ศาลหลักเมืองสงขลา

ชื่อแหล่งข้อมูล		ศาลหลักเมืองสงขลา
วันที่เก็บข้อมูล		18/02/2563
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		นางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา สงขลา 90000
พิกัด ละติจูด		7.1965361
ลองจิจูด		       100.5885169
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	ตามตำนานเล่าว่าบริเวณถนนนางงามย่านเมืองเก่าและโบราณของสงขลา มีความเชื่อกันว่าต้องมีพิธีลงเสาเอกของเมืองและสร้างอาคารของเมือง เพื่อให้เป็นที่สถิตย์ของเทพผู้รักษาหลักเมือง ตามความเชื่อโดยเรียกเทพองค์นั้นว่า “เจ้าพ่อหลักเมือง” ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลาหรือศาลหลักเมืองสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองสงขลาแห่งใหม่ที่ฝั่งบ่อยางเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เป็นโบราณสถานร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ มีลักษณะเป็นศาลเจ้าแบบเก๋งจีน พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง ณ สงขลา) เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลาในขณะนั้น ซึ่งได้รับเสาหลักเมืองที่ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ซึ่งดำริให้ฝังหลักชัยของเมืองสงขลา โดยทรงพระราชทานไม้ชัยพฤกษ์หลักไชยต้นหนึ่งกับเทียนชัยเล่มหนึ่ง ทั้นี้โปรดเกล้าฯ ให้พระอุดมปิฎกออกไปเป็นประธานด้านพุทธพิธี พร้อมด้วยพระเถระฐานานุกรมเปรียญ ๘ รูป และให้พระราชครูอัษฎาอาจารย์ เป็นประธานฝ่ายพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยพราหมณ์ ๘ นาย งานฝังหลักชัยในครั้งนั้นพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดทำพิธีขึ้นกลางเมืองสงขลา โดยตั้งโรงพิธีทั้ง ๔ ทิศ ในวันประกอบพิธีได้จัดขบวนแห่หลักไม้ชัยพฤกษ์กับเทียนชัยเป็นขบวนใหญ่ มีทั้งชาวไทยและชาวจีนเข้าร่วมในขบวนพิธีโดยอัญเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ไว้ที่ใจกลางเมืองสงขลา (ถนนนางงามในปัจจุบัน) ซึ่งเรียกว่า “หลักเมือง” เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๕ ภายหลังการฝังหลักเมืองแล้วจัดให้งานเฉลิมฉลองมีมหรสพ เช่น โขนร้อง งิ้ว ละครชาตรี (โนรา) พร้อมพิธีทางพระพุทธศาสนา ในเวลาต่อมาได้สร้างอาคารคร่อมหลักเมืองไว้ ๓ หลัง และสร้างศาลเจ้าเสื้อเมืองอีก ๑ หลัง ศาลเจ้าหลักเมืองสงขลาจึงเป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง (ตามคติไทย) และเจ้าพ่อหลักเมือง (เซ่ง ห๋อง เหล่า เอี้ย) ซึ่งเป็นเทพคุ้มครองเมือง (ตามคติจีน) ทำให้ศาลหลักเมืองสงขลา เป็นที่รวมความศรัทธาของชาวจีนและชาวไทยไว้ในศาลเดียวกัน ต่อมาศาลหลักเมืองสงขลาเกิดการชำรุดและได้มีการบูรณะปรับปรุงให้มีสภาพดั่งเดิมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  (รัชกาลที่ ๖) หรือปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพลลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ ร่วมกับพ่อค้า ประชาชนชาวสงขลา ร่วมมือกันทำเสาหลักเมืองขึ้นใหม่และวางเสาหลักเมืองใหม่ในวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมากรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนศาลเจ้าหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ แต่ไม่ได้กำหนดขอบเขต ต่อมากรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนอีกครั้งโดยการกำหนดขอบเขตด้วยคือ
       ทิศเหนือ ยาว ๑๓ วา
       ทิศใต้ ยาว ๑๓ วา
       ทิศตะวันออก ยาว ๑ เส้น ๕ วา
       ทิศตะวันตก ยาว ๑ เส้น ๕ วา
       ศาลหลักเมืองนี้จึงอยู่คู่เมืองสงขลามาตราบจนทุกวันนี้ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองสงขลา ตามความเชื่อของชาวสงขลาเชื้อสายจีน ได้มีการอัญเชิญองค์เทพศักดิ์สิทธ์ ช่วยปกปักษ์รักษาเมือง..เป็นองค์เจ้าพ่อหลักเมือง มีชื่อว่า " เซ่งห๋องเหล่าเอี๋ย" มาประดิษฐานไว้ตั้งอยู่ด้านหลังของหลักเมือง โดยจะมีงานสมโภชขึ้นเป็นประจำปีในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี