บวชต้นไม้

รายละเอียด

  

 “บวชต้นไม้” หรือ บวชป่า เป็นพิธีกรรมที่คิดริเริ่มขึ้นมา ไม่มีในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นกุศโลบายที่นำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม “บวช” แปลว่า การเว้น “การบวชคน” คือ การเว้นจากการทำความชั่ว ละทิ้งกิเลส อบายมุขทั้งปวง ดังนั้น “การบวชป่า” จึงหมายถึง การละเว้นจากการตัดไม้ทำลายป่า การบวชป่ามีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้คือ คนในชุมชนได้ตกลงร่วมกันที่จะกันพื้นที่สำหรับการบวชป่า ตลอดถึงการกันพื้นที่แนวเขต จำแนกพื้นที่ให้ชัดเจนว่าพื้นที่จะทำการบวชมีจำนวนกี่ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนและสถานที่ที่จะทำการบวชป่า ร่วมกันกำหนดระเบียบ กติกา การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และคัดเลือกคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ การประสานงานด้านศาสนพิธีทางสงฆ์และจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องอัฐบริขาร (เหมือนกับการบวชคน) การหาพันธุ์ไม้เพื่อนำไปปลูกเสริม การเชิญหมอสู่ขวัญมาเป็นเจ้าพิธีจัดเตรียมงานและทำพิธีกรรม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อความเชื่อของชาวบ้าน การนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป 7 รูป 9 รูป หรือมากกว่าก็ได้ เพื่อร่วมพิธี เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากและเชิญแขก เพื่อนบ้านที่อยู่รอบๆ ทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณและผู้นำที่มีบารมีที่ชาวบ้านเคารพนับถือมาร่วมเป็นเกียรติและเป็นสักขีพยานในการดูแลรักษาป่าชุมชน การเตรียมผ้าเหลือง ซึ่งอาจเป็นผ้าสบง จีวรเก่า ที่ไม่ใช้แล้ว นำมาผูกต้นไม้เพื่อเกิดความขลัง การนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นต้นไม้ประธานของป่า เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ความเคารพและความเกรงกลัว และสุดท้าย การกล่าวคำแผ่เมตตาหรือการประกาศสัจจะเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การบวชป่าสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละชุมชน ถือเป็นการร่วมแรงร่วมใจของภาคประชาชนที่มีความเชื่อหลากหลายและมีวัฒนธรรมที่แตกต่าง การบวชป่าจึงไม่ได้มีความหมายแค่การประกอบพิธีกรรมเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความผูกพันและการพึ่งพาอาศัยระหว่างคน ต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และส่งผลต่อชีวิตและระบบนิเวศคือ การเพิ่มอาหารให้ชุมชน เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การรักษาพันธุ์ไม้พื้นบ้าน พันธุ์ไม้ท้องถิ่น และเป็นการถ่ายทอดจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้สู่คนรุ่นใหม่ เป็นโอกาสที่สมาชิกในชุมชนทุกวัยได้มีโอกาสร่วมมือร่วมใจกันประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชน พิธีการบวชป่าของชุมชนถือเป็นรูปแบบหนึ่งในการจัดการป่าชุมชน ซึ่งเป็นการจัดการตามจารีตประเพณี กล่าวคือ มีการนำเอาอุดมการณ์ ความเชื่อ และวิธีคิดตามประเพณีมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของหมู่บ้าน เช่น ความเชื่อในเรื่องผี การยึดมั่นในวิธีคิดว่าด้วยสิทธิชุมชน สิทธิในการใช้ และสิทธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติ มีการประกอบพิธีกรรมและการผลิตซ้ำอุดมการณ์ที่ผสมผสานไปกับวิถีชีวิต ระบบการผลิตและการใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน เป็นรูปแบบการจัดการแบบประยุกต์ คือ เป็นการนำเอารูปแบบการจัดการมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการจัดการตามประเพณี เช่น การนิมนต์ พระสงฆ์มาทำพิธีบวชต้นไม้ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการรักษาป่าของชุมชนและเพื่อยับยั้งการลักลอบตัดไม้ เป็นต้น เป็นการนำเอารูปแบบการจัดการแบบเป็นทางการมาประยุกต์ใช้ เช่น มีการประชุมปรึกษาหารือและร่างระเบียบข้อบังคับในการใช้พื้นที่ป่าเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้องค์กรที่เป็นทางการ เช่น คณะกรรมการหมู่บ้านหรือสภาตำบลให้การรับรอง เป็นต้น เป็นการตอกย้ำความเชื่อและสำนึกต่อการอนุรักษ์ร่วมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายจากบ้านสุขสมบูรณ์



หมู่บ้านสุขสมบูรณ์มีกิจกรรม “บวชต้นไม้ บวชป่า” เป็นพิธีกรรมที่คิดริเริ่มขึ้นมา ไม่มีในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นกุศโลบายที่นำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม “บวช” แปลว่า การเว้น “การบวชคน” คือ การเว้นจากการทำความชั่ว ละทิ้งกิเลส อบายมุขทั้งปวง ดังนั้น “บวชต้นไม้ บวชป่า” จึงหมายถึง การละเว้นจากการตัดไม้ทำลายป่า มีขั้นตอนที่สำคัญดังนี้คือ คนในชุมชนได้ตกลงร่วมกันที่จะกันพื้นที่สำหรับการบวชป่า ตลอดถึงการกันพื้นที่แนวเขต จำแนกพื้นที่ให้ชัดเจนว่าพื้นที่จะทำการบวชมีจำนวนกี่ไร่ อยากให้หมู่บ้านนี้สุขและสมบูรณ์ตลอดไป ดังนั้นการดูแลรักษาต้นไม้ด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และได้เนินการอย่างต่อเนื่องจากหลายภาคส่วนในชุมชนบ้านสุขสมบูรณ์