ฮางฮด

รายละเอียด

  

ฮางฮด หรือโฮงฮด พุทธศิลป์ตั้งอยู่ในเรือนโฮงฮางฮด ภายในวัดคามวาสี ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดพนม มีจำนวน 2 ฮาง ประกอบด้วย ฮางฮดขนาดเล็ก และ ฮางฮดขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ขนานกัน โดยฮางฮดที่วัดคามวาสีทำเป็นรูปคล้ายเรือจำลองเป็นท่อนไม้ที่เซาะให้เป็นรางทั้ง 2 ฮาง สำหรับเอาน้ำรดให้ไหลลงไปตามรางและส่วนท้องค่อนไปทางหัวเจาะรูให้น้ำไหลลงสู่พระสงฆ์ที่นั่งอยู่ข้างล่างฮางฮด ฮางฮดขนาดเล็กเป็นฮางฮดดั้งเดิมแกะด้วยไม้และทาสีดำคล้ายลงลัก โดยฮางฮด ขนาดเล็กจะแกะสลักเป็นรูปมกรคล้ายนาค (มกร เป็นสัตว์ป่าหิมพานต์เชิงเขาพระสุเมรุ ลักษณะจะผสมกันระหว่างจระเข้กับพญานาค โดยมีลำตัวยาวเหยียดคล้ายกับพญานาคแต่มีขายื่นออกมาจากลำตัวและส่วนหัวที่คายพญานาคออกมาเป็นปากของจระเข้ ซึ่งมกรมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีมาแต่โบราณว่า “เหรา” (เห-รา) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือน อาจเกิดข้อสงสัยว่าเพราะเหตุใดที่วัดคามวาสี บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม จึงแกะสลักฮางฮดขนาดเล็กเป็นตัวมกรคายนาค อาจวิเคราะห์ในแง่ของประวัติศาสตร์ศิลป์ตามความเชื่อของคนอีสานโบราณ ได้ว่า “พญานาค” เปรียบเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าไทญ้อ ส่วน “มกร” แสดงออกถึง การหลุดพ้นจากออิทธิพลของงานศิลปะและการครอบงำจากการใช้อำนาจปกครอง ซึ่งจะแสดงถึงความเชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาของบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ที่อพยพย้ายถิ่นฐานจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาตั้งบ้านเรือนในภูมิสัณฐานบ้านโพนในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อว่าพญานาคเป็นเสมือนสายรุ้งหรือสะพานเชื่อมโยงโลกกับสรวงสวรรค์ที่จะดูดน้ำจากบนโลกขึ้นสู่สรวงสวรรค์แล้วหลั่งลงมาเป็นหยาดฝนแสดงความร่มเย็นเป็นสุขของ ชาวบ้านโพน ส่วนฮางฮดขนาดใหญ่ เป็นการแกะสลักด้วยไม้เช่นเดียวกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่าฮางฮดขนาดเล็กหลายเท่า และสร้างด้วยการประกอบชิ้นไม้แต่ละส่วนที่ผ่านการแกะสลักประกอบเป็นฮางฮดขนาดใหญ่ ซึ่งหากนักท่องเที่ยว/ผู้เยี่ยมเยือนสังเกต จะยังคงเป็นการแกะสลักเป็นรูปมกรคายนาคเช่นเดิม ซึ่งแสดงถึงการคงอยู่ของชนเผ่าไทญ้อในปัจจุบัน ทั้งนี้ ฮางฮดจะนำมาใช้ในพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ในการเลื่อนชั้นของพระสงฆ์ที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามกฎของเถรสมาคมสงฆ์ และในบุญเดือนห้า บุญสงกรานต์ ชาวบ้านโพนได้นำฮางฮดมาใช้ในการสรงน้ำพระพุทธรูปในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (บุญสงกรานต์) หรือเรียกว่า “บุญฮดสรง” เป็นการประกอบพิธีตามธรรมเนียมอีสานและเป็นมรดกอีสานที่ชาวบ้านโพนยังคงปฏิบัติเป็นอัตลักษณ์อันโดดเด่นมาจนกระทั่งปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมฮางฮดได้ในวัดคามวาสี บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม



เมื่อพูดถึงพิธีทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นพิธีสรงน้ำพระสงฆ์ในการเลื่อนชั้นของพระสงฆ์ ประเพณีบุญสงกรานต์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 หรือที่ชาวไทญ้อบ้านโพน จังหวัดนครพนม เรียกว่า “บุญฮดสรง” นั้น จะมีพิธีตามธรรมเนียมอีสานที่ยังคงไว้ซึ่งอัฒลักษณ์อันน่าสนใจ โดยการนำ “ฮางฮด” มาใช้ในการสรงน้ำพระพุทธรูป ในภาษาถิ่นทางอีสานนั้น จะไม่ออกเสียง “ร” แต่จะใช้เสียง “ฮ” แทน คำว่า “ฮางฮด” จึงหมายถึง “ฮาง” ที่แปลว่า “ราง” และ “ฮด” ที่หมายถึงกริยาการรดน้ำนั่นเอง เพราะฉะนั้นคำว่า “ฮางฮด” จึงหมายถึง รางที่ใช้สำหรับการรดน้ำ ซึ่งน้ำที่ถูดรดไปในรางก็จะไหลผ่านรูที่ได้เจาะไว้ลงสู่พระสงฆ์ที่นั่งอยู่ข้างล่างฮางฮด โดยฮางฮดที่กล่าวถึงนี้ตั้งอยู่ในเรือนโฮงฮางฮด (โรงรางรด) ภายในวัดคามวาสี ซึ่งเป็นวัดประจำบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดพนม ประกอบด้วยฮางฮด 2 ฮาง คือ ฮางฮดขนาดเล็ก และ ฮางฮดขนาดใหญ่ ตั้งขนานกัน มีลักษณะคล้ายเรือจำลองทำจากไม้เนื้อแข็งแกะสลัก เป็นรูปมกรคล้ายนาค และทาสีดำคล้ายลงลัก โดยตามความเชื่อของชาวอีสานนั้น “พญานาค” เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มเมือง หรือชนเผ่าไทญ้อ ส่วน “มกร” เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ในการหลุดพ้นจากอำนาจการโดนปกครอง เช่นเดียวกับการอพยพมาตั้งถิ่นฐานจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาตั้งบ้านเรือนในภูมิสัณฐานบ้านโพนในปัจจุบัน