ชุดประจำชนเผ่าไทญ้อบ้านโพน (หญิง)

รายละเอียด

  

ชุดประจำชนเผ่าไทญ้อบ้านโพน (หญิง) เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนไทญ้อบ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งตามประเพณีและวัฒนธรรมเดิมของชาวไทญ้อทั้งชายและหญิงแต่งกายด้วยเสื่อผ้าสีดำ ซึ่งทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมด้วยน้ำคราม เรียกว่า “ผ้าย้อมหม้อ” (เหมือนกับผ้าหม้อฮ่อมของทางภาคเหนือ) ทุกวันนี้ในอำเภอท่าอุเทนยังมีการทำสวนคราม เพื่อทำน้ำครามกันอยู่บ้างบางแห่ง แต่ที่บ้านโพนซึ่งแต่เดิมเป็นบ่อครามนั้น ปัจจุบันไม่มีแล้วเนื่องจากถูกใช้พื้นที่เป็นบ้านเรือนราษฎรเมื่อประมาณเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา

ผู้หญิงชาวไทญ้อบ้านโพนจะนุ่งผ้าซิ่นผ้าฝ้ายย้อมน้ำคราม มีเชิง สวมเสื้อทรงกระบอกเช่นกัน หรือใช้ผ้าขาวม้าคาดเป็นผ้าแถบ แต่ในเวลามีเทศกาลหรืองานบุญ ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ หรือผ้าซิ่นยกไหมเงิน ไหมทองตามฐานะของแต่ละคน สวมเสื้อทรงกระบอกสีขาว ห่มผ่าเบี่ยง (ผ้าสะใบ) สีขาว เรื่องผ้าโจงกระเบนและผ้าซิ่นยกไหมเงินไหมทองนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่โบราณพิถีพิถันมาก ต้องขวนขวายหาไว้ให้ลูกหลานทุกคน

ปัจจุบันผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่อายุเกิน 60 ปี จะยังคงนุ่งผ้าซิ่นย้อมครามมีเชิงกันอยู่ แต่สำหรับ คนที่อายุต่ำกว่า 60 ปีถึงมานิยมนุ่งผ้าถุงสมัยใหม่ พิมพ์ลายดอกมีสีสันสวยงาม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ซิ่นเจ๊ก” เพราะมีความงดงามคงทนและสีสันสวยงามกว่า นอกจากนี้ปัจจุบันคนในชุมชนสวมเสื้อผ้าที่ซื้อได้ตามตลาดเพราะไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาในการเก็บฝ้าย เข็นฝ้าย ทอผ้า และตัดเย็บเอง



ชุดประจำชนเผ่าไทญ้อบ้านโพน (หญิง) แต่งกายชนเผ่าไทญ้อ ซึ่งเป็นผ้าฝ้ายย้อมสีครามเป็นลายผีเสื้อ ตามเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีความสวยงามและรักอิสระ ความสงบ เปรียบเสมือนชาวไทญ้อบ้านโพน ชุดประจำเผ่านี้จะใช้เป็นผ้าทอด้วยมือและตัดเย็บด้วยความละเอียดและปราณีต