วัดคามวาสี

รายละเอียด

  

วัดบ้านโพนมีชื่อทางการว่า “วัดคามสี” เป็นวัดมหานิกายที่อยู่ในเขตปกครองของคณะสงฆ์ ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ภาคการศึกษา 10 ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ ได้รับอนุญาตให้ตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2434 คือ เมื่อ 97 ปีมาแล้ว ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2510 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2512 และกระทรวงศึกษาธิการประกาศ ตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2513

วัดคามวาสี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธประทีป ที่ได้รับบรรจุพระสารีริกธาตุไว้ในพระเศียร พระคู่บ้านโพน ปัจจุบันพระครูอุดมกิจพิพัฒน์ (พูนทรัพย์ ทีฆายุโก น.อ.เอก) รองเจ้าคณะอำเภอท่าอุเทน

เจ้าคณะตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นเจ้าอาวาสวัดคามวาสี บ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ภายในวัดคามวาสีประกอบด้วยศาสนสถานและสถานที่สำคัญดังนี้ พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี บ้านโพน, หอระฆังโบราณ, เฮือนไทญ้อ, สิมโบราณ, ศาลาการเปรียญไม้เก่าแก่หลังใหม่, ต้นละมุดโบราณ 114 ปี, โฮงฮางฮด, หอแจกโบราณ (ศาลาการเปรียญ ก่ออิฐถือปูนหลังเก่า)

เมื่อแรกตั้งวัดนั้นทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นบ้านเรือนของราษฎร ทิศเหนือเป็นทุ่งนา และทิศใต้เป็นป่าคราม ปัจจุบันลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของบริเวณที่ตั้งวัดเป็นที่ราบ มีถนนรอบวัด การสัญจรไปมาสะดวกสบาย มีอาณาเขต ดังนี้

ทิศเหนือ จดถนนในหมู่บ้าน

ทิศใต้ จดถนนและรั้วโรงเรียนบ้านโพน

ทิศตะวันออก จดถนนและบ่อน้ำสาธารณะ

ทิศตะวันตก จดถนนในหมู่บ้าน

เมื่อตั้งวัดในครั้งแรกนั้นมิได้อยู่ในบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน แต่ตั้งอยู่เหนือวัดปัจจุบันขึ้นไปเล็กน้อย (บริเวณที่มีต้นโพธิ์ใหญ่ปัจจุบัน) แต่เนื่องจากเป็นที่ลุ่มทำให้เกิดน้ำท่วมขังในฤดูฝน เป็นโคลนตม ไม่สะดวกต่อการไปมา อีกประการหนึ่งเมื่อชาวบ้านจะไปตักน้ำจากบ่อน้ำสาธารณะ ก็จะต้องเดินผ่านเข้าไปในวัด ทะลุออกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดความพลุกพล่าน ไม่สงบเงียบสำหรับพระปฏิบัติธรรม และแม้กระทั้งตอนเย็นหรือตอนหัวค่ำ ชาวบ้านจะไปอาบน้ำที่บ่อน้ำสาธารณะกันก็นุ่งผ้ากระโจมอกเดินผ่านเข้าไปในวัดเช่นกัน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมต่อผู้บำเพ็ญสมณธรรม จึงได้มีการปรึกษากันเพื่อแก้ไขในที่สุดจึงได้ย้ายมาตั้งในที่ใหม่คือที่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดอนและมีถนนนอกวัดผ่านไปยังบ่อน้ำสาธารณะได้

เมื่อย้ายมาตั้งในที่วัดปัจจุบันนั้นเป็นเพียงกุฏิพระเล็กๆหลังเดียว ตามคำบอกเล่าของกวนบ้าน หรือ กวนเจ้า คือ พ่ออุ้ยตุ๋น (นายประนิตย์ วดีศิริศักดิ์: ผู้นำด้านศาสนาและพิธีกรรม, การประสานกระดูกผู้นำด้านวัฒนธรรม) ได้ความว่า หลวงพ่ออบ บุสุวะ เป็นผู้สร้าง ประมาณ 90 ปีล่วงมาแล้ว เป็นกุฏิพระแบบถาวร หลังคามุงกระดานไม้ เสาไม้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2500 ได้สร้างเป็นเสาปูน 2 ชั้น กว้าง 12 เมตร ยาว 15 เมตร หลังคามุงสังกะสี ฝากระดานไม้ตะเคียน โดยที่ชาวบ้านบริจาคทั้งแรงทรัพย์ และแรงกาย ผู้เป็นหลักในการดำเนินงาน คือ หลวงพ่อบล จันฒิโย เจ้าอาวาสวัดคามวาสีในขณะนั้น และปู่ตาพัน ซึ่งดำเนินงานสร้างในสมัยที่ นายอ่อน สุวรรณมาโจ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

ศาลาการเปรียญหลังแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.2501 เสาปูน หลังคามุงกระดานไม้ พื้นไม้ ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงเป็นพื้นคอนกรีต ฝาผนังก่ออิฐถือปูน จารึกรูปสัตว์ต่างๆรอบผนังหลังคาเปลี่ยนเป็นสังกะสี และปรับปรุงซ่อมแซมให้มีสภาพดีอยู่เสมอ

ศาลาการเปรียญหลังที่สอง สร้างเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2527 เสร็จเมื่อ พ.ศ. 2529 กว้าง 14 เมตร ยาว 16 เมตร เสาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงสังกะสียกพื้นสำหรับพระสงฆ์นั่ง 50 ซม. หน้าต่างมีเหล็กดัด ด้านหลังอาสนะของพระสงฆ์เจาะพนังเป็นช่องลม ศาลาการเปรียญหลังหลังที่สองนี้สร้างในสมัย นายวิวาห์ สารเอก เป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ใหญ่บ้านคนก่อนๆ รวมทั้งประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียงด้วยผู้เป็นหลักในการก่อสร้างในขณะนั้นคือ หลวงพ่ออุ่น ลวงไชย

โบสถ์หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสิมนั้น สร้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2510 และเสร็จเมื่อ พ.ศ.2515 โดยหลวงพ่อบล จันฒิโย เป็นผู้นำ ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในหมู่บ้าน หมู่บ้านใกล้เคียง และผู้ใหญ่บ้าน โบสถ์มีขานดกว้าง 6 เมตร 20 ซม. ยาว 12 เมตร 35 ซม. หลังคามุงกระเบื้อง พื้นปูกระเบื้องเคลือบ ฝาผนังก่ออิฐถือปูน ในโบสถ์เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธประทีป หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระประธาน หน้าตักกว้าง 3 ฟุต สูง 12 ฟุต เจ้าของผู้มอบถวายให้แก่วัดคือ คุณนายฉลวย เล็กประยูร ทั้งนี้โดยการนำของพระมหาอุดร ศรีมงคล และ พันโทสุพจน์ โพธสว่าง พระพุทธประทีปเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาก ด้วยเหตุที่มีความอัศจรรย์เกิดขึ้นในขณะที่หล่อพระและเททอง คือ นอกบริเวณวัดมีฝนตกฟ้าคะนองแต่ในวัดและบริเวณที่หล่อพระไม่มีฝนตกเลย





แรกเริ่มเดิมทีวัดคามวาสีเคยตั้งอยู่อีกที่หนึ่ง โดยอยู่ทางเหนือของสถานที่ตั้งวัด ณ ปัจจุบัน แต่เนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในฤดูฝน ต่อมาจึงได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อย้ายที่ตั้งวัดมายังพื้นที่ปัจจุบัน ซึ่งภายในวัดก็จะประกอบไปด้วยอุโบสถ หอกลองโบราณ เฮือนฮางฮด ศาลาการเปรียญ ถูกสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง โดยพระครูอุดมกิจพิพัฒน์ เจ้าอาวาสวัดคามวาสี เป็นผู้ออกแบบ เป็นทรงเรือนไทยสองชั้น ชั้นล่างเป็นเสาปูน ทั้งบนใช้ไม้ทั้งหลังในการสร้าง มีพื้นที่กว้างขวาง และระบายอากาศได้ดี โดยชาวบ้านโพนจะใช้ศาลาการเปรียญแห่งนี้ในการประกอบศาสนกิจต่างๆ นอกจากนี้ภายในวัดยังมีต้นละมุดโบราณ เฮือนไทญ้อโบราณจำลอง เพื่อให้เห็นรูปแบบเรือนไทญ้อบ้านโพนในอดีต ตลอดจนพัฒนาบริเวณวัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้