วัดโลการาม ตำบลสทิงหม้อ

ชื่อแหล่งข้อมูล		วัดโลการาม ตำบลสทิงหม้อ
วันที่เก็บข้อมูล		2/04/2564
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		147 หมู่ ที่ 4 ตำบล สทิงหม้อ อำเภอ สิงหนคร สงขลา
พิกัด ละติจูด		7.2262469
ลองจิจูด		       100.5229664
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	วัดโลการาม ตามประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรบันทึกไว้ว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2315 ในสมัยกรุงธนบุรี และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2330 โบราณสถานที่สำคัญภายในวัดคือพระอุโบสถ ที่มีลักษณะเฉพาะท้องถิ่นภาคใต้และก็ยึดตามรูปแบบพระราชนิยมของการสร้างอุโบสถในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ 2-3) แต่มีการดัดแปลงให้รูปแบบเหมาะสมจนเป็นลักษณะเฉพาะพื้นถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาโดยฝีมือของช่างพื้นถิ่นภาคใต้ ซึ่งก็ยังคงเหลือเค้าเดิมของศิลปกรรมแบบอยุธยาอยู่บ้างนั่นคือใบเสมารอบ ๆ พระอุโบสถ วัดโลการามเป็นวัดที่สะอาดสวยงาม สงบร่มรื่น มีผืนทรายร่มไม้ใหญ่ มีพุทธศิลป์ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของวัดโบราณบนคาบสมุทรสทิงพระที่สัมผัสได้ เช่น พระพุทธรูปแบบปูนปั้นบัว หรือที่บรรจุอัฐิ ศาลาไม้มุงกระเบื้องดินเผาที่หน้าวัด บ่อน้ำกินน้ำใช้ ที่เคยรับใช้พระสงฆ์และชุมชนเมื่ออดีต ตลอดถึงศิลปกรรมงูทวดพ่อตาหลวงรอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่วัดโลการามกับบริบทบนความเชื่อเรื่องงูทวดหรือทวดงของชาวไทยถิ่นใต้ ทางราชการโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานในวัดโลการามเป็นมรดกของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2540
บรรยาย 
	พระอุโบสถของวัดโลากรามปัจจุบันได้สร้างใหม่เป็นทรงไทยภาคกลางประยุกต์ ประดิษฐานอยู่ใกล้กับพระอุโบสถหลังเก่า ในที่นี้จะขอกล่าวรายละเอียดเฉพาะอุโบสถหลังเก่าเท่านั้น พระอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ยึดตามรูปแบบพระราชนิยม การสร้างโบสถ์ในสมัยรัชกาลที่ 2-3 มีลักษณะศิลปกรรมแบบฝีมือช่างท้องถิ่นภาคใต้แต่มีเค้าการสืบทอดลักษณะศิลปกรรมแบบอยุธยาอยู่ที่ใบเสมา ตัวพระอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและไม่มีกำแพงแก้ว กว้าง 9 เมตร ยาว 15 เมตร มีโถงสามารถเดินได้รอบ ๆ เฉพาะตอนหลังก่อเป็นผนังห้องเจาะช่องหน้าต่าง 2 ข้าง เพื่อประดิษฐานองค์พระประธาน ซึ่งตั้งบนฐานปัทม์ อุโบสถมีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้า 2 ข้าง ตอนหน้าต่อกับพื้นห้องเป็นผนังยกพื้นสูง เพื่อเป็นที่ประกอบสังฆกรรมของพระภิกษุ หลังคาอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องดินเผาต่อด้วยปีกนกโดยมีเสาพาไลรองรับ ตอนบนสุดของเสาพาไลทำเป็นลักษณะก่อเลื่อมขึ้นไปบรรจบกับคานทับหลังทำให้ช่องเปิดของตรงแนวเสาพาไลเป็นสี่เหลียมคางหมูหรือขื่อเฉียงตัวพระอุโบสถประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หลังคาชั้นเดียวต่อด้วยปีกนกบริเวณหน้าบันด้านหน้าตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ส่วนหน้าบันด้านหลังตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงคุรฑต่อด้วยปีกนก นอกจากนี้บริเวณกรอบหน้าต่างและหัวเสายังประดับด้วยลายปูนปั้นอีกด้วย ด้านนอกอุโบสถประดิษฐานใบเสมามีลักษณะเป็นใบเสมาเดียวทำมาจากหินแกรนิตตั้งอยู่บนฐานดอกบัวเป็นศิลปะกรรมแบบอยุธยา