ปศุสัตว์เลี้ยงกระบือ

รายละเอียด

  

ชาวไทญ้อบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ยังคงมีการสืบทอดการปศุสัตว์เลี้ยงกระบือ จากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านชาวบ้านทำนาเป็นอาชีพหลัก และเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ การติดต่อกับโลกภายนอกมีน้อยมากเพราะการคมนาคมยังไม่เจริญ การติดต่อกับโลกภายนอกมี่เพียงการเยี่ยมญาติพี่น้องต่างหมู่บ้าน และการหาบข้าวไปขายที่ตัวอำเภอหรือตัวจังหวัด เป็นครั้งคราวเท่านั้น นอกจากนั้นการที่จะออกจากหมู่บ้านก็ต้องเป็นการค้าทางไกล คือ ค้าวัวและค้าควาย โดยมีคำบอกเล่าจากปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่าสมัยก่อนบิดาได้ไปขายวัวควายที่ลาว เดินทางไปเป็นหมู่คณะ เลียบแม่น้ำโขงไปตามเส้นทางบ้านโพน-นครพนม ไปข้ามแม่น้ำโขงที่บ้านกลางปิ้งไก่ ให้คนนั่งเรือไป และจูงควายซึ่งว่ายน้ำตามเรือไป เริ่มออกเดินทางในเดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ และกลับมาในเดือน 9 ใช้เวลาถึง 6 เดือน ก่อนออกเดินทางก็จะมีการผูกข้อต่อแขนให้เป็นสิริมงคลแก่ตัว เมื่อกลับมาจะมาซื้อสิ่งของ โดยเฉพาะเสื้อผ้าที่นครพนมมาฝากคนทางบ้าน นอกจากจะมีการไปขายวัวควายที่ฝั่งลาวแล้ว ยังมีการไปซื้อวัวควายที่ฝั่งลาวมาขายฝั่งไทยด้วยเช่นกัน นอกจากเส้นทางการค้าขายระหว่างไทย-ลาวแล้ว ยังมีอีกเส้นทางหนึ่งที่คนรุ่นหนุ่มในสมัยนั้นมักจะไปกันคือ ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดฉะเชิงเทรา เส้นทางการเดินทางนั้น จะเริ่มออกจากบ้านโพนในเดือน 3 เช่นกัน เดินต้อนฝูงควายผ่านบ้านโพนสวรรค์-กุสุมาลย์-สกลนคร ขึ้นและลงเทือกเขาภูพาน-มหาสารคราม-กาฬสินธุ์-บ้านไผ่-สีคิ้ว-มวกเหล็ก-แก่งคอย-นครนายก-ปราจีนบุรี- ข้ามแม่น้ำท่าเกวียนถึงแปดริ้ว ขายอยู่ที่อำเภอพนัสนิคมจนกว่าจะหมด ส่วนเวลากลับนั้นขึ้นรถรับจ้างมาลงที่แปดริ้ว ขึ้นรถไฟไปลงที่หัวลำโพง จากหัวลำโพงขึ้นรถยนต์ไปอุดรธานี จากอุดรธานีนั่งรถสองแถวที่เป็น รถตัวถังไม้มาลงที่ศาลาโรงเรียนบ้านธาตุ แล้วเดินเท้ากลับไปยังบ้านโพน ใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน ต้องรีบเร่งกลับมาให้ทันทำนาในเดือนหก

และเมื่อมีถนนหลวงใช้สะดวกสบายขึ้น การค้าวัวควายก็เปลี่ยนแปลงไป คือ การขายควายก็ใช้วิธีเช่ารถบรรทุกเฉพาะขาไปเท่านั้น ขากลับจะขึ้นรถโดยสารกลับมา และในที่สุดก็เลิกไปเนื่องจากมีรถบรรทุกเข้ามาหาซื้อควายถึงในหมู่บ้านไม่ต้องไปขายเองอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อหมดฤดูทำนาจะมีรถเข้ามาซื้อวัวควายเกือบทุกวัน ทั้งนี้ปัจจุบันชุมชนไทญ้อบ้านโพนได้มีการจดทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคกระบือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนต่อยอดการปศุสัตว์เลี้ยงกระบืออย่างเป็นระบบ     







การเกษตรกรรมคืออาชีพหลักของคนไทยมาอย่างช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำยิ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเสริมให้ผลิตผลทางการเกษตรมีคุณภาพที่ดีด้วย “การปลูกข้าว” ก็คือสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน ดังที่เห็นในชุมชนบ้านโพนเองก็มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักควบคู่ไปกับการทำสวนทำไร่ และปศุสัตว์ ปศุสัตว์เลี้ยงกระบือ อีกหนึ่งอาชีพทางการเกษตรที่สำคัญอาชีพหนึ่ง เพราะนอกจากจะเลี้ยงเพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว และยังสามารถใช้แรงงานในการทำการเกษตร ใช้มูลนำมาเป็นปุ๋ยเพื่อบำรุงดิน เป็นการออมทรัพย์อีกหนึ่งวิธีด้วยเช่นกัน กระบือจึงถือเป็นสัตว์ที่มีคุณต่อคนในชุมชนและอยู่คู่กับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน