ดอนปู่ตาผืนป่าวัฒนธรรมของชนเผ่าไทญ้อบ้านโพน

รายละเอียด

  

แต่ละหมู่บ้านในภาคอีสานจะนับถือผีประจำหมู่บ้านที่เรียกว่า “ผีปู่ตา” สำหรับชาวไทญ้อ ก็เช่นกัน นับถือผีประจำหมู่บ้านเสมือนกับเป็นหลักบ้านหลักเมืองที่คอยดูแลทุกข์สุขป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้าน ประเพณีและพิธีกรรมความเชื่อเรื่องผีปู่ตาของชาวไทยญ้อ บ้านโพน ตำลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีมากว่า 300 ปี ตั้งแต่มีการอพยพย้ายมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ในปัจจุบัน) มาตั้งรกรากที่อำเภอท่าอุเทน ต่อมาเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่ดินทำกินไม่เพียงพอจึงได้มีการขยายออกมาตั้งถิ่นฐานบริเวณรอบนอกของอำเภอท่าอุเทน ได้แก่หมู่บ้านกะเสือม บ้านดงยาง บ้านกุดสะกอย บ้านดอนมะโมง บ้านห้วยมะโมง เริ่มแรกมีเพียง เริ่มแรกมีเพียง 4 หลังคาเรือน ต่อมาอีก 4-5 ปี ก็มีเพิ่มอีก 2 หลังคาเรือน อยู่มาหลายปีก็มีลูกหลานของชาวบ้านในขณะนั้นล้มตาย ด้วยโรคอหิวาตกโรค จึงได้มีการย้ายที่อยู่ออกไปเรื่อยๆ จนมาถึงที่อยู่ปัจจุบันนี้ คือบ้านโพน และเมื่อ หลายปีก่อนได้เกิดน้ำท่วมและทำให้ชาวบ้านเจ็บไข้ล้มป่วย ในสมัยก่อนยังไม่มีโรงพยาบาล และส่วนใหญ่โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านก็จะเป็นโรคห่าหรือโรคไข้ออกตุ่ม ไข้ทรพิษ และอหิวาตกโรค เจ็บท้อง ปวดท้อง ด้วยความที่ในสมัยนั้นไม่มีโรงพยาบาลจึงทำให้รูปแบบในการรักษาเป็นไปตามแบบโบราณที่มีการอาศัยภูตผีวิญญาณในการรักษาและเป็นที่พึ่งทางใจให้กับชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของการนับถือผีปู่ตาของชาวไทญ้อบ้านโพน ชาวไทญ้อเรียกผีปู่ตานี้ว่า “เจ้าบ้าน” เจ้าบ้านของบ้านโพนนั้นชื่อ “ตาทิดแอ้ด” ได้ขอซื้อมาจากบ้านธาตุในราคา 12 บาท และได้มีการทำพิธีแห่เชิญวิญญาณให้มาอยู่ที่บ้านโพน จากคำบอกเล่าของพ่ออุ้ยตุ๊น (นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์: ผู้นำด้านศาสนาและพิธีกรรมบ้านโพน, การประสานกระดูกผู้นำด้านวัฒนธรรม) ชาวบ้านบางคนเคยเล่าว่าเคยเห็นเจ้าบ้านออกมาเลาะบ้าน คือ ออกมาเยี่ยมเยียนลูกบ้านในตอนพลบค่ำ เป็นเงาดำใหญ่สูงประมาณ 8 ฟุต รูปร่างสูงใหญ่ลอยไปตามทุ่งนาและหายเข้าไปในหอเจ้าบ้าน ส่วนคนที่เคยไปทำงานประเทศเคยเล่าว่า ฝันเห็นเจ้าบ้านอยู่เสมอ ท่านมาสั่งสอนให้ทำความดีและตามมาดูแลรักษาด้วย โดยเฉพาะในวันพระ วันโกน และวันส่งท้ายปีเก่า ช่วงเวลาหัวค่ำและช่วง ตี3 ตี4 จะมีเสียงหมาเห่า คนเฒ่า คนแก่สมัยโบราณบอกว่า ปู่ตาออกมาตรวจบ้านดูแลลูกหลานให้ปลอดภัยจากสิ่งชั่วร้าย บางคนที่ไปทำงานต่างประเทศโดยมิได้บอกกล่าวเจ้าบ้านก็จะเกิดอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดท้องอย่างมากและรักษาไม่หาย จนกระทั่งนึกเอะใจว่าคงจะเป็นเพราะมิได้บอกกล่าวเจ้าบ้าน และเพียงแต่คิดขอขมาในใจเท่านั้นอาการก็หายไป จากนั้นจึงส่งข่าวให้คนทางบ้านแต่งขันธ์ 5 ไปขอขมาที่หอเจ้าบ้านอีกทีหนึ่ง สำหรับความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ เช่น ลูกหลานที่เรียนจบมาจะไปสอบครูในวันพรุ่งนี้ ก่อนวันที่จะไปสอบ ก็เตรียมขันดอกไม้ ธูป เทียน พร้อมเงินตามกำลังศรัทธา 10 บาท 20 บาท ก็ได้ มาที่บ้านพ่อจ้ำ เพื่อให้พ่อจ้ำ พามาที่ศาลปู่ตา เพื่อบอกกล่าวให้ผีปู่ตาทราบว่าลูกหลานคนนี้เรียนจบมาแล้วกำลังจะไปสอบครู และขอให้ปู่ตาช่วยลูกหลานให้สอบได้ หรือไม่ว่าจะเป็นไปสอบเป็นตำรวจ ทหาร ถ้าสอบได้แล้ว ได้ทำงานทำการแล้วก็เตรียมของเซ่นไหว้ เช่น เหล้าขาว ไก่ต้ม เพื่อมาบอกกล่าวให้ปู่ตาทราบและปกปักรักษาให้ลูกหลาน ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันไม่ว่าในหมู่บ้านจะมีการทำงานบุญอะไร ใครจะไปไหน หรือเกิดอุบัติเหตุ อะไรก็ตาม ต้องมาครอบเจ้าบ้านทุกคน ผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อจะไปนอกหมู่บ้านจะมาครอบเจ้าบ้านและเอาดิน ที่หอเจ้าบ้านใส่ชายพกไปด้วย หรือขยี้ใส่ศีรษะเพื่อให้ท่านดูแลรักษาตลอดเวลาและเป็นสิริมงคลแก่ตัว

หอเจ้าบ้านหรือโฮงผีปู่ตาของบ้านโพนตั้งอยู่บนจอมปลวกใหญ่ในป่าละเมาะทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ 4 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งระยะทางไม่ห่างจากบ้านของพ่อจ้ำมากนัก โดยผู้นำของชุมชนจะเป็นผู้เลือกพื้นที่ในการตั้งศาลปู่ตา ถ้าหากได้มีการเลือกพื้นที่แล้วจะต้องทำสัญลักษณ์ในการแบ่งเขตพื้นที่ ห้ามให้คนอื่นมาจับจองหรือบุกรุกพื้นที่บริเวณนี้ เพื่อเป็นการสื่อให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ผู้คนไม่กล้ามาบุกรุก และทุกปีจะมีการเลี้ยงเจ้าบ้านที่หอเจ้าบ้าน ซึ่งจะร่วมกันทำพร้อมกันทั้งหมู่บ้านกำหนดเลี้ยงเจ้าบ้านจะทำในเดือน 6 และเดือน 12 คือ ก่อนดำนาและหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว ดังคำกล่าวที่ว่า “ขึ้นปลง ลงเลี้ยง” หมายความว่า เมื่อเอาข้าวขึ้นยุ้งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เลี้ยงลา ส่วนเมื่อจะลงนาก็ลี้ยงบอกกล่าว โดยชาวบ้านแต่งกายตามปกติมารวมกันในเวลา 7 โมงเช้า โดยพิธีจะเริ่มในเวลา 8 โมงเช้า หลังจากนั้นประมาณ 30 นาที ก็ทำพิธีลาข้าวของที่ชาวบ้าน นำมาเซ่นไหว้ เมื่อเสร็จพิธีแล้วชาวบ้านก็นำข้าวปลาอาหารนั้นมานั่งรับประทานร่วมกัน และหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวทำไร่ทำนาแล้วจะจัดพิธีเลี้ยงขึ้นในวัน 1 ค่ำ เดือน 12 หรือประเพณีบุญกองข้าว ซึ่งคนอีสานเรื่องว่า “ข้าวขึ้นนา ปลาขึ้นเล้า” ผู้ที่ดูแลรักษาหอเจ้าบ้านให้เรียบร้อยอยู่เสมอเรียกว่า “กวนบ้าน หรือกวนเจ้า” หน้าที่ประจำของกวนเจ้าคือ เป็นคนกลาง ติดต่อระหว่างเจ้าบ้านและชาวบ้าน ในปัจจุบันผู้ที่เป็นกวนบ้าน หรือ กวนเจ้า คือ พ่ออุ้ยตุ๊น (นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์: ผู้นำด้านศาสนาและพิธีกรรม, การประสานกระดูก, ผู้นำด้านวัฒนธรรม) เพราะชาวบ้านจะติดต่อกับเจ้าบ้านโดยตรงไม่ได้ การครอบเจ้าบ้านหรือการบอกกล่าวเจ้าบ้านนั้นมีเพียงการนำขันธ์ 5 ไปให้กวนเจ้า และกวนเจ้าจะบอกเจ้าบ้านว่าชาวบ้านต้องการอะไร หรือไปไหน เช่น “ลูกหลานมาหาหลักบ้าน มิ่งเมือง ขอเฮ้ออยู่ดีมีแฮง อย่าสู่พบอันหาญ อย่าสู่พานอันฮ้าย ไปดีๆ มาดีๆ เฮ้อกุ้ม เฮ้อกวม เฮ้อรักสมรักษา” และเมื่อทำการงานเสร็จสมประสงค์ หรือเมื่อกลับเข้า ในหมู่บ้าน ก็ต้องแต่งขันธ์ 5 ให้กวนเจ้าทำพิธีครอบเจ้าบ้านด้วย “กวนเจ้า” สมัยก่อนจะมีการทำพิธีที่เรียกว่า “ส่งแขก” หมายถึงการขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกไปจากหมู่บ้าน โดยการนำขันดอกไม้ ธูป เทียน ไปบอกกล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดโรคระบาดและขอให้ปู่ตาช่วยปกปักรักษาลูกหลาน ในหมู่บ้านให้อยู่รอดปลอดภัย

การเลี้ยงเจ้าบ้าน จะเลี้ยงปีละ 2 ครั้งนั้น กวนเจ้าจะเป็นผู้กำหนดเอาวันใดวันหนึ่งที่เหมาะสม ในเดือน 6 และเดือน 12 เมื่อกำหนดวันแล้วจะบอกกล่าวแก่ชาวบ้านเพื่อขอแผ่เงินครัวเรือนละ 2 บาท เพื่อนำมาซื้ออุปกรณ์และอาหาร ซึ่งจะมีขันธ์ 5 ขันธ์ 8 เหล้า 1 ขวด ไก่ 1 ตัว น้ำสะอาด 1 ขัน ข้าว 1 กระติบ คำหมาก บุหรี่ ในวันเลี้ยงเจ้าบ้านชาวบ้านจะมาร่วมงานหรือไม่ก็ได้ เพราะถือว่ากวนเจ้าเป็นตัวแทน และบางครัวเรือนอาจจะต้มไก่หรือทำอาหารมาสมทบอีกก็ได้ เมื่อเจ้าบ้านนำเครื่องเซ่นวางบนหอเจ้าบ้านและจุดธูปบอกกล่าวให้ท่านมากินแล้ว ทิ้งไว้สักครู่ก็นำลงมารับประทานร่วมกันกับคนที่ไปร่วมงาน เป็นเสร็จพิธี การเลี้ยงเจ้าบ้านหรือการครอบเจ้าบ้านก็ตามต้องทำในตอนเช้าหรือสายๆ หากเป็นตอนเย็นเจ้าบ้านจะไม่อยู่เพราะออกไปดูแลหมู่บ้าน

การเลี้ยงเจ้าบ้านมีจุดประสงค์เพื่อบอกกล่าวให้ท่านทราบว่า ถึงเวลาที่ชาวบ้านจะลงดำนา ขอให้ท่านช่วยดลบันดาลให้ผลผลิตดี ธรรมชาติอำนวยหรือเอาชนะภัย ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น และเลี้ยงขอบคุณเมื่อขนข้าวขึ้นยุ้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การนับถือเจ้าบ้านในสังคมชนบทยังคงเป็นไปอย่างมั่นคง เป็นหลักยึดมั่นให้ชาวบ้านประพฤติตนให้ถูกต้องตามประเพณี เพราะชาวบ้านเชื่อว่าหากใครประพฤติผิดจารีตผิดศีลธรรม เจ้าบ้านก็จะดลบันดาลให้มีอันเป็นไป เช่น เกิดโรคระบาดในหมู่บ้าน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประกอบการงานในไร่นาไม่เป็นผล


วัฒนธรรมชาวอีสานเป็นวัฒนธรรมที่อาศัยการมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องและผูกพันกับธรรมชาติ เพื่อเป็นที่พึ่งทางจิตใจผีผู้ให้คุณที่ชาวอีสานนับถือ อาทิ ผีบ้าน ผีเรือน ผีฟ้า และ "ผีปู่ตา” ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษที่มีความใกล้ชิด เมื่อชาวไทญ้อพยพมาอยู่บ้านโพน และมีการสร้างชุมชนขึ้นจึงมักมีการสร้างศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน โดยเลือกพื้นที่ที่มีบริเวณที่สูงน้ำท่วมไม่ถึง เรียกว่า "ดอน" โดยชาวไทญ้อเชื่อว่าผีปู่ตาจะคอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้าน เมื่อต้องทำกิจกรรมใดๆ หรือเดินทางไปนอกพื้นที่เพื่อทำงาน ก็มักจะมากราบไหว้ขอพรให้ผีปู่ตาคอยคุ้มครองดูแล ลูกหลานให้อยู่รอดปลอดภัย ด้วยความศักดิ์สิทธิ์นี้จึงทำให้คนในชุมชนให้ความเคารพและเชื่อกันว่าในเขตพื้นที่ดอนปู่ตา คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามทำการไม่ดีใดๆ เช่น การตัดต้นไม้ ทำลายป่า การพลอดรัก เป็นต้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรพึงกระทำ จะเห็นได้ว่าจากความเชื่อของคนในชุมชนนี้ ยังเป็นเสมือนกุศโลบายเพื่อการอนุรักษ์ป่าไม้ และให้คนในชุมชนมีความประพฤติ ปฎิบัติตนเป็นคนดี เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขด้วยนั่นเอง