ชุมชนไทญ้อ บ้านโพน

ความเป็นมาชุมชนบ้านโพน เป็นคนไทยย้อ ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวย้อมีผู้ค้นพบว่า เดิมอยู่ แคว้นสิบสองปันนา หรือ ยูนาน ต่อมาชาวย้อบางพวกได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขงเพื่อเลือกหาที่ตั้ง บ้านตั้งเมืองที่อุดมสมบรูณ์กว่าที่อยู่เดิมจนในที่สุด ชาวย้อกลุ่มหนึ่งได้พบว่าตรงปากน้ำสงครามริมฝั่งโขง เป็นที่อุดมสมบรูณ์ มีปลาชุกชุม จึงได้จัดตั้งขึ้นที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ส่วนใหญ่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงคามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอ ท่าอุเทน จังหวัดนครพนมปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานครในสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) ไทยย้อเมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์กวาดต้อนให้อพยพข้ามโขง โดยให้ไปตั้งอยู่ที่เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงเมืองคำเกิด เมืองคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) อยู่ระยะหนึ่ง (ชัญญา อภิปาลกุล และ ขลธิชา เจิมพันธุ์. 2552 : 50) ต่อมากองทัพไทย ได้กวาดต้อนให้ไทยย้ออพยพข้ามโขงกลับมาอีกครั้งหนึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไทยย้อกลุ่มหนึ่งตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองท่าอุเทน เมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน ในส่วนของไทญ้อชุมชนบ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม นั้นไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐานว่า ได้ตั้งรกรากที่บ้านโพนเมื่อใด แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านหลายๆ คนและข้อมูลหลายอย่างประกอบกันสามารถเชื่อมโยงได้ว่า ไทญ้อบ้านโพน เป็นกลุ่มที่อพยพจากเมืองท่าอุเทน และบางส่วนก็มาจากฝั่งลาว ออกมาอาศัยตามหัวไร่ปลายนาเพื่อหาที่ดินทำกิน เมื่อครั้งแรกประมาณ 4 ครัวเรือน ได้แก่ พ่อเฒ่ากิตติราช ครัวเรือนนี้ย้ายมาจากบ้านท่ากระถิน ฝั่งลาว ส่วนพ่อเฒ่าแก้ว ก่านจันทร์ พ่อเฒ่าเหม็น นครัง และพ่อเฒ่าแดงน้อย สุวรรณมาโจ ย้ายออกมาจากบ้านท่าอุเทน จากนั้น ก็มีผู้คนอพยพจากเมืองท่าอุเทนเข้ามาบุกเบิก สร้างบ้านอาศัยอยู่ด้วยกัน (ชัญญา อภิปาลกุล และ ขลธิชา เจิมพันธุ์. 2552 : 50) ในปัจจุบัน ชาวไทยย้อ ชุมชนบ้านโพนมีอาชีพด้านเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะการปลูกพืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ได้แก่ ข้าว กล้วย อ้อย สับปะรด ยาสูบ และพืชผักตามฤดูกาล รองลงมาได้แก่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ และจับสัตวน้ำในลำน้ำ เนื่องจากว่ามีการตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้แม่น้ำโขงและแม่น้ำสงคราม อัตลักษณ์ของชุมชนบ้านโพน อัตลักษณ์ของชาวไทยย้อ ชุมชนบ้านโพน จะมีความสามัคคี มีความภาคภูมิใจ ในความเป็นชนเผ่าดั้งเดิม นอกจากจะมีระบบวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ทำกันมาตั้งแต่อดีต สิ่งแสดงถึง เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยย้อได้เป็นอย่างดี อีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาษาไทยย้อ ชาวบ้านโพนยังคงพูดคุยสื่อสารกันโดยภาษาย้อกันทั้งชุมชน