธีการใช้สว่านมือนั้นใช้โดยการเจาะเข็มลงไปในตำแหน่งที่ต้องการเจาะรู ตรงสว่านมือจะมีตัวดึงสว่าน ให้ดึงขึ้น-ลง ตามเกลียวของสว่าน โดยก่อนจะเจาะรูซี่ไม้โครงร่มนั้นจะต้องทำการมัดซี่ไม้ติดกันตามจำนวนโครงร่มในแต่ละขนาดให้แน่นก่อนจะทำการเจาะเพื่อง่ายต่อการเจาะซี่โครงร่มให้ตรงกันทุกรู ซึ่งข้อดีของการใช่สว่านมือ คือ เนื่องจากไม้ไผ่ที่ที่เหลาเป็นซี่ร่มแล้ว จะค่อนข้างบาง โดยเฉพาะส่วนที่ผ่าร่องไม้แล้ว ดังนั้น การใช้เครื่องเจาะ หรือสว่านมอเตอร์ จะเกิดการสั่นสะเทือน และทำให้ซี่ไม้ไผ่แตกง่าย)


การทำกระดาษสาจากเปลือกของต้นสา


นำเปลือกสาที่ได้มาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วนำไปต้มกับขี้เถ้า หรือ โซดาไฟ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง จนเห็นว่าเปื่อยดีแล้ว จึงนำออกมาล้างให้สะอาด แล้วนำมาทุบให้ละเอียดจนยุ่ย จึงนำไปแช่ในอ่างน้ำซึ่งก่อด้วยซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 2 คูณ 3 เมตร และลึกประมาณ1/2 เมตร บรรจุน้ำ 3/4 ของถัง ใช้ไม้คนให้ทั่วแล้วใช้ตะแกรงขนาดตามที่ต้องการซึ่งส่วนมากจะมีขนาด 40x60 เชนติเมตร ตักเยื่อเปลือกไม้ในน้ำขึ้นมาแล้วนำออกมาตากแดดให้แห้ง เมื่อเนื้อเยื่อของเปลือกสาที่ตากไว้แห้งดีแล้ว จึงค่อยลอกออกมาก็จะได้กระดาษสาเป็นแผ่นเรียกกันว่ากระดาษสา ซึ่งสามารถนำไปใช้หุ้มร่ม หรือใช้ประกอบการหุ้มร่มต่อไป


การร้อยด้ายประกอบโครงร่ม


ให้ร้อยด้ายตามรูของซี่กลอนและค้ำทุกชิ้นเอาด้ายพันเข้าไปในช่องรูที่ทำไว้ตอนกลึงหัวร่มและตุ้ม สอดซี่เข้าไปทุกช่องๆ ละซี่จนครบ ส่วนค้ำที่สอดใส่ในช่องตุ้มในลักษณะเดียวกัน มัดด้ายให้แน่น นำส่วนตุ้มหงายและส่วนหัวคว่ำเข้าประกบกัน สอดใส่ค้ำเข้าไปในร่องกลอนที่ผ่าไว้ช่องละอันและร้อยด้ายให้ติดกัน


การทำโครงร่ม


ซี่กลอนและค้ำทำจากไม้ไผ่บง (ไผ่ตง) เพราะเหนียวและทนทานสวยงามกว่าไม้ไผ่ชนิดอื่น ๆ ในตอนแรกต้องตัดไม้ไผ่ออกเป็นท่อน ๆ ตามความยาวที่ต้องการใช้ในการทำร่ม แล้วผ่าออกเป็นไม้ซี่กลอนและค้ำตามต้องการ ไม้ที่ผ่าออกนี้แต่ละชิ้นต้องผ่าย่อยลงเป็นชิ้นเล็กอีกโดยกะให้ได้ซี่กลอนประมาณ 8-9 ชิ้น เหลาให้ตรงปลายเรียว ส่วนโคนนั้นผ่ากลางแต่ไม่ตลอดแนว สอดใส่ค้ำในภายหลังเจาะรูด้วยสว่านพื้นเมืองโบราณ (สว่านมือ) 2 รู สำหรับร้อยด้ายเข้าโคนของค้ำ การทำค้ำทำโดยเหลาไม้ตามขนาดที่ต้องการให้เป็นชั้นเรียว ๆ เหลาทั้งโคนและปลายให้แบนเพื่อสอดใส่หัวและซี่กลอนต่อไป ใช้สว่านเจาะรูเป็นรู 2 รู ในส่วนที่จะใส่ด้ายจากส่วนตุ้มและด้ายตรงกลาง ส่วนปลายนั้นใช้เหล็กแหลมลนไฟเจาะรูเพราะถ้าใช้สว่านเจาะแล้วจะทำให้ไม้ไผ่แตกได้ง่าย


การกลึงหัว, ตุ้ม และ จิก (ยอด)ร่ม


หัวและตุ้มทำมาจากไม้เนื้ออ่อนหลายชนิดซึ่งภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ไม้ตีนเป็ด ไม้ส้มเห็ด ไม่ตุ้มคำ และไม้แก การทำหัวและตุ้มนี้ใช้วิธีกลึงโดยเครื่องมือโบราณ ซึ่งเป็นวิธีการที่บรรพบุรุษได้เคยใช้ทำมาก่อน ตัดไม้ที่จะกลึงออกเป็นท่อนๆ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-5 นิ้วยาวประมาณ 5-8 นิ้ว เจาะรูไว้ให้สามารถสวมเหล็กยึดไม้กลึงได้พอดี แล้วกลึงด้วยเครื่องมือดังกล่าว ไม้แต่ละท่อนที่กลึงนี้จะสามารถกลึงหัวและตุ้มได้ประมาณ 4-5 อันโดยกลึงให้ได้ขนาดที่ต้องการก่อนจึงค่อยตัดแยกออกจากกันอีกทีหนึ่ง


ด้ายร่ม


ด้าย (ฝ้าย) ใช้ขึงยึด ซี่โครง ซี่ค้ำ หัวร่ม ตุ้มร่ม และจัดช่องไฟบริเวณชายร่ม มาจากโรงปั่นฝ้าย (ด้าย) ในเขต อ.สันกำแพง


ปลอกลาน


ปลอกลาน ทำจาก ใบลาน ทำหน้าที่เป็นตัวเคลื่อนขึ้น-ลง เวลากางหรือหุบร่ม พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ม้าร่ม


ม้า (สลัก) ทำจากสำหรับร่มเล็กทำด้วยสปริงเหล็ก ส่วนร่มใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่เหลา บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ซี่กลอนร่ม


ซี่กลอน ทำจากไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ซี่ค้ำร่ม


ซี่ค้ำ ทำจาก ไม้ไผ่ตง เพราะเหนียวและทนทาน บริเวณเชิงดอย ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


คันร่ม


คันถือ ทำจาก ไม้ไผ่เล่มเล็ก หรือ ไม้เนื้ออ่อนก็ได้ พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพง และ อ.ดอยสะเก็ด


ตุ้ม


ตุ้ม ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็ด, ไม้ส้มเห็ด, ไม้ตุ้มคำ และ ไม้แก พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพงและ อ.ดอยสะเก็ด


หัวร่ม


หัว ทำจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ตีนเป็ด, ไม้ส้มเห็ด, ไม้ตุ้มคำ และ ไม้แก พบมากตามหัวไร่ ปลายนา ในเขต อ.สันกำแพงและ อ.ดอยสะเก็ด


สว่านมือ


สว่านมือ


ร่มกระดาษสา