กระต่ายขูดมะพร้าว

บรรยายนำชม

ที่มาของชื่อ "กระต่ายขูดมะพร้าว " เด็กยุคใหม่คงสงสัยว่าทำไมถึงเรียกเจ้าเก้าอี้ที่ใช้นั่งขูดมะพร้าวว่ากระต่าย มาเจอกระต่ายขูดมะพร้าวโบราณอายุ 100 กว่าปีชิ้นนี้ คงจะถึงบางอ้อ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือสำหรับขูดมะพร้าว บริเวณโครงไม้ใช้สำหรับเสียบฟันขูดและใช้นั่งเวลาขูดมะพร้าว มีแผงฟันทำด้วยเหล็กเป็นซี่เล็ก ๆ คล้ายฟันเลื่อยยื่นออกมาจากปากเป็นที่ขูดมะพร้าว บริเวณโครงไม้ในสมัยโบราณนิยมทำเป็นรูปกระต่าย ต่อมาเริ่มมีการทำเป็นรูปสัตว์ชนิดอื่น ๆ เช่น แมว สุนัข นก หนู สิงห์ เต่า ตะกวด ตามแต่ความนิยมของผู้สร้าง หรือในบางครั้งก็มีการสร้างออกมาในรูปที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ทางเพศด้วยตามอารมณ์ขันของผู้สร้าง เนื่องจากคนขูดมะพร้าวมักจะเป็นผู้หญิง จึงเป็นการสร้างความขบขันให้แก่ผู้พบเห็น แต่ก็ยังคงนิยมเรียกว่ากระต่ายขูดมะพร้าวเนื่องจากแต่เดิมนั้นนิยมทำเป็นรูปกระต่ายและเรียกกันมาจนเคยชิน หรือส่วนฟันที่ใช้ขูดเนื้อมะพร้าวมีลักษณะเป็นซี่ยาวเหมือนฟันกระต่าย จึงยังคงเรียกกระต่ายขูดมะพร้าวเช่นเดิม ท่าทางขูดมะพร้าวของผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกัน โดยหากผู้ชายเป็นคนขูด มักจะนิยมนั่งคร่อมกระต่ายขูดมะพร้าว ในขณะที่ผู้หญิงจะนั่งไพล่หรือนั่งพับขาไปทางด้านใดด้านหนึ่งของกระต่ายขูดมะพร้าว วิธีการขูดมะพร้าวของชาวบ้านจะขูดเบา ๆ ไม่กดแรงเกินไป เพราะจะทำให้คั้นกะทิยาก หากขูดเบา ๆ แล้วเนื้อมะพร้าวจะเป็นฝอยละเอียด ทำให้คั้นน้ำกะทิได้ง่ายและได้ปริมาณมากกว่า ไม่นิยมขูดเนื้อมะพร้าวไว้ล่วงหน้านาน ๆ เพราะจะทำให้เนื้อมะพร้าวเหม็นบูด ดังนั้นการขูดมะพร้าวจะต้องขูดในระหว่างเตรียมอาหารขณะนั้นเท่านั้น การใช้กระต่ายขูดมะพร้าวในปัจจุบันค่อย ๆ ลดลงไป เนื่องจากมีเครื่องมือขูดมะพร้าวชนิดใช้มือหมุนและเครื่องยนต์เข้ามาแทนที่ หรือใช้กะทิสำเร็จรูปที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในการปรุงอาหารแทน ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ ศาลาหมอยา ณ บริษัท วังน้ําเขียวฟาร์มอินเตอร์ จํากัด ส่วนหนึ่งของความหลากหลายจากบ้านสุขสมบูรณ์