ปลูกข้าว

รายละเอียด

  

การปลูกข้าว เป็นอาชีพที่ชาวบ้านไทญ้อบ้านโพนยึดอาชีพการทำนามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ และนับว่าเป็นความโชคดีที่สภาพธรรมชาติอำนวย ฝนฟ้าตกเป็นปกติและเพียงพอต่อการผลิตข้าว แม้ว่า ในปัจจุบันฝนจะตกช้ากว่าสมัยก่อนก็ตาม ข้าวเกือบทั้งหมดที่ผลิตได้เป็นข้าวเหนียว มีบางส่วนซึ่งเป็น ส่วนเล็กน้อยที่ปลูกข้าวจ้าว, ข้าวไรซ์เบอร์รี่เนื่องจากขายได้ราคาดีกว่าข้าวเหนียว ดังนั้นชาวบ้านจะกันที่นาส่วนหนึ่งสำหรับปลูกข้าวจ้าว, ข้าวไรซ์เบอร์รี่ไว้ขาย การปลูกข้าวจะได้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 600 กิโลกรัม ซึ่งจะเพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัวตลอดทั้งปี และยังเหลือบ้างสำหรับขายเมื่อต้องการเงิน

ปัจจัยในการผลิตข้าวของชุมชนไทญ้อบ้านโพนที่สำคัญคือ ที่นา การทำนาในระยะแรกตั้งหมู่บ้านนั้น ทำกันทางทิศเหนือของหมู่บ้าน เนื่องจากตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนั้น และทางทิศเหนือของหมู่บ้านก็เป็น ที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการปลูกข้าวอย่างยิ่ง การจับจองที่ดินนั้นเมื่อแรกตั้งบ้านเรือนนั้นไม่มีปัญหาในการแก่งแย่ง เนื่องจากทุกแห่งอุดมสมบูรณ์เหมือนกันหมด ใครพอใจที่ตรงไหนก็เอาขวานไปถากต้นไม้บริเวณนั้นเป็นเครื่องหมายให้รู้กัน หากอยากจะเปลี่ยนที่นาไปอยู่ใกล้พี่น้องก็สามารถไปขอแลกกันได้โดยไม่มีราคาค่างวด หรืออาจจะให้ผ้าหาง (ผ้าโจงกระเบน) ผืนหนึ่งเป็นสินน้ำใจในการแลก หรืออาจจะขอกันเปล่าๆได้ ในปัจจุบันถึงแม้ที่นาจะมีราคาแต่การซื้อขายก็ยังน้อยมากเนื่องจากที่นาที่มีอยู่ต่างได้รับเป็นมรดกตกทอดกันมาถึง 5 ชั่วคนแล้ว หากไม่ทำนาก็ยกให้ญาติพี่น้องทำ แต่ที่นาก็ยังเป็นของตนอยู่ ปัจจุบันที่นาของหมู่บ้านจะล้อมรอบหมู่บ้านและไม่สามารถขยายออกไปอีก แต่ทำเลที่นาทางทิศเหนือและทิศตะวันออกจะเป็นนาลุ่ม ส่วนทางทิศตะวันตกและทิศใต้จะเป็นนาดอน

วิธีการทำนาของชาวบ้านไทญ้อบ้านโพน ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ตามแนวทาง การทำนาแบบเกษตรกรรมสมัยใหม่และเกษตรอินทรีย์ในบางครัวเรือน ตลอดจนมีการสร้างฝายน้ำล้น (Weir) ที่ห้วยตับแฮดจึงทำให้มีระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำเข้ามาช่วยเหลืออีกทาง

ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมดินในการทำนาตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง เดือนพฤษภาคม โดยการขนเอาปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ใต้ถุนบ้านและแกลบ ซึ่งเรียกกันว่า “ไปเส่อฝุ่น” หากในนายังมีต่อฟางหลงเหลืออยู่ก็จะนำมา ทำเป็นปุ๋ย รอให้ฝนตกลงมาชะปุ๋ยให้กระจายไปทั่วผืนนาในระหว่างนี้ก็เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา ให้พร้อม

ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมชาวบ้านจะตกกล้าเรียกว่า “ไปเอาตากล้า” โดยการแบ่งที่นาส่วนหนึ่งไว้สำหรับตกกล้า ไถพรวน คราด เก็บหญ้า ให้หน้าดินอยู่ในระดับเดียวกัน สำหรับที่นาที่เป็นนาโพน คือ นาดอน การตกกล้าจะใช้วิธีสูบน้ำใส่นาเพื่อจะได้ไถสะดวก ส่วนนาโพนที่อยู่ไกลแหล่งน้ำก็รอฝนตกก่อน เมื่อเตรียมดินเสร็จแล้วก็นำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาหว่าน ซึ่งได้คัดเลือกพันธุ์ไว้แล้วตั้งแต่ฤดูเก็บเกี่ยว พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกมีพันธุ์พื้นเมืองข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 (RD6) และ ข้าวเหนียวพันธุ์ กข.8 (RD8) สำหรับข้าวจ้าวจะเป็นพันธุ์ กข.5 (RD5) และมีการลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพิ่มเติมเข้ามา ก่อนที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์บางคนอาจใส่ปุ๋ยก่อน เมื่อหว่านปุ๋ยแล้วจึงเดินหว่านข้าวไปรอบๆคันนา ถ้าที่นากว้างก็ลงไปเดินหว่านในนาเลย อายุของต้นกล้า กว่าจะนำไปปักดำได้ก็ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน

ในช่วงรอต้นกล้าเจริญเติบโตชาวนาก็จะลงมือ “ไถฮุด” คือ ไถพรวนดินครั้งแรกเพื่อเตรียมปักดำ การไถฮุดจะทำให้ดินและปุ๋ยมูลสัตว์ที่ใส่ไว้คลุกเคล้ากันดี ทำให้ต้นหญ้าตายไม่ต้องเสียเวลาถอนเมื่อถึงเวลาดำนาและยังทำให้ดินร่วนง่ายต่อการปักดำอีกด้วย ระหว่างนี้ก็ปั้นคันนาด้วย

เมื่อต้นกล้ายาวประมาณ 1 ฟุตหรือกว่านั้นเล็กน้อย ก็จะถึงฤดูทำนาก่อนที่จะดำนาก็จะไถอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า “ไถโค้น” จากนั้นจึงถอนต้นกล้ามัดไว้เป็นมัดๆ ในตอนเย็น เตรียมสำหรับปักดำวันรุ่งขึ้น การปักดำต้นกล้าจะต้องทิ้งระยะห่างกันประมาณ 10 นิ้ว ก่อนที่จะกลับบ้านในแต่ละวันชาวบ้านจะถอนกล้าทิ้งไว้เตรียมสำหรับวันต่อไปภายในเวลา 2 ชั่วโมงจะถอนกล้าได้คนละประมาณ 50 มัด แต่บางครอบครัว อาจจะดำนาต่อหลังจากถอนกล้าแล้วก็ได้ เพราะมีแรงงานน้อยต้องรีบทำให้เสร็จ เรียกว่า “ดำนาแลง” การดำนาส่วนใหญ่จะดำนาน้ำที่เรียกว่า “นาร้อง” ก่อนแล้วจึงจะดำนาโพนทีหลัง

บางครั้งในระหว่างที่ยังดำนาไม่เสร็จ ฝนเกิดหยุดตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ดินแข็งดำนาไม่ได้ บางคนก็หยุดดำนาไว้ก่อน แต่บางคนจะรีบดำให้เสร็จก็จะใช้วิธี “สักหล่ม” คือ การใช้ไม้ยาวประมาณ 1-2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 นิ้ว เหลาปลายไม้ให้แหลมข้างหนึ่ง แล้วสักลงในดินให้เป็นรูลึกประมาณ 5-7 นิ้ว เวลาสักต้องสักถอยหลังและหันหน้าให้คนดำ คนดำนาก็ปักข้าวลงหลุมแล้วกลบดินตามไปจนเสร็จ

การเก็บเกี่ยว เมื่อถึงเดือน 11 จะเป็นระยะเวลาของการเก็บเกี่ยว ชาวนาจะเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเก็บเกี่ยวข้าว ได้แก่ เคียว ขาตั้ง ไม้คันหลาว (สำหรับหาบข้าวที่เกี่ยวแล้ว) ไม้นวดข้าว

ลานนวดข้าว และยุ้งข้าว ให้เรียบร้อย ซึ่งปัจจุบันชุมชนไทญ้อบ้านโพนยังมีการอนุรักษ์วิธีการนวดข้าวดั้งเดิมไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานมรดกการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากข้าวเอาไว้อย่างยั่งยืน





การเกษตรกรรมคืออาชีพหลักของคนไทยมาอย่างช้านาน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำยิ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเสริมให้ผลิตผลทางการเกษตรมีคุณภาพที่ดีด้วย “การปลูกข้าว” ก็คือสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ด้วยเช่นกัน ดังที่เห็นในชุมชนบ้านโพนเองก็มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักควบคู่ไปกับการทำสวนทำไร่ และปศุสัตว์