นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์

รายละเอียด

  

                นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์ ผู้สืบทอดและรักษาด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนบ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เรียกชื่อสั้นว่า พ่อตุ๊น นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์ เป็นผู้นำด้านศาสนาและพิธีกรรม และมีความสามารถเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยโบราณในการประสานกระดูก ซึ่งท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นบุคคลสำคัญของชาวไทญ้อบ้านโพน เป็นผู้ที่ดูแลรักษาหอเจ้าบ้านให้เรียบร้อยอยู่เสมอซึ่งจะเรียก นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์ ว่าเป็น “กวนบ้าน หรือกวนเจ้า” หน้าที่ประจำของกวนเจ้าคือ เป็นคนกลาง ติดต่อระหว่างเจ้าบ้านและชาวบ้าน เพราะชาวบ้านจะติดต่อกับเจ้าบ้านโดยตรงไม่ได้ การครอบเจ้าบ้านหรือการบอกกล่าวเจ้าบ้านนั้นมีเพียงการนำขันธ์ 5 ไปให้กวนเจ้า และกวนเจ้าจะบอกเจ้าบ้านว่าชาวบ้านต้องการอะไร หรือไปไหน เช่น “ลูกหลานมาหาหลักบ้าน มิ่งเมือง ขอเฮ้ออยู่ดีมีแฮง อย่าสู่พบอันหาญ อย่าสู่พานอันฮ้าย ไปดีๆ มาดีๆ เฮ้อกุ้ม เฮ้อกวม เฮ้อรักสมรักษา” และเมื่อทำการงานเสร็จสมประสงค์ หรือเมื่อกลับเข้าในหมู่บ้าน ก็ต้องแต่งขันธ์ 5 ให้กวนเจ้าทำพิธีครอบเจ้าบ้านด้วย ตลอดจนทำพิธีที่เรียกว่า “ส่งแขก” หมายถึงการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยการนำขันดอกไม้ ธูป เทียน ไปบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดและขอให้ปู่ตาช่วยปกปักรักษาลูกหลานในหมู่บ้านให้อยู่รอดปลอดภัย

             นอกจากนี้ นายประนิตย์ วิดีศิริศักดิ์ ยังเป็นปราญ์ชาวบ้านในด้านการแพทย์แผนไทยโบราณ และการประสานกระดูกด้วยน้ำมันจากว่านสมุนไพร มีความรู้ในการใช้ยาสมุนไพรในระดับเชี่ยวชาญสูง ในการนำยาสมุนไพรมาปรุงยาตามตำรายาสมุนไพร ตลอดจนแปรรูปสมุนไพรให้เป็นยาลูกกลอนและบรรจุ ลงในแคปซูลตามการพัฒนาองค์ความรู้ของการผลิตยาสมุนไพรตามวิวัฒนาการการแพทย์แผนไทยสมัยใหม่ด้วย ซึ่งมีนักวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยจากหลากหลายมหาวิทยาลัยพร้อมด้วยนิสิต นักศึกษา มาพบปะและเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการประสานกระดูกจากพ่อตุ๊น หรือนายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน



พ่อตุ๊น ถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านด้านวัฒนธรรมคนหนึ่ง ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านให้ความเคารพและเชื่อถือ ตามพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาของคนไทยแถบภาคอีสานนี้ ในอดีตเวลาที่ผู้คนเจ็บป่วย มักเชื่อว่าอาการเจ็บป่วยนั้นมาจากการกระทำของผี ผู้ป่วยจึงต้องได้รับการทำ “พิธีเหยา” ซึ่งเป็นพิธีกรรมหนึ่งในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนผู้ไทยที่สืบทอดกันมา ร่วมกับการใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาต้มจากเปลือกไม้ หรือยาลูกกลอนที่รักษาอาการต่างๆ โดยพิธีเหยานี้ จะต้องมี ‘’หมอเหยา” เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีผู้คนที่มีความเชื่อ และเรื่องราวการรักษาของพ่อตุ๊นก็เดินทางมายังบ้านโพน เพื่อให้พ่อตุ๊นทำพิธีเหยาให้เช่นกัน แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ ณ ปัจจุบันนั้นไม่มีผู้มาสืบทอดการเป็นหมอเหยาต่อจากพ่อตุ๊นแล้ว