เส้นทางท่องเที่ยว ::เส้นทางฝั่งธน


1. สะพานพระพุทธยอดฟ้า

ตำบลวังบูรพาภิรมย์ อำเภอพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2472 โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ให้กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังสร้างขึ้นเพื่อเป็นสะพานสัญจรข้ามแม่น้ำระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โดยสะพานพระพุทธยอดฟ้าถือเป็นสะพานแห่งที่ 2 ที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดจากสะพานพระราม 6 ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยราชกาลที่ 6 ในปัจจุบันสะพานพระพุทธได้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่างๆเพิ่มเติมเข้ามาเช่น ลานสาธารณะ ลานกีฬา เพื่อให้สาธารณะได้ใช้สอยได้มากขึ้น อีกทั้งในช่วงเวลากลางคืนสะพานพุทธจะมีตลาดอีกด้วย

2. วัดประดิษฐาราม (วัดมอญ)

ตำบลหิรัญรูจี อำเภอธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

วัดประดิษฐาราม หรือ วัดมอญ เป็นวัดที่สร้างในปี พ.ศ. 2293 เดิมทีเป็นวัดไทย มีกุฏิพระเป็นฝาไม้ไผ่ขัดแตะ ต่อมาเมื่อชาวมอญเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณและได้ทำนุบำรุงวัดจึงกลายเป็นวัดมอญในที่สุด เจ้าอาวาสองค์แรกของวัด ได้แก่ท่านเกษร เจ้าอาวาสองค์ต่อมาเป็นชาวมอญมีชื่อว่า หลวงปู่โต โดยชาวบ้านได้ไปนิมนต์ท่านมาจากบ้านบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาในราวต้นรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 ในการปลงศพหลวงปู่โต ทางราชการได้ส่งช่างสิบหมู่มาสร้างเมรุให้และมีการจุดลูกหนูด้วย วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2521

3. ศาลเจ้าเกียนอันเกง

ตำบลวัดกัลยา อำเภอธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร

ศาลเจ้าเกียนอันเกง หรือ ศาลเจ้าแม่กวนอิม เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของฝั่งธนบุรี ซึ่งอยู่บริเวณชุมชนกุฎีจีน โดยมีอายุมากกว่าร้อยปี กล่าวกันว่าศาลเจ้าเกียนอันเกงถูกสร้างขึ้นโดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพตามพระเจ้าตากสินมหาราชมา โดยแต่เดิมศาลเจ้ามีอยู่ด้วยกัน 2 หลังติดกัน คือ ศาลเจ้าโจวซือกงและ ศาลเจ้ากวนอู ต่อมาตัวศาลเจ้าเกิดทรุดโทรมลง จนในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชาวจีนฮกเกี้ยนกลุ่มหนึ่งได้เข้ามารื้อศาลทั้ง 2 ลง องค์ประธานทั้ง 2 ที่มีอยู่เดิมคือ เจ้าพ่อโจวซือกง และเจ้าพ่อกวนอู จึงถูกย้ายไปยังที่แห่งอื่น หลังจากนั้นจึงมีการสร้างศาลเจ้าขึ้นมาใหม่แต่แค่เพียงหลังเดียว ซึ่งก็คือศาลเจ้าในปัจจุบัน ซึ่งมีองค์ประธานหลักเป็นเจ้าแม่กวนอิมแทน ในปี พ.ศ. 2551 ศาลเจ้าได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ปัจจุบันศาลเจ้าอยู่ในความดูแลของตระกูล สิมะเสถียร หรือ แซ่ซิ้ม เดิมและ ตันติเวชกุล หรือ แซ่ตั้ง เดิม ซึ่งเป็นตระกูลที่เข้ามาก่อสร้างปรับปรุงให้กับศาลเจ้าตั้งแต่ครั้นรัชกาลที่ 3