ซุ้มประตูบ่อเก๋ง

ชื่อแหล่งข้อมูล		ซุ้มประตูบ่อเก๋ง
วันที่เก็บข้อมูล		10/02/2562
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		ตำบล หัวเขา อำเภอ สิงหนคร สงขลา 90280
พิกัด ละติจูด		7.2051106
ลองจิจูด		       100.5737456
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	ก่อนที่จะเป็นเมืองสงขลาฝั่งบ่อยางในปัจจุบัน เมืองสงขลาได้ทำการย้ายเมืองมาแล้วสองคราว เมืองสงขลาแรกเริ่มเดิมทีนั้น ตั้งอยู่ตรงบริเวณหัวเขาแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ทางโบราณสถาน เมืองสงขลา หรือ Singora น่าจะมีอายุราวๆ พุทธศตวรรษที่ 18 ขึ้นไป (พ.ศ.1800 ยุคต้นของกรุงศรีอยุธยา) และเริ่มมีการบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22-24 (พ.ศ. 2200-2400 ยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) แต่นักวิชาการเชื่อว่าเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง น่ามีจะมีขึ้นก่อนพุทธศตวรรษ 22 อย่างแน่นอน
	ขอเล่าประวัติศาสตร์แบบสรุป...จากบันทึกเอกสารชาวต่างชาติที่มาค้าขาย ได้กล่าวถึงสงขลาในปี พ.ศ.2165 ความว่า แรกเริ่มเดิมทีสงขลาฝั่งหัวเขาแดงปกครองโดยชาวมุสลิมจากเกาะชวา นามว่า ดาโต๊ะโมกอล หรือ ดาโต๊ะโกมอลล์ น่าจะปกครองสงขลาในช่วง พ.ศ.2153-2154 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าเอกาทศรถแห่งกรุงศรีอยุธยา สงขลาในยุคนั้นมีความรุ่งเรืองด้านการค้าขาย มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ นำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว มีการสร้างป้อมปืนใหญ่ 20 ป้อม ต่อมา "สุลต่านสุไลมานชาห์" (บุตรดาโต๊ะโมกอล) ตั้งตนเป็นเอกราชจากอยุธยา ทำให้พระเจ้าปราสาททอง กษัตริย์แห่งอยุธยา (พ.ศ.2173-2199) ได้นำกองทัพเข้าบุกโจมตีเมืองสงขลา แต่ทว่าไม่สำเร็จ เนื่องจากเมืองสงขลาตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี มีป้อมปราการ กำแพงเมือง และปืนใหญ่ที่ทรงประสิทธิภาพสูง ก่อนที่ปี พ.ศ.2223 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้นำกองทัพทั้งทางบกทางทะเลเข้าตีเมืองสงขลาสำเร็จ สิ้นสุดเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ประชาชนโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานบริเวณแหลมสน ห่างจากหัวเขาแดงไม่กี่กิโลเมตร (ไม่ใช่แหลมสนอ่อน) และค่อยๆพัฒนากลายเป็น เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน (พ.ศ.2223-2380) วันนี้เราจะพาไปเที่ยวสถานที่ประวัติศาสตร์ ในเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน สถานที่แห่งนั้นเรียกว่า "บ่อเก๋ง" 
	ซุ้มประตูบ่อเก๋ง ซึ่งซุ้มประตูดังกล่าวสร้างด้วยอิฐถือปูน มีสันหลังคาโค้งงอน ซึ่งขัดกับลักษณะอาคารแบบไทยประเพณี แต่ลักษณะดังกล่าวปรากฏในกลุ่มอาคารทางตอนใต้ของจีนหลายแห่ง เช่น ในเขตเฉาซ่าน (บ้านเกิดชาวจีนแต้จิ๋ว) และเขตหมิ่นหนาน (บ้านเกิดของชาวจีนฮกเกี้ยน) อย่างไรก็ดี ลักษณะของปลายสันหลังคาที่ค่อนข้างเหลี่ยมหักมุม ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า ซุ้มประตูดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับงานสถาปัตยกรรมแถบหมิ่นหนาน ซึ่งนิยมสันหลังคาลักษณะนี้ โดยต่างจากงานสถาปัตยกรรมในเขตเฉาซ่าน ที่ปลายสันหลังคาเป็นเส้นโค้ง การปรากฏลักษณะสถาปัตยกรรมหมิ่นหนาน แสดงให้เห็นว่ามีชาวจีนฮกเกี้ยนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเขาแดงด้วย
	โบราณสถานบ่อเก๋งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีวัฒนธรรมของเมืองสงขลา สะท้อนให้เห็นถึงอดีตของเมืองสงขลาได้เป็นอย่างดี มีคำถามมากมายว่า "ทำไมสงขลาฝั่งแหลมสนถึงร้าง และต้องย้ายเมืองไปยังบ่อยางในปัจจุบัน" เราพอสันนิษฐานกันได้ว่า หลังจากที่ได้ย้ายเมืองจากฝั่งหัวเขา มาตั้งรกรากกันที่แหลมสน เมืองใหม่แห่งนี้ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองมาตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้าง เนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังสงคราม เมืองแห่งนี้จึงถูกสร้างอย่างง่ายๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเล ถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิมที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ทำให้เมืองสงลาแห่งที่สองนี้ ต้องประสบกับปัญหาการขาดแคนน้ำจืดอุปโภค และ ปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา