เรียนรู้การทำข้าวหลามโบราณ

รายละเอียด

  

เรียนรู้การทำข้าวหลามโบราณ เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนที่ชาวไทญ้อบ้านโพนนำมาสาธิตและจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้วิธีการทำข้าวหลาม ไทญ้อบ้านโพน อันเนื่องด้วยบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ไผ่บ้านอยู่บริเวณโดยรอบหมู่บ้านและเป็นพันธุ์ไม้ประจำท้องถิ่น จึงทำให้ชาวบ้านนำไม้ไผ่บ้านมาทำข้าวหลามสูตรโบราณบ้านโพน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและยังคงใช้กรรมวิธีการทำแบบดั้งเดิม โดยอัตลักษณ์เฉพาะของข้าวหลามบ้านโพนคือ การนำเนื้อมะพร้าวขูดที่คั้นน้ำแล้วมาปิดด้านบนกระบอกข้ามหลามเพื่อสังเกตว่า เวลาหลามข้าว ข้าวหลามจะสุกแล้วหรือไม่ โดยสังเกตจากการดันตัวขึ้นของเนื้อมะพร้าวที่คั้นนำแล้ว ซึ่งชาวไทญ้อบ้านโพน จะจัดเตรียมวัตถุดิบและมีปราชญ์ชาวบ้านด้านการประกอบอาหารหวานมาช่วยกันสาธิตและอธิบายวิธีการทำข้าวหลามโบราณให้นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือนเข้ามาเรียนรู้และทดลองทำข้ามหลามร่วมกัน ซึ่งกิจกรรมเรียนรู้การทำข้าวหลามโบราณบ้านโพนนี้ เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงการสืบสานวัฒนธรรมการประกอบอาหารหวาน โดยเป็นความชาญฉลาดในการต่อยอดทรัพยากรทางธรรมชาติพันธุ์ไม้ไผ่บ้านมาประกอบเป็นอาหารหวานเฉพาอัตลักษณ์ของชุมชน และแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์และสืบต่อกรรมวิธีการทำข้าวหลามโบราณพื้นถิ่นของชาวไทญ้อบ้านโพนจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มมูลค่ากิจกรรมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนได้


ข้าวหลามหมายถึง ข้าวเหนียวขาว ที่นำมาทำการหลาม ซึ่งคำว่า “หลาม” นี้ หมายถึง การประกอบอาหารเพื่อนำไว้รับประทานระหว่างเดินทาง โดยนิยม ทำใส่กระบอกไม้ไผ่ จึงเรียกว่า “ข้าวหลาม” เนื่องจากพื้นที่ของบ้านโพน จังหวัดนครพนมนั้น มีต้นไผ่เป็นจำนวนมาก ข้าวหลามจึงเป็นอีกหนึ่งเมนูของหวานที่ชาวบ้านมักทำ โดยกรรมวิธีในการทำข้าวหลามของบ้านโพนนั้นจะใช้ข้าวเหนียวขาว กข. 6 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ข้าวสุกอ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอม นำมาแช่น้ำจนข้าวอุ้มน้ำแล้วจึงผสมกับวัตถุดิบต่างๆ ได้แก่ เผือก หอมแดง เนื้อมะพร้าว น้ำตาลทรายแดง จากนั้นจึงใส่น้ำกะทิที่คั้นสด นำส่วนผสมทั้งหมดกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่ขนาดกลางอย่างประณีตบรรจง จากนั้นจึงทำการอัดด้วยเนื้อมะพร้าวขูดที่เหลือจากการคั้นกะทิ แล้วนำไปเรียงตั้งไว้ที่ม้ารองกระบอก ซึ่งทำจากต้นกล้วย ใช้ถ่านไม้เผาให้ความร้อน ผู้ทำข้าวหลามต้องคอยพลิกกระบอกไม้ไผ่เสมอเพื่อให้สุกทั่วถึงและด้านใดด้านหนึ่งไม่ไหม้จนเกินไป ทำแบบนี้ไปเรื่อยจนกว่าความหลามจะสุก โดยจะสามารถสังเกตได้จากเนื้อมะพร้าวขูดที่อัดไว้ด้านบนของกระบอกข้าวหลามถูกดันขึ้นมาจนถึงปลายกระบอก เรียกได้ว่ากว่าจะออกมาเป็นข้าวหลามหนึ่งกระบอกให้เราได้ชิม ก็ใช้เวลาพอสมควร และรสชาติ ข้าวหลามบ้านโพนนั้นก็อร่อยสมกับการรอคอย ข้าวหลามที่ทำเสร็จออกมานั้นจะมีมีรสชาติหอมกลิ่นของข้าว และการเผาถ่าน และด้วยขนาดของกระบอกข้าวหลามที่กำลังพอดี จึงทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าและได้รสชาติหวาน มัน เค็ม อย่างทั่วถึง