ตะเกียงโบราณ

รายละเอียด

  

ตะเกียงโบราณ ปรากฏในตู้เก็บวัตถุโบราณภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ วัดคามวาสี บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยชาวบ้านโพนได้นำมาถวายท่านเจ้าอาวาส วัดคามวาสีเพื่อจัดแสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นวิถีชีวิตของชาวไทญ้อบ้านโพนผ่านเครื่องมือและเครื่องใช้ ตะเกียงโบราณ เป็นอุปกรณ์ส่องสว่างในยามค่ำคืนให้กับชาวไทญ้อบ้านโพนในสมัยนั้น เนื่องด้วยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทั้งนี้ ตะเกียงโบราณ ที่ชาวไทญ้อบ้านโพนใช้มีหลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นแบบทองเหลืองครอบแก้วสูงยาวเพื่อให้เปลวไฟลุกตามหลอดแก้วใช้สำหรับครัวเรือนที่มีฐานะดีและข้าราชการใช้ในห้องเรือนและ ห้องทำงานช่วงกลางคืน และตะเกียงเจ้าพายุ ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงโดยการเป่าผ่านไส้ใยผ้า ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเคลือบด้วยเซรามิกประเภท แมกนีเซียมออกไซด์, ซีเรียมออกไซด์ และทอเรียม ออกไซด์ จะให้แสงได้ดีที่สุดทำให้ติดไฟได้ยาวนานและให้ความสว่างกว่าเปลวไฟจากน้ำมันถึง 6 เท่า ซึ่งตะเกียงมีส่วนประกอบของตะเกียง ดังนี้ 1. ก้านฝักบัวสำหรับเอาไว้ผูกไส้ตะเกียง, 2. เหล็กในหัวฉีดจ่ายน้ำมัน, 3. วาล์วควบคุมการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง, 4. ท่ออุ่นน้ำมันเพิ่มอุณหภูมิให้น้ำมันกลายเป็นไอ และ 5. ลูกสูบเพิ่มแรงดันของน้ำมันในถัง หากต้องการดับตะเกียง สามารถทำได้ 2 วิธีคือ (1) ปล่อยลมที่เป่าน้ำมันก๊าดออกด้วยการหมุนวาล์ว เมื่อไส้ไม่มีน้ำมันก๊าดที่ได้จากลมเป่าไส้ก็จะดับไปเอง และ (2) ทำการดับด้วยการหรี่ตะเกียง วิธีนี้ตะเกียง จะดับไปเองแต่ยังคงมีลมค้างอยู่ภายใน


ตะเกียงโบราณเป็นอุปกรณ์ให้แสงสว่างที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพื่อช่วยให้มองเห็นในยามค่ำคืน เป็นตะเกียงโบราณที่ถูกจัดเก็บและแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรมไทญ้อ ในวัดคามวาสี