เส้นทางท่องเที่ยว ::ถนนพระอาทิตย์


1. ชุมชนตรอกเขียนนิวาสน์-ไก่แจ้

ตำบลแขวงชนะสงคราม อำเภอเขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

"ตรอกเขียนนิวาสน์และตรอกไก่แจ้" คือสองซอยที่อยู่ไม่ไกลป้อมพระสุเมรุ เป็นเวิ้งที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ที่มีศาสตร์น่าสนใจคือการปักดิ้นเงินดิ้นทองประดับชุดโขน ละครรำไทย กว่าจะได้ผลงานสวยงามแต่ละชุด ผู้ลงมือปักต้องใช้ทั้งความเชี่ยวชาญ ความอดทน และความละเอียดรอบคอบในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกดิ้นสำหรับปัก จนถึงการปักเป็นลวดลาย โดยลายที่นูนขึ้นเรียกว่า "ลายหนุน" หรือ "ลายดิ้น" ส่วนลายเดินเส้นหรือปักทึบเรียกว่า "ลายเลื่อม" หรือ "ลายป่า" แม้ทุกวันนี้ช่างปักดิ้นเงินดิ้นทองหลงเหลืออยู่ไม่มากแล้ว แต่ก็ยังมีชาวชุมชนที่มีใจรักงานนี้ตั้งใจสืบทอดวิชาต่อไม่ให้เลือนหาย

2. พิพิธบางลำพู

ตำบลแขวงชนะสงคราม อำเภอเขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

พิพิธบางลำพู เป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมชุมชนตั้งอยู่ใกล้กับป้อมพระสุเมรุ ถนนพระสุเมรุ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกองส่งเสริมและพัฒนาทรัพย์สินมีค่าของรัฐ กรมธนารักษ์ พิพิธบางลำพูสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชนบางลำพูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ และเป็นศูนย์การเรียนรู้เชิงการศึกษาวัฒนธรรมชุมชนของชุมชนบางลำพู เปิดให้เข้าชมทุกวัน (หยุดเฉพาะวันจันทร์) วันอังคาร - วันศุกร์ เวลา 8.00 -16.00 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 10.00 18.00 น.

3. สวนสันติชัยปราการ

ตำบลแขวงชนะสงคราม อำเภอเขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

เป็นสวนสาธารณะที่อยู่ในชุมชนเมือง มีพื้นที่ประมาณ 8 ไร่เศษ เป็นที่ตั้งของป้อมพระสุเมรุ สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบของรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 โดยภายในบริเวณสวนมีพระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้ พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสวนสาธารณะที่มีทัศนียภาพของคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามมาก สวนสาธารณะสันติชัยปราการ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และโบราณสถาน เป็นนันทนสถานเอนกประสงค์ที่ได้ประโยชน์ใช้สอยทั้งด้านการพักผ่อนหย่อนใจ การศึกษา และการอนุรักษ์ ซึ่งนั่งก็คือ ป้อมพระสุเมรุ พื้นที่โดยรอยได้รับการออกแบบให้สามารถใช้เป็นที่ออกกำลังกายได้หลายประเภท เช่น การเต้นแอโรบิค รำมวยจีน สามารถเป็นสถานที่จัดงานของท้องถิ่นและรัฐบาล เช่น พิธีต้อนรับแขกจากต่างประเทศ รวมทั้งด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีลอยกระทง สงกรานต์ เป็นต้น ในบริเวณสวนแห่งนี้ยังมี “ต้นลำพู” ดั้งเดิมอันเป็นที่มาของชื่อ “บางลำพู” ต้นสุดท้ายที่ยังหลงเหลือไว้ให้ศึกษาอีกด้วย ที่อยู่มานานตั้งแต่ก่อนมีสร้างสวนและพระที่นั่งฯ แต่ทว่าในเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี พ.ศ. 2554 ต้นลำพูต้นนี้ได้ตายลง ทางกรุงเทพมหานครได้มาตัดทิ้งจนเหลือแต่ตอ