คราดพลิกข้าว

บรรยายนำชม

“คราดพลิกข้าว” มีลักษณะทั่วไปประกอบด้วยด้ามไม้ยาวประมาณ 1.5 เมตร และ ซี่สำหรับใช้คราด ซึ่งตัวคราดนั้นจะทำด้วยไม้หรือคราดที่ทำด้วยเหล็ก โดยที่ใช้เพื่อทำการเกลี่ยและพลิกข้าวเปลือก ใช้ร่วมกับวิธีการลดความชื้นของข้าวเปลือกด้วยวิธีการตากแดด เนื่องจากข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้มานั้นจะมีความชื้นสูงมาก เมล็ดจะมีความชื้นประมาณ 20-25% เมื่อนำข้าวเปลือกมากองรวมกัน เนื่องจากเมล็ดมีการหายใจ จะทำให้กองข้าวมีอุณหภูมิสูงขึ้น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ต่างๆ มีผลทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ เช่น เกิดข้าวเน่า ข้าวบูด ข้าวเหลือง ข้าวมีคุณภาพการสีต่ำ เมล็ดพันธุ์เสื่อมความงอกเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวเปลือกที่แห้ง เมื่อนำไปตากเกษตรกรจะต้องพลิกกลับกองข้าวเปลือก เพื่อให้ข้าวที่อยู่ด้านล่างกลับขึ้นมาอยู่ด้านบน ชาวนาจะใช้ไม้คราดใช้เป็นเครื่องทุ่นแรงเพื่อพลิกข้าวเปลือก การตากข้าวมีจุดประสง์ให้ข้าวเปลือกให้มีความชื้นของเมล็ดประมาณ 13-15% ซึ่งวิธีการตากแดดนี้มีต้นทุนที่ไม่สูงทำให้เกษตรกรโดยส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้ในการลดความชื้นข้าวเปลือกโดยการตากแดดบนลานคอนกรีต ซึ่งหลักการนี้จำเป็นต้องอาศัยความร้อนที่เกิดขึ้นจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในการในความร้อนดังกล่าวเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำและความชื้นภายในข้าวเปลือกเกิดระเหยออกมา จากการนำข้าวเปลือกนั้นแผกระจายออกไป โดยให้มีความหนาของข้าวเปลือกที่สม่ำเสมอประมาณ 2-4 ซม ข้าวเปลือกที่ตากแดดจะต้องมีการพลิกกลับเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ข้าวทางด้านถูกแสงแดดเป็นเวลานานซึ่งเป็นผลทำให้ข้าวเกิดการแตกร้าวได้ การกลับข้าวสามารถทำได้โดยใช้คราดพลิกข้าวทำการกลับข้าวเปลือกในลานตากข้าวต่อไป