ฮีต 12 คอง 14

ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันของชาวภูไท บ้านห้วยหีบ  มีงานบุญต่าง ๆ เรียกว่า ฮีต 12 คอง 14 

ประวัติวัตถุจัดแสดง

สำหรับฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณี 12 เดือนที่เกี่ยวเนื่องกับหลักทางพุทธศาสนา ความเชื่อและการดํารงชีวิตทางเกษตรกรรมซึ่งกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ มีแนวปฏิบัติแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนเพื่อให้เกิดสิริมงคลในการดําเนินชีวิต เรียกอย่างท้องถิ่นว่า “งานบุญ” ชาวอีสานให้ความสําคัญกับประเพณีฮีตสิบสองเป็นอย่างมาก และยึดถือปฏิบัติมาอย่างสม่ำเสมอนับเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานอย่างแท้จริง คําว่า “ฮีตสิบสอง” มาจากคําว่า “ฮีต” อันหมายถึงจารีต การปฏิบัติที่สืบต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี “สิบสอง” คือ ประเพณีที่ปฏิบัติตามเดือนทางจันทรคติทั้งสิบสองเดือน
    ส่วนคอง 14 เป็นบทบัญญัติทางสังคมของชาวอีสาน ให้เป็นหลักปฏิบัติต่อกันสําหรับคนในสถานภาพต่าง ๆ มาแต่โบราณ โดยใช้เป็นคําบอกเล่าขานสืบต่อกัน ครั้งยังไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร “คองสิบสี่” มักเป็นคํา กล่าวควบคู่กับคําว่า ฮีตสิบสอง สันนิษฐานไว้ 2 ความหมาย ว่ามาจาก คําว่า “คลอง” หรือ “ครรลอง” เป็นคํานาม หมายถึง ทางหรือแนวทาง เช่น คลองธรรม อีกประการหนึ่งมาจาก “ครอง” ซึ่งเป็นคํากิริยา มีความหมายถึง การรักษาไว้ เช่น คําว่า ครองเมือง ครองรักครองชีพ โดยที่ชาวอีสานไม่นิยมออกเสียงคํากล้ำ ดังนั้น คองสิบสี่น่าจะมีความหมายถึง แนวทางที่ประชาชนทําไปชาวบ้านหรือสงฆ์พึงปฏิบัติ 14 ของท้องถิ่นบ้านเมือง