วัดมะม่วงหมู่ ตำบลสทิงหม้อ

ชื่อแหล่งข้อมูล		วัดมะม่วงหมู่ ตำบลสทิงหม้อ
วันที่เก็บข้อมูล		2/04/2564
ที่อยู่ หรือที่ตั้ง		ตำบลทำนบ อำเภอสิงหนคร สงขลา
พิกัด ละติจูด		7.2363033
ลองจิจูด		       100.5206118
รายละเอียด (ประวัติ ความสำคัญ คำอธิบายต่างๆ)		
	วัดมะม่วงหมู่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2299 สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ตั้งอยู่บ้านมะม่วงหมู่ หมู่ที่ 4 ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 1 งาน 28 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดอยู่เป็นพื้นที่ราบ อาคารเสนาสนะต่าง ๆ อาทิ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2440 มีเขตวิสุงคามสีมากว้าง 19.28 เมตร ยาว 27 เมตร ทำการได้ผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ. 2451  วัดมะม่วงหมู่เป็นวัดโบราณและสำคัญของจังหวัดสงขลาอีกวัดหนึ่ง และมีความเกี่ยวเนื่องกับตำนานแม่ม่วงทองและกำเนิดประเพณีความเชื่อต่าง ๆ เช่น ไหว้ทวดม่วงทอง, ไหว้ต้นไม้ใหญ่, แต่งงานกับแม่ม่วงทองหรือแต่งงานกับต้นไม้ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของของชาวมะม่วงหมู่ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ตามประวัติเล่าว่าแม่ม่วงทองแต่ก่อนเป็นธิดาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคหลายร้อยปีก่อนที่ถูกโจรฆ่าตายแล้วฝังไว้ใต้ต้นมะม่วงใหญ่ ปัจจุบันคือบริเวณวัดมะม่วงหมู่ ศพถูกซ่อนอยู่ในโพรงมะม่วงใหญ่ต่อมาได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเนือง ๆ จนชาวบ้านนับถือและเกิดการบวงสรวง บนบานเพื่อความประสงค์ต่าง ๆ ชาวบ้านมีความเชื่อว่า ทวดแม่ม่วงทอง หรือนางไม้ดังกล่าวได้สิงสถิตอยู่ที่ต้นมะม่วง ซึ่งมีขนาดใหญ่โดยปรากฏให้ชาวบ้านเห็นและเข้าฝันบอกให้ชาวบ้านรู้ ต่อมาเมื่อต้นมะม่วงดังกล่าวโค่นล้มลงตามธรรมชาติ และต้นมะม่วงดังกล่าวผุพังลงเหลือเฉพาะแก่น สามารถยกได้ด้วยกำลังคนเพียงคนเดียว จึงได้มีการเคลื่อนย้ายมาตั้งพิงไว้กับต้นอินทนิลขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากต้นเดิมที่หักโค่นลงมากนัก ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ทางวัดต้องการสถานที่ดังกล่าวเพื่อก่อสร้างกุฏิเจ้าอาวาส จึงได้โค่นต้นอินทนิลซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าแม่ทวดม่วงทองสิงสถิตอยู่ลง การโค่นต้นอินทนิลของทางวัดได้มีการทำพิธีอันเชิญให้แม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตยังต้นประดู่ซึ่งอยู่ทางมุมด้านทิศตะวันตกของวัด โดยหมอผู้ทำพิธีชาวอีสาน การทำพิธีอันเชิญนางไม้หรือทวดม่วงทองไปอยู่ยังสถานที่ใหม่ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้เป็นพิธีกรรมที่มีความศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยด้วยของ ๑๒ อย่างโดยหมอพิธี หลังจากที่ทำพิธีอันเชิญแม่ทวดม่วงทองไปสิงสถิตอยู่ ณ ต้นประดู่ อันเป็นบริเวณตลาดนัดวันเสาร์ในปัจจุบัน การทำพิธีของชาวบ้านจึงต้องย้ายไป ณ บริเวณดังกล่าวด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ในการประกอบพิธีการไหว้ต้นไม้ใหญ่ของนายเสริม อำภา แม่ทวดม่วงทองได้เข้าทรงนางเหี้ยง ซึ่งเป็นผู้ช่วยจัดขันหมากของนางเปี่ยมผู้เป็นเจ้าพิธี การเข้าทรงครั้งนี้ต้องการบอกว่า สถานที่ที่ตนอยู่นั้นตั้งอยู่ในบริเวณตลาดนัด ทั้งโคนต้นไม้ที่ตนอยู่ยังถูกใช้เป็นที่ทิ้งสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำล้างปลาที่คนแขก (มุสลิม) ที่ขายปลามักนำมาเททิ้งตรงนี้ ทำให้สกปรกจนตนไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป และได้บอกกล่าวในทำนองว่าใครก็ตามที่มาทำพิธีเซ่นไหว้ตนที่ต้นประดู่แห่งนี้ตนจะไม่รับเครื่องเซ่น แต่หากใครต้องการเซ่นตนให้ไปทำพิธีเซ่นไหว้ที่ต้นตะแบกท้ายตลาด ซึ่งอยู่ถัดจากต้นประดู่ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 30 เมตร อันเป็นที่อยู่ใหม่ของตน  ปัจจุบันชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแม่ที่ใต้ต้นตะแบกแทนต้นประดู่ โดยตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่เดิม