เจดีย์องค์ดำและองค์ขาว

ชื่อแหล่งข้อมูล		เจดีย์องค์ดำและองค์ขาว
วันที่เก็บข้อมูล		18/02/2563
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		ตำบล หัวเขา อำเภอ สิงหนคร สงขลา 90280
พิกัด ละติจูด		7.217294
ลองจิจูด		       100.56967
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	"หัวเขาแดง" สถานที่ที่เราชาวสงขลารู้จักเป็นอย่างดี บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของเมืองท่าที่สำคัญ "เขาแดง" เป็นภูเขาที่ปรากฏป้อมปราการอยู่หลายแห่ง กระจัดกระจายไปทัว มีทั้งบนยอดเขาและพื้นที่โดยรอบ บนยอดเขาแดงยังปรากฏเจดีย์โบราณที่เราเรียกกันว่า "เจดีย์สองพี่น้อง" องค์แรกเป็นเจดีย์องค์พี่ ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ก่อด้วยหินฉาบปูน ยอดปรักหักพัง มีสีดำ คนทั่วไปเรียกว่า “เจดีย์องค์ดำ” สร้างเมื่อ พ.ศ.2375 - 2376 โดยเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ส่วนเจดีย์องค์ที่สองเป็นเจดีย์องค์น้อง ลักษณะของเจดีย์เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมเช่นกัน องค์เจดีย์ก่อด้วยอิฐฉาบปูน มีสีขาว คนทั่วไปเรียก “เจดีย์องค์ขาว” สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ.2382-2484 โดยพระยาศรีพิพัฒน์  รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ ผู้เป็นน้องร่วมมารดากับเจ้าพระยาพระคลังฯ ชาวบ้านเรียกเจดีย์สององค์นี้ว่า “เจดีย์สองพี่น้อง” ระหว่างองค์เจดีย์ทั้งสองมีศาลาเก๋งจีน ชำรุดเหลือแต่พื้นที่ผนังที่เจาะช่องหน้าต่างเป็นวงกลม ปัจจุบันองค์เจดีย์ทั้งสองได้รับการขุดแต่งบูรณะจากหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2525
	ย้อนไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่3) หลายครั้งที่เมืองสงขลาถูกรุกราน ทำให้กรุงเทพต้องส่งทัพหลวงลงมาช่วยสงขลา อีกทั้งสงขลายังเป็นสถานที่ชุมนุมกองทัพอีกด้วย ซึ่งในปีพ.ศ.2375 พระยาพระคลังนำทัพลงมารักษาของขัณฑสีมาในเขตเมืองชายแดนภาคใต้ พระยาพระคลังสามารถเอาชนะศึกครั้งนั้น และได้มาชุมนุมกองทัพที่หัวเขาแดง พร้อมทั้งสร้างอนุสรณ์แห่งชัยชนะไว้บนยอดเขา ปรากฏเป็นเจดีย์องค์สีดำ ดังข้อความที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองสงขลาว่า "...เสร็จราชการแล้ว ฯพณฯแม่ทัพใหญ่กลับเข้ามา ณ เมืองสงขลา จัดแจงก่อพระเจดีย์ไว้ที่เขาเมืองสงขลาองค์หนึ่ง กับทำเก๋งไว้ริมน้ำชาย ทเลค่ายม่วงไว้แห่งหนึ่ง เสร็จแล้วกับเข้าไปกรุงเทพฯ..." สำหรับเจดีย์องค์ขาว สร้างขึ้นโดยพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา เมื่อครั้งยกทัพมารบที่ปัตตานีและไทรบุรีช่วงปีพ.ศ.2382 ซึ่งก็ได้ปรากฏข้อความในพงศาวดารเมืองสงขลาที่ได้กล่าวว่า ราวจุลศักราช 1200 ตนกูหมัด สะวะ หลานของเจ้าพระยาไทรบุรี ยกทัพมาตีไทรบุรีคืน ครั้นเมื่อตีมาถึงจะนะ เทพา และหนองจิก แขกในเมืองนี้ก็สมคบคิดร่วมกันตีเมืองสงขลา กองทัพของพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ใช้เวลาปราบปรามถึง 2 ปี เมื่อปราบกบฏได้ จึงสร้างพระเจดีย์ขึ้น ปรากฏหลักฐานว่า "...พระยาศรีพิพัฒน์แม่ทัพจัดราชการอยู่ที่เมืองสงขลา 2 ปี และได้สถาปนาพระเจดีย์ไว้บนเขาเมืองสงขลาองค์หนึ่งเสร็จแล้ว จึงได้ยกทัพกลับเข้าไป ณ กรุงเทพฯ..."