ดอกไม้เพลิง

การเล่นดอกไม้เพลิงที่เป็นรูปแบบดังในปัจจุบันนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีตั้งแต่เมื่อใด แต่การเล่นเกี่ยวกับประกายไฟมีหลักฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สำหรับในไทยมีการเล่นไฟในพิธีกรรมต่าง ๆ ปรากฏหลักฐานตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ความว่า “ เมืองสุโขทัยนี้มีสีปากประตูหลวง เที่ยวย่อมคนเสียดกันเข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก " ต่อมาในสมัยอยุธยา การจุดดอกไม้ไฟได้เข้ามามีบทบาทในฐานะเครื่องสักการะบูชาทางศาสนาในพระราชพิธีหลวงทั้งที่เป็นงานสมโภชในโอกาสอันเป็นมงคลและในงานพระเมรุมาศ ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ อาทิงานพระเมรุมาศพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.๒๒๒๕ ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ต้นฉบับของบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ความว่า “…จึงเชิญพระบรมโกศเข้าประดิษฐานในพระเมรุทอง ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพสมโภช และดอกไม้เพลิงต่างๆ และทรงสดัปกรณ์ พระสงฆ์ ๑๐๐๐๐ รูป คำรบ ๗ วันแล้วถวายพระเพลิง” ดอกไม้เพลิงในสมัยนั้นน่าจะมีหลายประเภท แต่ที่นิยมคือ ระทา จุดมุ่งหมายของการเล่นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาเพราะถือกันว่าการจุดดอกไม้เพลิงนั้นเป็นการบูชาที่มีองค์ประกอบครบสมบูรณ์คือ มีแสงเป็นพุ่มดอกไม้แทนดอกไม้ มีควันแทนธูป และมีแสงแทนเทียน สิ่งที่จะได้นอกเหนือจากนี้ก็คือความเพลิดเพลินของคนดู และความยิ่งใหญ่ของงาน เพราะการจะตั้งระทาดอกไม้เพลิง แต่ละครั้งนั้นจะต้องใช้ทุน งานที่มีการจุดดอกไม้เพลิงจึงมักจะมีเฉพาะงานใหญ่ของผู้มีอำนาจวาสนา ในสมัยกรุงธนบุรี มีการจุดดอกไม้เพลิงในลักษณะเดียวกับช่วงกรุงศรีอยุธยา แต่มีการจุดดอกไม้เพลิงลดน้อยลงมาก เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจ จึงไม่เหมาะสมนักสำหรับการเล่นมหรสพและการจัดงานพระเมรุมาศตามแบบประเพณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การทำดอกไม้เพลิงและการเล่นดอกไม้เพลิงเพลิงในพระราชพิธีต่างได้รับการรักษาไว้ รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ กำหนดให้ชาวบ้านที่มีอาชีพทำดอกไม้ไฟออกมาตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนรวมกันออกนอกเขตพระนครบริเวณริมคลองโอ่งอ่างด้านหลังวัดสระเกศ จัดตั้งเป็นบ้านดอกไม้ เพื่อสืบทอดการทำดอกไม้เพลิงและป้องกันการเกิดอัคคีภัยไปในขณะเดียวกัน หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นภาพของการเล่นดอกไม้ไฟในสมัยรัชกาลที่ 1 ปรากฏขึ้นในรูปจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นภาพจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ตอนเผาศพอินทรชิต และตอนเผาศพทศกัณฑ์ แสดงให้เห็นลักษณะของต้นพเยียมาศและต้นองค์ไฟระทา ซึ่งได้มีการบูรณะต่อมาในภายหลัง หลักฐานที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักที่ทรงให้ผู้รู้บันทึกแบบธรรมเนียมต่าง ๆ ในราชสำนักอยุธยาไว้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติในส่วนที่บันทึกถึงกระบวนเสด็จพระพุทธบาทนั้นในตอนท้ายมีเรื่องเกี่ยวกับการจุดดอกไม้ไฟความว่า “อนึ่ง ดอกไม้เพลิง เครื่องเล่นทั้งปวง สำหรับสมโภชพระพุทธบาท (นั้น) เป็นพนักงานพันจันท์ได้กะเกณฑ์ตราว่ากล่าว” และตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีสิบสองเดือน ในเดือน ๑๑ และ ๑๒ มีพระราชพิธีลอยพระประทีปเดือน ๑๑ หรือลอยพระประทีบออกพรรษา และพระราชพิธีลอยพระประทีปเดือน ๑๒ ความว่า “ดอกไม้เพลิงระทาและพลุจีนนั้น เป็นพนักงานขุนแก้ว ขุนทอง (เป็นเจ้ากรมช่างดอกไม้ซ้ายขวา) ขึ้นแก่พันจันท์มหาดไทย” จะเห็นได้ว่าการเล่นดอกไม้เพลิงเป็นส่วนสำคัญในพระราชพิธีต่าง ๆ มีพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโดยเฉพาะ ได้แก่ตำแหน่งพันจันท์ ขุนแก้ว และขุนทอง สังกัดมหาดไทย ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ การจุดดอกไม้ไฟดูจะเป็นของที่จำเป็นและขาดไม่ได้ในงานพิธีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้จากบันทึกเกี่ยวกับการจุดดอกไม้เพลิงทั้งหลักฐานจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๒ และในช่วงรัชสมัยรัชกาลต่อ ๆ มาก็มีการเล่นดอกไม้เพลิงกันในพิธีต่าง ๆ เรื่อยมา หลังจากสมัยรัชกาลที่ ๕ การจุดดอกไม้ไฟในพระราชพิธีต่าง ๆ ก็สิ้นสุดลงเนื่องจากความจำเป็นของบ้านเมืองที่เจริญขึ้นพื้นที่ต่าง ๆ คับแคบลงไม่มีที่โล่งพอที่จะทำการจุดดอกไม้เพลิงได้อย่างปลอดภัย รัชกาลที่ ๖ จึงมีพระราชดำริที่จะงดการเล่นดอกไม้ไฟในพระราชพิธีดังปรากฏในระเบียบวาระเรื่องการทำพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพ ให้เลิกการฉลองต่าง ๆ คือ ดอกไม้เพลิงและการมหรสพต่าง ๆ และไม่ต้องมีการตั้งโรงครัวเลี้ยง บทบาทของการเล่นตอกไม้ไฟในพระราชพิธีก็เป็นอันสิ้นสุดลง ดอกไม้เพลิงย่านบ้านดอกไม้หลังวัดสระเกศ ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานี ณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ทรงพยายามที่จะสร้างบ้านเมืองให้สมบูรณ์เหมือนกับเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามากที่สุด เพื่อฟื้นฟูขวัญกำลังใจของประชาชน จึงทรงพระราชดำริสร้างพระบรมมหาราชวังและพระราชวังบวรสถานมงคลในฝั่งเดียวกับพระราชวังกรุงเก่าที่พระนครศรีอยุธยาสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ในพระบรมมหาราชวังทำนองเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์และสร้างวัดสุทัศน์เทพวรารามให้เหมือนพระวิหารวัดพนัญเชิง เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนที่ตั้งบ้านเรือนของประชาชน ทรงพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างบ้านเมือง ย่านชุมชนต่าง ๆ ให้เหมือนกับบ้านเมืองเก่า ผู้คนที่เคยประกอบอาชีพในย่านพระนครศรีอยุธยา เมื่อมาอยู่ในกรุงเทพมหานครแล้วให้รวมกันเข้าเป็นกลุ่มจัดสร้างหมู่บ้านของตนขึ้น ณ ภูมิประเทศที่พิจารณาแล้วว่าคล้ายคลึงกับภูมิประเทศในหมู่บ้านเดิมของตน และพยายามที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามหรือตลาดตลอดจนตั้งชื่อหมู่บ้านสถานที่เหล่านั้นให้ตรงกับชื่อเดิมในกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้สึกคุ้นเคยและอุ่นใจว่าบ้านเมืองได้กลับสู่ความสงบสุขอีกครั้ง จึงปรากฏชื่อหมู่บ้านต่าง ๆ มากมาย เช่นบ้านบุ บ้านช่างหล่อ บ้านขมิ้น บ้านบาตร บ้านหม้อ บ้านช่างทอง บ้านพานถม ในช่วงนี้บ้านดอกไม้ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีอาชีพทำดอกไม้เพลิงได้อยู่อาศัยซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านบาตรข้างวัดสระเกศ ติดกับคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นคลองรอบกรุงสายหนึ่งอยู่ภายนอกกำแพงพระนครเพื่อป้องกันการเกิดอัคคีภัย บ้านดอกไม้สมัยก่อนมีบ้านเรือนรวมกันอยู่ประมาณ ๒๐-๓๐ บ้านแล้วจึงค่อย ๆ ลดน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อการเล่นดอกไม้เพลิงเริ่มไม่เป็นที่นิยมตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเป็นต้นมา เนื่องจากเหตุผลทางด้านความปลอดภัยเพราะเขตของเมืองเริ่มขยายออกมาเรื่อย ๆ จึงไม่เป็นการปลอดภัยทั้งการตั้งร้านผลิตดอกไม้ไเพลิงถึงการเล่นดอกไม้เพลิงในเมืองที่มีบ้านเรือนหนาแน่นทำให้หลายครอบครัวเริ่มย้ายออกไปเรื่อย ๆ จนในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นที่บ้านดอกไม้ ทำให้ประชากรบ้านดอกไม้ที่มีอาชีพทำตอกไม้เพลิงและชายจริง ๆ เหลืออยู่เพียง ๖-๑๐ บ้าน และมีร้านดั้งเดิมเหลืออยู่เพียง ๒ ร้านคือ ร้านนายต่วนและร้านจ.ปานจินดา (ปัจจุบันดูแลกิจการโดยคุณบรรยง) และเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ขายเพียงอย่างเดียว ดอกไม้เพลิงที่ขายส่วนมากก็เป็นดอกไม้เพลิงวิทยาศาสตร์ที่ผลิตจากประเทศจีน ขายควบคู่ไปกับการขายไม้กลึง เพราะการยึดอาชีพขายดอกไม้เพลิงเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากใน ๑ ปี จะมีการจุดดอกไม้เพลิงเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น คือเทศกาลลอยกระทง กับเทศกาลปีใหม่ แต่ลูกหลานบ้านดอกไม้เหล่านี้ก็ยังคงยึดมั่นตามรอยวิชาชีพของบรรพบุรุษบ้านดอกไม้ โดยการหาดอกไม้เพลิงของไทยมาขาย ซึ่งต้องออกไปซื้อตามต่างจังหวัด เช่นสมุทรปราการ สระบุรี อยุธยา ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐมฉะเชิงเทรา และชลบุรี เป็นต้น โดยในปัจจุบันชุมชนบ้านดอกไม้ไม่มีการสานต่ออาชีพและองค์ความรู้ในการทำดอกไม้เพลิงหรือพลุไทยโบราณอยู่ เนื่องจากคนส่วนมากที่เคยทำอาชีพเดียวกันได้ย้ายถิ่นฐานออกไปและประกอบอาชีพอื่นๆ ทำให้องค์ความรู้นี่เริ่มหายไป แต่ในชุมชนก็ยังคงมีผู้ที่เคยประกอบอาชีพการทำดอกไม้ไฟอยู่ และเป็นผู้ให้ข้อมูลในการจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับดอกไม้เพลิงที่สำคัญนั่นเอง หากวันหนึ่งเมื่อไม่มีผู้จัดการองค์ความรู้เหล่านี้ ดอกไม้เพลิงในบ้านดอกไม้ คงเหลือแต่เพียงชื่อเหมือนย่านอื่น ๆ ในพระนคร องค์ความรู้ของดอกไม้เพลิงในทุกวันนี้ จึงรอคอยความหวังจากผู้ที่เห็นคุณค่า เพื่อช่วยกันสืบสานองค์ความรู้นี้ ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตให้คงอยู่สืบไป